บุพเพกตวาท (บาลีวันละคำ 2,803)
บุพเพกตวาท
ลัทธิกรรมเก่า-หนึ่งในความเชื่อของมนุษย์
อ่านว่า บุบ-เพ-กะ-ตะ-วาด
แยกคำเป็น บุพเพ + กต + วาท
(๑) “บุพเพ”
บาลีเป็น “ปุพฺเพ” (คำไทย บุ– บ ใบไม้ คำบาลี ปุ– ป ปลา) อ่านว่า ปุบ-เพ รูปคำเดิมเป็น “ปุพฺพ” (ปุบ-พะ) รากศัพท์มาจาก ปุพฺพฺ (ธาตุ = เต็ม) + อ ปัจจัย
: ปุพฺพฺ + อ = ปุพฺพฺ แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนที่เต็ม” หมายถึง อดีต, แต่ก่อน, ก่อน (previous, former, before)
“ปุพฺพ” แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “ปุพฺเพ”
(๒) “กต”
บาลีอ่านว่า กะ-ตะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + ต ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (กรฺ > ก)
: กรฺ + ต = กรต > กต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขากระทำแล้ว”
“กต” เป็นรูปคำกริยากิตก์ และใช้เป็นคุณศัพท์ด้วย หมายถึง ทำ, ประกอบ, สร้างแล้ว, สำเร็จแล้ว (done, worked, made)
(๓) “วาท”
บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
ในที่นี้ “วาท” มีความหมายตามข้อ (4)
การประสมคำ :
๑ ปุพฺเพ + กต ตามกฎทั่วไป เมื่อสมาสกันให้ลบวิภัตติออก คือ “ปุพฺเพ” คืนรูปเป็น “ปุพฺพ” แต่ในที่นี้คงวิภัตติไว้
: ปุพฺเพ + กต = ปุพฺเพกต (ปุบ-เพ-กะ-ตะ) แปลว่า “กรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ” (deeds done in a past life)
๒ : ปุพฺเพกต + วาท = ปุพฺเพกตวาท (ปุบ-เพ-กะ-ตะ-วา-ทะ) แปลว่า “ลัทธิที่เชื่อว่าผลทุกอย่างที่มนุษย์ได้รับในชาตินี้เกิดจากกรรมที่ทำไว้ในอดีตชาติ”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [101] ขยายความไว้ดังนี้ –
ปุพเพกตเหตุวาท : ลัทธิกรรมเก่า คือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน (Pubbekatavāda: a determinist theory that whatever is experienced is due to past actions; pastaction determinism) เรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมยังบอกด้วยว่า “บุพเพกตวาท” เป็นหนึ่งในลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 ลัทธิ ที่บาลีเรียกว่า “ติตถายตนะ” แปลว่า แดนเกิดลัทธิ, ชุมนุมหรือประมวลแห่งลัทธิ (Titthāyatana: beliefs of other sects; grounds of sectarian tenets; spheres of wrong views; non-Buddhist beliefs)
ลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 ลัทธิดังกล่าวนี้ คือ –
1. ปุพเพกตเหตุวาท ลัทธิกรรมเก่า เรียกสั้นๆ ว่า บุพเพกตวาท
2. อิสสรนิมมานเหตุวาท ลัทธิพระเป็นเจ้าบันดาล เรียกสั้นๆ ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
3. อเหตุอปัจจัยวาท ลัทธิเสี่ยงโชค เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท
สรุปแนวคิดของ “บุพเพกตวาท” ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ถ้าใครไปฆ่าใครสักคน ก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ฆ่า แต่เป็นความผิดของผู้ถูกฆ่าเองที่เคยทำกรรมไว้ในอดีตชาติส่งผลให้เขามาถูกฆ่าในชาตินี้
ฝ่ายผู้ฆ่า ถ้าถูกใครฆ่าอีกต่อหนึ่งก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ที่มาฆ่า ด้วยหลักเหตุผลแบบเดียวกัน
โปรดอย่าลืมว่า นี่เป็นแนวคิดของลัทธินอกพระพุทธศาสนา
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแปลชื่อลัทธิทั้ง 3 เป็นไทยดังนี้ –
1. ปุพเพกตเหตุวาท หรือ “บุพเพกตวาท” = ลัทธิกรรมเก่า
2. อิสสรนิมมานเหตุวาท หรือ “อิศวรนิรมิตวาท” = ลัทธิพระเจ้าบันดาล
3. อเหตุอปัจจัยวาท หรือ “อเหตุวาท” = ลัทธิหาตัวการไม่ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กรรมเก่าเราทำไว้
แต่กรรมใหม่ใครทำเรา?
: ยอมให้กรรมมันทำเอา-ทำเอา
แล้วตัวเราเมื่อไรจะทำ?
#บาลีวันละคำ (2,803)
14-2-63