บาลีวันละคำ

โกลังโกละ (บาลีวันละคำ 4,410)

โกลังโกละ

พระโสดาบันประเภทหนึ่ง-เกิดอีก 2-3 ครั้ง

ในคัมภีร์แสดงไว้ว่า พระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน คือผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่พระนิพพาน มี 3 ประเภท คือ –

1. เอกพีชี เกิดอีกครั้งเดียว 

2. โกลังโกละ เกิดอีก 2-3 ครั้ง 

3. สัตตักขัตตุปรมะ เกิดอีก 7 ครั้งเป็นอย่างมาก

…………..

โกลังโกละ” เขียนแบบบาลีเป็น “โกลํโกล” (บางทีสะกดเป็น “โกลงฺโกล) อ่านว่า โก-ลัง-โก-ละ ประกอบด้วยคำว่า โกลํ + โกล

(๑) “โกลํ

อ่านว่า โก-ลัง แผลงมาจาก “กุลํ” รูปคำเดิมเป็น “กุล” อ่านว่า กุ-ละ รากศัพท์มาจาก กุลฺ (ธาตุ = ผูก, พัน, นับ) + ปัจจัย, ลบ

: กุลฺ + = กุลณ > กุล แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่เป็นเครื่องผูกพัน” “เชื้อสายที่ผูกพันกัน” “เชื้อสายอันเขานับรวมไว้” 

กุล” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง –

(1) ตระกูล, วงศ์, สกุลผู้ดี (clan, a high social grade, good family) 

(2) ครอบครัว, บ้าน, ประชาชน (household, house, people)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กุล ๑, กุล– : (คำนาม) ตระกูล, สกุล. (ป., ส.).”

กุล” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “กุลํ

(๒) “โกล

อ่านว่า โก-ละ แผลงมาจาก “กุล” คำเดียวกับ “กุลํ” ที่แสดงรากศัพท์แล้วข้างต้น

กุลํ + กุล แผลง อุ ที่ กุ– เป็น โอ

: กุลํ + กุล = กุลํกุล > โกลํโกล ใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า “ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล

อีกนัยหนึ่ง “โกลํโกล” รูปคำเดิมมาจาก กุล (ตระกูลน้อย) + อกุล (ตระกูลใหญ่) แผลง อุ ที่ กุ– เป็น โอ, ลบสระหน้า คือ อา ที่ กุลา– แล้วลงนิคหิตอาคม

: กุล + อกุล = กุลากุล > กุลํกุล > โกลํโกล ใช้เป็นคุณศัพท์ แปลว่า “ผู้ไปสู่ตระกูลน้อยตระกูลใหญ่” 

โกลํโกล” หมายถึง พระโสดาบันที่เกิดอีกตั้งแต่ 2 ครั้ง ถึง 6 ครั้ง จึงได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

โกลํโกล” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โกลังโกละ” 

ขยายความ :

ท่านแสดงบทวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของคำว่า “โกลังโกละ” (โกลํโกลโกลงฺโกล) ไว้ว่า –

…………..

กุลโต  กุลํ  คจฺฉตีติ  โกลงฺโกโล  ฯ 

ผู้ใดย่อมไปจากตระกูลสู่ตระกูล ดังนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า “โกลังโกละ” = ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล 

ที่มา: ปรมัตถมัญชุสา (มหาฎีกาของคัมภีร์วิสุทธิมรรค) ภาค 3 หน้า 654

…………..

โกลํโกโลติ  กุลากุลํ  คมนโก  ฯ

ผู้ไปสู่ตระกูลน้อยตระกูลใหญ่ ชื่อว่า “โกลังโกละ

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 360

…………..

มีพระพุทธพจน์แสดงลักณะของพระโสดาบันประเภท “โกลังโกละ” ไว้ดังนี้ –

…………..

โส  ติณฺณํ  สญฺโญชนานํ  ปริกฺขยา  โกลํโกโล  โหติ  เทฺว  วา  ตีณิ  วา  กุลานิ  สนฺธาวิตฺวา  สํสริตฺวา  ทุกฺขสฺสนฺตํ  กโรติ

เพราะสิ้นสังโยชน์ 3 ภิกษุนั้นเป็นโกลังโกละ เวียนว่ายตายเกิดไป 2 หรือ 3 ชาติ ก็ทำที่สุดทุกข์ได้

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 527

…………..

พระพุทธพจน์นี้ อรรถกถาไขความว่า คำว่า “กุล” หมายถึง “ภพ” คือการเกิด ดังนั้น ที่แปลว่า “ผู้ไปสู่ตระกูลน้อยตระกูลใหญ่” หรือ “ผู้ไปจากตระกูลสู่ตระกูล” จึงหมายถึง ผู้เกิดในภพน้อยภพใหญ่ จากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น จากภพนั้นไปเกิดในภพโน้น คือ ชาตินี้เกิดเป็นคนนี้ ชาติต่อไปเกิดเป็นคนโน้น เกิดไปเรื่อย ๆ แบบนี้แหละคือ “โกลังโกละ”

แต่อรรถกถาก็ขมวดไว้ว่า ที่ว่า “เวียนว่ายตายเกิดไป 2 หรือ 3 ชาติ” (เทฺว  วา  ตีณิ  วา  กุลานิ  สนฺธาวิตฺวา  สํสริตฺวา) ไม่ใช่หมายความตามตัวว่า “2 หรือ 3 ชาติ” เท่านั้น อาจจะเป็น 4 ชาติ 5 ชาติ หรือ 6 ชาติก็ได้ เกิดอยู่ในระหว่าง 2 ถึง 6 ชาติ ไม่เกินไปจากนี้ เรียกว่า “โกลังโกละ” ทั้งหมด

เหตุที่ต้องไม่เกิน 6 ชาติ ก็เพราะถ้าถึงชาติที่ 7 ก็จะไปเข้าลักษณะของพระโสดาบันประเภท “สัตตักขัตตุปรมะ” ผู้เกิดอีก 7 ครั้งเป็นอย่างมาก (ดู มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 360) 

อนึ่ง คัมภีร์ขยายความไว้ด้วยว่า พระโสดาบันประเภท “โกลังโกละ” นั้น แม้เกิดอีกหลายครั้งก็จะไม่เกิดในตระกูลที่ต่ำต้อยยากจน แต่จะเกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่งทุกครั้งไป (ดู ปรมัตถมัญชุสา ภาค 3 หน้า 654)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปฏิบัติให้ถูกแบบแยบยล

: ไม่ว่ารวยหรือจนบรรลุธรรมได้เท่าเทียมกัน

#บาลีวันละคำ (4,410)

9-7-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *