บาลีวันละคำ

นิทฺเทส (บาลีวันละคำ 253)

นิทฺเทส

อ่านว่า นิด-เท-สะ

ประกอบด้วย นิ + เทส ซ้อน ทฺ = นิทฺเทส คำนี้สันสกฤตเป็น “นิรฺเทศ” ภาษาไทยใช้ว่า “นิเทศ” อ่านว่า นิ-เทด

“นิทฺเทส – นิเทศ” แปลว่า การชี้แจ้ง, การแสดงออก, การจำแนกออกพรรณนา, การแนะนำ, แสดงให้เห็นความแตกต่าง, อธิบาย, ระบุ, กำหนด, หมายถึง

“นิเทศ” ที่คุ้นกันในคำไทย ก็เช่น

– “ปฐมนิเทศ” = การแนะนําชี้แนวในเบื้องต้นเพื่อการศึกษา การทํางาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ

– “ปัจฉิมนิเทศ” = การแนะนําชี้แนวก่อนจบการศึกษา หรือก่อนปิดกิจกรรม

– “นิเทศศาสตร” = วิชาว่าด้วยการสื่อสารมวลชน และการประชาสัมพันธ์ (ใช้ตามคำอังกฤษว่า Communication Arts)

“นิเทศ” เป็นอาการนาม ถ้าหมายถึงตัวบุคคลเขียนว่า “นิทฺเทสก” (นิด-เท-สะกะ) เขียนแบบไทยว่า “นิเทศก์” แปลว่า “ผู้ชี้แจง” เช่นคำว่า “ศึกษานิเทศก์” = ผู้ชี้แจงแนะนําทางการศึกษาแก่ครูอาจารย์ในโรงเรียนหรือวิทยาลัย

“นิเทศ” ความหมายคล้ายกับ “เทศน์” (เทสนา =เทศนา = เทศน์) แต่ “เทศน์” ใช้เฉพาะการแสดงธรรม “นิเทศ” ใช้ในการแสดงเรื่องทั้วไป

: ถ้านิเทศเรื่องเทศน์เสียก่อน ก็จะสามารถเทศน์เรื่องนิเทศได้ดี

บาลีวันละคำ (253)

17-1-56

ปฐมนิเทศ

 [ปะถมมะ-, ปะถม-] น. การแนะนําชี้แนวเพื่อการศึกษาและการทํางานในเบื้องต้น.

นิเทศศาสตร์

นิเทศน์/นิเทศก์

นิทฺทิสติ = นิทฺเทส (บาลี-อังกฤษ)

แสดงให้เห็นความแตกต่าง, ชี้แจง, อธิบาย, ระบุ, กำหนด, แสดงออก, หมายถึง

นิทฺเทส ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การชี้แจ้ง, การแสดงออก, การจำแนกออกพรรณนา, การแนะนำ.

นิทเทส (ประมวลศัพท์)

คำแสดง, คำจำแนกอธิบาย, คำไขความ (พจนานุกรม เขียน นิเทศ)

ปฏินิทฺเทส ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

การกลับชี้แจง, การวกกลับมาอธิบายเรื่องใหม่อีก.

อุทฺเทส ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อุเทศ, การยกขึ้นแสดง; การจัดรวมไว้เป็นข้อๆ; การสวด.

นิเทศ

 (แบบ) น. คําแสดง, คําจําแนกออก.ก. ชี้แจง, แสดง, จําแนก. (ป. นิทฺเทส; ส. นิรฺเทศ).

นิเทศศาสตร์

 [นิเทดสาด] น. วิชาว่าด้วยการสื่อสารมวลชน และการประชาสัมพันธ์.

ศึกษานิเทศก์

น. ผู้ชี้แจงแนะนําทางการศึกษาแก่ครูอาจารย์ในโรงเรียนหรือวิทยาลัย.

นิเทศศาสตร์ (อังกฤษ: Communication Arts) หมายถึง ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะในการสื่อสาร โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสาร จากองค์ประกอบของการสื่อสาร กล่าวคือ ผู้ส่งสาร สาร สื่อ และผู้รับสาร ซึ่งผู้ส่งสารอาจเป็นตัวบุคคล องค์กร หรือบริษัทก็ได้ ข่าวสารจะต้องเป็นเนื้อหาสาระที่ผู้ส่งต้องการที่จะกระจายให้ประชาชนได้รับทราบ สื่อหรือช่องทาง เป็นการหาวิธีการกระจายข่าวสารต่างๆ ไปสู่กลุ่มเป้าหมายให้ได้มาก และกว้างไกล ตามวัตถุประสงค์ของผู้ส่ง และผู้รับสาร หรือกลุ่มป้าหมาย จะต้องสามารถรับข่าวสารนั้นได้ โดยผู้ส่งสารจะต้องหาวิธีการทำให้ข่าวสารที่ส่งไป ถึงผู้รับสารได้มากที่สุด

พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประทานความหมายของ “นิเทศศาสตร์” ไว้ว่า “เป็นวิชาสื่อสารไปยังมวลชนโดยทางใดก็ตาม ไม่จำเพาะทางหนังสือพิมพ์ เช่น การสื่อสารทางการละครก็เข้าไปอยู่ในนิเทศศาสตร์ การสื่อสารมวลชนทางอื่นนอกจากทางหนังสือพิมพ์ เช่น ทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ ก็เข้าอยู่ในนิเทศศาสตร์”

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย