พิษฐาน (บาลีวันละคำ 1,281)
พิษฐาน
อ่านว่า พิด-สะ-ถาน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พิษฐาน : (คำกริยา) มุ่งหมาย, ขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อช่วยบันดาลให้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนมุ่งหมาย. (เลือนมาจาก อธิษฐาน).”
ตามไปดูที่ “อธิษฐาน” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อธิษฐาน : (คำกริยา) ตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา, ตั้งจิตขอร้องต่อสิ่งที่ตนถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, อธิฏฐาน ก็ว่า. (ส.; ป. อธิฏฺฐาน).”
พจน.54 บอกว่า “อธิษฐาน” เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อธิฏฺฐาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อธิษฺฐาน” บอกไว้ว่า –
“อธิษฺฐาน : (คำนาม) การอาศัย, ที่, กฤติกา, เมือง, จักร, ยศ; abiding, a site, a rule, a town, a wheel, dignity.”
“อธิฏฺฐาน” ในบาลีอ่านว่า อะ-ทิด-ถา-นะ ประกอบขึ้นจาก อธิ + ฐาน
(๑) “อธิ” (อะ-ทิ)
เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ยิ่ง, ใหญ่, ทับ
(๒) “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล” มีความหมายว่า –
(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน (ของสิ่งใดๆ) (place, region, locality, abode, part)
(2) ภาวะ, สถานะ (state, condition)
อธิ + ฐาน ซ้อน ฏฺ : อธิ + ฏฺ + ฐาน = อธิฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “การหยุดทับ” “การตั้งมั่น”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล“อธิฏฺฐาน” ว่า –
(1) decision, resolution, self-determination, will (การตัดสินใจ, ความตั้งใจ, การอธิษฐาน, ความปรารถนา)
(2) obstinacy (ความดื้อดึง), prejudice (ใจเอนเอียง), bias (คิดเข้าข้าง)
(3) (ใช้เป็นคุณศัพท์) applying oneself to, bent on (ปวารณาตนเอง, มีใจโน้มไปทาง-)
(4) looking after, management, direction, power (การดูแล, การจัดการ, การบัญชางาน, อำนาจ)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความหมายของ “อธิฏฐาน” ไว้ตอนหนึ่งว่า –
“อธิฏฐาน : ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว, ความตั้งใจมั่นแน่วที่จะทำการให้สำเร็จลุจุดหมาย, ความตั้งใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการนั้นๆ ให้สำเร็จ และมั่นคงแน่วแน่ในทางดำเนินและจุดมุ่งหมายของตน เป็นบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า อธิษฐานบารมี หรืออธิฏฐานบารมี
ในภาษาไทย ใช้เป็นคำกริยา และมักมีความหมายเพี้ยนไปว่า ตั้งใจมุ่งขอให้ได้ผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, ตั้งจิตปรารถนา เฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งจิตขอต่อสิ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ให้สำเร็จผลอย่างใดอย่างหนึ่ง.”
……….
อธิฏฺฐาน > อธิษฐาน เลือนเป็น “พิษฐาน” ได้อย่างไร
น่าจะเกิดจากฟังเสียงแล้วแปลงเสียงเป็นอักษรตามความเข้าใจอันเนื่องมาจากไม่รู้รากศัพท์เดิม
เดิมทีอาจมีผู้ออกเสียงว่า อะ-ทิด-สะ-ถาน คนฟังจับได้แต่ “สะ-ถาน” ส่วน “อะ-ทิด” ที่อยู่ข้างหน้านั้นจับได้เพียงเค้าเสียง แต่ไม่รู้ชัดถึงรูปคำ เสียง “อะ-ทิด” จึงถูกแปรเป็น “พิด” และกลายเป็น พิด-สะ-ถาน แล้วเลยเขียนเป็นรูปคำว่า “พิษฐาน”
คำเทียบที่นึกได้เวลานี้ก็อย่างเช่น “วิษณุกรรม” กลายรูปแทบไม่เหลือเค้าเป็น “เพชฉลูกรรม” (เพ็ด-ฉะ-หฺลู-กํา) (ดูพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)
……….
อธิฏฺฐาน > อธิษฐาน > พิษฐาน ความหมายเดิมคือ ตั้งความปรารถนาหรือตั้งเป้าหมายอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคง
: เป้าหมาย ตั้งแล้วต้องพุ่งเข้าชน
: ไม่ใช่รอให้เทวดาเบื้องบนมาดลบันดาล
————-
(ตามข้อสงสัยของ Chakkris Uthayophas)
1-12-58