บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๑)

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๓)

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๓)

——————-

ยังไปไม่ถึงข้อความตามป้ายประกาศ ที่ผมบอกว่านี้มีข้อผิดพลาด ๒ แห่ง 

ขออนุญาตแวะข้างทางอีกหน่อย

จับเข่าคุยกันให้เคลียร์อีกนิด 

………..

ตอนก่อน ผมอ้างถึงพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไม่ให้ใส่ใจคำด่า (น ปเรสํ วิโลมานิ …) 

พุทธภาษิตบทนั้นควรศึกษาควบคู่ไปกับพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งที่ตรัสสอนให้ใส่ใจคำเตือน

โปรดสดับ –

………..

นิธีนํว  ปวตฺตารํ

ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ

ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส

เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

แปลเป็นไทยว่า – 

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่มขี่ มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ 

หามีโทษที่เลวทรามไม่

ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

………..

“จับผิด” = คำด่า ท่านไม่ให้ใส่ใจ

“ชี้โทษ” = คำเตือน ท่านให้น้อมรับ 

ในคัมภีร์อรรถกถา (ธัมมปทัฏฐถกถา ภาค ๔ เรื่องที่ ๖๐ ราธเถรวตฺถุ) เล่าเรื่องพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อราธะ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่ออายุมากแล้ว พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ 

พระสารีบุตรจะอบรมสั่งสอนดุด่าว่ากล่าวอะไร ท่านก็น้อมรับด้วยความเต็มใจ ไม่มีทิฐิมานะว่าตนมีวัยสูงกว่า ถูกเด็กคราวลูกคราวหลานมาสั่งสอน

ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นที่มาแห่งพุทธภาษิตบทนี้

ในคำอธิบายพุทธภาษิตบทนี้ท่านกล่าวถึงพระภิกษุที่เป็นพระอุปัชฌาย์ไม่อบรมสั่งสอนภิกษุที่เป็นศิษย์

ภิกษุที่เป็นศิษย์ประพฤติผิดพระธรรมวินัย หรือทำอะไรไม่ถูกไม่ควรอย่างไร ก็ไม่ว่าไม่กล่าว เพราะกลัวศิษย์จะโกรธบ้าง กลัวศิษย์จะไม่รักบ้าง และเพราะกลัวศิษย์จะไม่อำนวยประโยชน์ให้ตนบ้าง

ท่านบอกว่าพระอุปัชฌาย์ชนิดนี้เปรียบเหมือนผู้เอาขยะมาเทไว้ในพระศาสนา

ในการอยู่รวมกันเป็นสังคมก็มีคติอย่างเดียวกัน 

รู้เห็นว่าใครทำอะไรผิดแล้วปล่อยปละละเลย อ้างว่าไม่ใช่ธุระของเรา ซ้ำอ้างว่าพระพุทธศาสนาสอนไม่ให้มองหาความผิดของคนอื่น 

ยังมีภาษิตไทยให้ยกมาสนับสนุนได้อีก —

อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยน

อย่าเอามือไปซุกหีบ 

เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง …

เห็นอะไรไม่ถูก และทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า-มันไม่ถูก

ทั้งตัวเองก็พอมีศักยภาพที่จะช่วยกันคิดอ่านแก้ไข 

แต่-เรื่องอะไรจะแก้ให้โง่ 

เหตุผลยอดนิยมที่ชอบยกมาอ้างเพื่อสยบฝ่ายตรงข้ามก็คือ – 

เข้าไปเล่นเรื่องนี้แล้วถ้าข้าพเจ้าเป็นอะไรไป ใครจะรับผิดชอบ 

เรียกร้องค่าตอบแทนทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือ

เจริญเถิด

เราก็เลยพากันเพิกเฉยหมดทุกเรื่อง

เท่ากับช่วยกันทิ้งขยะให้รกสังคมนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนชี้โทษเหมือนคนบอกขุมทรัพย์

การทำหน้าที่ชี้โทษจึงไม่ใช่เรื่องชั่วช้าเลวทราม

แต่ต้องทำด้วยกุศลจิต คือทำด้วยเจตนาจะให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าผิดอย่างไร ที่ถูกเป็นอย่างไร เพื่อเป็นทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้ทำเช่นนั้นอีก

ที่เราพลาดกันมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฟังคำเตือนเป็นคำด่า 

เด็กบอกว่า ลุง ลืมรูดซิป 

ฟังเป็นว่า ลุงนี่โง่ชิบ.. 

มันด่าเรานี่หว่า – ก็เลยเดินเป็นนักเลง ลืมรูดซิปกางเกงไปทั่วบ้านทั่วเมือง 

จับผิด-ชี้โทษ เคลียร์นะครับ

…………………

มาถึงเป้าหมายเสียที

ข้อความตามป้ายประกาศ ที่ผมบอกว่านี้มีข้อผิดพลาด ๒ แห่ง คือตรงไหน และผิดอย่างไร

ทบทวนกันอีกรอบ —

……………………….

ประกาศปิดการจราจร

การรถไฟ จะปิดถนนลอดทางรถไฟเพื่อก่อสร้างโครงสร้างสะพานรถไฟ

ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 

ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป 

ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางอื่นในวันดังกล่าว 

ขออภัยในความไม่สะดวก

……………………….

ข้อผิดพลาดแห่งที่ ๑ – ใช้คำว่า “เป็นต้นไป” ผิดที่

ถ้าจะใช้คำว่า “เป็นต้นไป” 

(๑) คำนี้จะต้องอยู่หลังวัน-เวลาเริ่มต้น 

(๒) ใช้ในกรณีที่ไม่มีกำนดวัน-เวลาสิ้นสุดที่แน่นอน 

เช่น – “ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จนกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จ” หรือจะต่อท้ายด้วยประมาณการว่ากี่เดือนกี่ปีก็ว่าไป 

ในที่นี้มีกำหนดวัน-เวลาสิ้นสุดแน่นอนแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “เป็นต้นไป”

บอกไปชัดๆ ได้เลย – “ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564” – จบแค่นี้ ไม่ต้องมี “เป็นต้นไป” มาต่อท้าย 

ก็เมื่อบอกว่า “ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564” ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแล้ว หมดวัน-เวลาที่กำหนดแล้ว จะเอาวัน-เวลาที่ไหนมา “เป็นต้นไป” อีกเล่า?

ข้อผิดพลาดแห่งที่ ๒ ขอยกไปพูดในตอนต่อไปครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๐:๑๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *