บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๑)

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (จบ)


โทษ ไม่ใช่จับผิด (จบ)

…………………………………………….

(โปรดดูภาพประกอบ)

ข้อผิดพลาดแห่งที่ ๒ – ข้อความ “ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางอื่นในวันดังกล่าว” 

จะให้เข้าใจว่ากระไร?

จะบอกว่า – 

๑ ในระหว่างที่ปิดการจราจรเส้นทางนี้ จะมีคนไปใช้ “เส้นทางอื่น” กันมาก 

๒ เพราะฉะนั้น ขอให้หลีกเลี่ยง “เส้นทางอื่น” ไปใช้เส้นทางอื่นๆๆๆ ที่ไม่ใช่ “เส้นทางอื่น” ต่อไปอีก?

๓ หรือว่า-ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางอื่น แล้วกลับมาใช้เส้นทางนี้-ซึ่งอยู่ในระหว่างปิดการจราจร?

ผมเชื่อว่า คนส่วนมากที่ได้อ่านข้อความนี้ย่อมจะเข้าใจเจตนาของผู้เขียนข้อความได้เป็นอันดี-ว่าต้องการจะสื่อความหมายว่า “ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางนี้ ไปใช้เส้นทางอื่น” 

แต่ภาษาที่เขียนออกมาสื่อความหมายไปคนละเรื่อง 

นึกถึงนิทานธรรมบทเรื่องหนึ่ง

………………

เรื่องย่อๆ ว่า —

พ่อทำนา ลูกรับราชการใกล้ชิดพระราชา 

อยู่มาโคที่มีอยู่ ๒ ตัวตายไปตัวหนึ่ง ทำให้ขาดคู่เทียมไถ พ่อจึงบอกให้ลูกทูลขอโคจากพระราชา

ลูกเห็นว่าตัวเองทูลขอจะถูกมองว่าจุ้นจ้าน ไม่เหมาะ ให้พ่อทูลขอเองดีกว่า แต่พ่อเป็นคนทึบๆ อยู่สักหน่อย ลูกจึงแนะนำระเบียบการเข้าเฝ้า กิริยามารยาท ตลอดจนคำกราบบังคมทูล 

โดยเฉพาะคำกราบบังคมทูลขอโคนั้น ให้ท่องจำให้ขึ้นใจว่า – 

เทฺว เม โคณา มหาราช 

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส 

เตสุ เอโก มโต เทว 

ทุติยํ เทหิ ขตฺติย.

(มหาราชะ โคไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามีสองตัว 

ตายไปตัวหนึ่งพระพุทธเจ้าข้า

ขอพระขัตติยะโปรดพระราชทานตัวที่สองเถิด)

พยายามฝึกซ้อมทบทวนอยู่นาน จนมั่นใจว่าพ่อสามารถทำได้พูดได้ถูกต้องแน่นอนแล้ว จึงให้พ่อไปเข้าเฝ้า

พ่อทำถูกต้องตามที่ฝึกซ้อมมาทุกอย่าง ยกเว้นตอนกราบบังคมทูลขอโค พ่อพูดดังนี้ – 

เทฺว เม โคณา มหาราช 

เยหิ เขตฺตํ กสาม เส 

เตสุ เอโก มโต เทว 

ทุติยํ คณฺห ขตฺติย.

(มหาราชะ โคไถนาของข้าพระพุทธเจ้ามีสองตัว 

ตายไปตัวหนึ่งพระพุทธเจ้าข้า

ขอพระขัตติยะโปรดรับเอาตัวที่สองไปเถิด) 

………..

แทนที่จะขอโค

กลายเป็นถวายโค 

พระราชาก็ทรงรู้ว่าตาพ่อพูดผิด ทรงพระสรวลเล็กน้อย ตรัสสัพยอกคนลูกว่า ที่บ้านเห็นจะมีโคมากละสิท่า 

ลูกมีปฏิภาณไวกว่า กราบทูลไปว่า “ถ้าได้รับพระราชทานก็จะมีมากพระพุทธเจ้าข้า”

พระราชาทรงโปรดมาก พระราชทานโค ๑๖ ตัว พร้อมพระราชทานรางวัลอีกหลายอย่าง 

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ เรื่องที่ ๑๒๔ โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ

………………

อาจจะมีบางท่านบอกว่า ก็เมื่อเราเองเข้าใจความหมายตรงตามเจตนาของคนเขียนแล้ว จะต้องเอามาพูดอะไรกันอีกเล่า 

จะใช้ภาษายังไง เมื่อสื่อสารเข้าใจก็น่าจะจบได้แล้ว 

จะมาคิดเล็กคิดน้อย จับผิดหยุมหยิมอยู่ทำไม 

ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ 

จะมายึดติดอะไรกันนักหนา

ก็เพราะคิดอย่างนี้แหละ ภาษาของเราจึงเสื่อมโทรมลงไปทุกวัน 

ผูกประโยคอย่างไร 

ใช้ประธาน กริยา กรรม อย่างไร 

สะกดผิดสะกดถูกอย่างไร 

ใช้คำผิดความหมายอย่างไร 

ภาษางาม-ภาษาทรามเป็นอย่างไร

ไม่เรียน ไม่ศึกษา ไม่สนใจ ไม่รู้ ไม่รับรู้

เขียนไป อ่านแล้วเข้าใจ เท่านั้นพอ 

แล้วก็มีคนออกมาช่วยแก้ต่างให้-ว่าใช้ได้เหมือนกันนั่นแหละ จะเอาอะไรกันนักกันหนา ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ

แทนที่จะช่วยกันแก้ไขที่ผิดให้ถูก

กลายเป็นช่วยกันรับรองว่าผิดนั่นแหละถูก

จากเรื่องภาษา ต่อไปก็ลามไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย

ขอให้สังเกตเถอะ ในสังคมของเรา ผิดกลายเป็นถูกนับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ-ไม่เว้นแม้แต่ในวงการพระศาสนา 

แล้วจะทำยังไง?

ก็-จงศึกษา เรียนรู้ จนกระทั่งรู้หลัก มีหลัก แล้วรู้ทันมัน

มิเช่นนั้น เราก็จะเป็นคนหนึ่งที่เป็นไปกับมัน

เหมือนกับที่พูดกันว่า – 

ถ้าคุณไม่ช่วยแก้ปัญหา

คุณก็จะเป็นคนหนึ่งที่เป็นปัญหา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๓:๕๐

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *