บาลีวันละคำ

พรหมปาริสัชชา (บาลีวันละคำ 3,514)

พรหมปาริสัชชา

รูปพรหมชั้นที่หนึ่ง

อ่านว่า พฺรม-มะ-ปา-ริ-สัด-ชา

พรหมปาริสัชชา” เขียนแบบบาลีเป็น “พฺรหฺมปาริสชฺชา” ประกอบด้วยคำว่า พฺรหฺม + ปาริสชฺชา 

(๑) “พฺรหฺม” 

คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร?

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี 

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พฺรม-มะ หรือ พฺรำ-มะ 

พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + (มะ) ปัจจัย 

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พฺรหฺม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

ในที่นี้ “พฺรหฺม” มีความหมายตามข้อ (2) ที่เพิ่งกล่าวนี้ หรือข้อ (4) ข้างต้น

(๒) “ปาริสชฺชา” 

รูปคำเดิมเป็น “ปาริสชฺช” อ่านว่า ปา-ริ-สัด-ชะ รากศัพท์มาจาก ปริสา (ชุมนุม, ชุมชน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), ลง ทฺ อาคมระหว่างบทหน้ากับปัจจัย (ปริสา + ทฺ + ณฺย), แปลง ทฺย (คือ ทฺ อาคม และ ปัจจัยที่เหลือจากการลบ ณฺ) เป็น ชฺช, ทีฆะ อะ ที่ -(ริสา) เป็น อา และ “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ (ปริ)-า (ปริสา > ปาริสา > ปาริส)

: ปริสา + ทฺ + ณฺย = ปริสาทฺณฺย > ปริสาทฺย > ปริสาชฺช > ปาริสาชฺช > ปาริสชฺช แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นคนดีในหมู่คณะ” (2) “ผู้มาสืบเนื่องอยู่ในหมู่คณะของพระราชา

ปาริสชฺช” (ปุงลิงค์) หมายถึง เป็นของที่ชุมนุม, เกี่ยวกับบริษัท; บรรดาสมาชิกของชุมนุม, โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นั่งประชุม, ที่ปรึกษา (belonging to an assembly; the members of an assembly, esp. those who sit in council, councillors)

พฺรหฺม + ปาริสชฺช = พฺรหฺมปาริสชฺช แปลว่า “ผู้เป็นสมาชิกในหมู่พรหม” หมายถึง เทพที่เพิ่งเข้าถึงสถานะพรหม ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะพรหมชั้นนี้เป็นชั้นแรกของเทพจำพวกพรหม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พฺรหฺมปาริสชฺช” ว่า belonging to the retinue of Brahma, Name of the gods of the lowest Rūpa-brahmaloka (เป็นบริวารของพรหม, ชื่อของเทวดาชั้นต่ำสุดในรูปพรหม)

ในบาลี “พฺรหฺมปาริสชฺช” เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “พฺรหฺมปาริสชฺชา” (พฺรม-มะ-ปา-ริ-สัด-ชา)

พฺรหฺมปาริสชฺชา” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “พรหมปาริสัชชา

อภิปรายขยายความ :

ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “พรหมปาริสัชชา” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้ 

…………..

มหาพฺรหฺมานํ  ปริจาริกตฺตา  เตสํ  ปริสติ  ภวาติ  พฺรหฺมปริสชฺชา  ฯ

เหล่าเทพที่ชื่อว่าพรหมปาริสัชชา ก็โดยความหมายว่า เกิดในบริษัทของมหาพรหม เพราะเป็นผู้บำรุงบำเรอพวกพรหม

ที่มา: อภิธัมมัตถวิภาวินี หน้า 158

…………..

มหาพฺรหฺมานํ  ปาริสชฺชา  ปริจาริกาติ  พฺรหฺมปาริสชฺชา  ฯ

พรหมชั้นนี้เป็นผู้แวดล้อม คือเป็นบริวารผู้บำเรอมหาพรหม เหตุนั้น จึงชื่อว่า พรหมปาริสัชชา 

ที่มา: สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 834

…………..

คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร อธิบายเรื่องพรหม 3 จำพวกที่เกิดด้วยอำนาจปฐมฌานเหมือนกัน คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิต และมหาพรหม เปรียบเทียบกันดังนี้ –

…………..

เตสุ  พฺรหฺมปาริสชฺชา  ปน  ปริตฺเตน  อภินิพฺพตฺตา  ฯ  เตสํ  กปฺปสฺส  ตติโย  ภาโค  อายุปฺปมาณํ  ฯ

ในบรรดาเทพเหล่านั้น พรหมปาริสัชชาเกิดด้วยปฐมฌานระดับต่ำ พรหมปาริสัชชานั้นอายุประมาณ 3 ส่วนของกัป 

พฺรหฺมปุโรหิตา  มชฺฌิเมน  ฯ  เตสํ  อุปฑฺฒกปฺโป  อายุปฺปมาณํ  ฯ  กาโย  จ  เตสํ  วิปฺผาริกตโร  โหติ  ฯ

พรหมปุโรหิตเกิดด้วยปฐมฌานระดับปานกลาง อายุประมาณกึ่งกัป และกายของพรหมปุโรหิตนั้นผึ่งผายกว่าพรหมปาริสัชชา

มหาพฺรหฺมาโน  ปณีเตน  ฯ  เตสํ  กปฺโป  อายุปฺปมาณํ  ฯ  กาโย  ปน  เตสํ  อติวิปฺผาริกตโรว  โหติ  ฯ

มหาพรหมเกิดด้วยปฐมฌานระดับประณีต อายุประมาณ 1 กัป กายของมหาพรหมนั้นผึ่งผายยิ่งขึ้นไปกว่าพรหมปุโรหิต

ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 176-177

…………..

ขออนุญาตตั้งข้อสงสัยพจนานุกรมฯ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “พรหมปาริสัชชา” ไว้ แต่เก็บคำว่า “พรหมปุโรหิต” ซึ่งเป็นชื่อพรหม 1 ใน 16 ชั้นเช่นเดียวกัน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พรหมปุโรหิต : (คำนาม) พราหมณ์ชั้นสูง; ชื่อพรหมหมู่หนึ่งอยู่ในสวรรค์อันสูงกว่าชั้นพรหมปาริสัช; ชื่อคัมภีร์แพทย์ว่าด้วยต้นเหตุที่มนุษย์เกิด. (ส.).”

ถ้าพจนานุกรมฯ เก็บคำนี้ไว้เป็นคำตั้ง ก็จะต้องสะกดเป็น “พรหมปาริสัช” อ่านว่า พฺรม-มะ-ปา-ริ-สัด 

แต่ในบาลีวันละคำสะกดเป็น “พรหมปาริสัชชา” ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต 

โปรดสังเกตว่า คำว่า “พรหมปุโรหิต” พจนานุกรมฯ บอกไว้เองว่า “ชื่อพรหมหมู่หนึ่งอยู่ในสวรรค์อันสูงกว่าชั้นพรหมปาริสัช” 

นั่นคือ ผู้จัดทำพจนานุกรมฯ รู้ว่ามี “พรหมปุโรหิต” และมี “พรหมปาริสัช” 

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “พรหมปุโรหิต” แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “พรหมปาริสัช” ทั้งๆ ที่บอกไว้เองว่ามีพรหมชั้นนี้เช่นเดียวกับ “พรหมปุโรหิต

ผู้จัดทำพจนานุกรมฯ ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการที่เก็บคำหนึ่ง แต่ไม่เก็บอีกคำหนึ่ง ทั้งๆ ที่บอกไว้เองว่ามีคำนั้นอยู่ทั้ง 2 คำ เป็นเรื่องที่ควรศึกษากันต่อไป ผู้เขียนบาลีวันละคำขออนุญาตตั้งข้อสงสัยทิ้งไว้แค่นี้

…………..

สรุปว่า “พรหมปาริสัชชา” เป็นชื่อของพรหมชั้นต้นในภูมิที่เรียกว่า “รูปาวจรภูมิ” ซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เกียรติของแต่ละคนอาจจำกัดด้วยฐานะทางสังคม

: แต่คุณธรรมที่จะเป็นพรหมไม่มีขีดจำกัด

#บาลีวันละคำ (3,514)

25-1-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *