บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ช่วยกันแก้ข้อคลาดเคลื่อน

ช่วยกันแก้ข้อคลาดเคลื่อน

————————

เรื่องในพระพุทธศาสนา ไม่วาจะเป็นหลักพระธรรมวินัยหรือเรื่องราวเหตุการณ์ สังเกตเห็นว่า เมื่อมีผู้นำมาถ่ายทอด มักปรากฏข้อคลาดเคลื่อนเสมอ 

คนส่วนมากเมื่อได้ยินได้ฟังหรือได้อ่าน แม้รู้ว่าคลาดเคลื่อน ก็มักไม่สนใจที่จะทักท้วง เพราะเห็นว่าธุระไม่ใช่บ้าง เพราะเกรงจะถูกมองว่าเป็นคนชอบจับผิดบ้าง ยังซ้ำมีขบวนการที่ชอบเหมาการทักท้วงโดยกุศลจิตว่าเป็นการ “จับผิดชาวบ้าน” คอยขนาบหน้าขนาบหลังเข้าอีก ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “แบบนี้ไม่เอาดีกว่า” 

ข้อคลาดเคลื่อนนั้น เมื่อไม่มีใครทักท้วง ก็จะคงความเคลื่อนอยู่เช่นนั้น ตัวผู้เล่าหรือผู้เขียนเองก็คงไม่ทันได้คิดว่าตนได้ทำให้เกิดไฝฝ้าขึ้นในพระศาสนา อาจเป็นเพราะเข้าใจผิดเป็นถูกถูกเป็นผิดโดยสุจริต (คือไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่ตนพูดหรือเขียนไปนั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน) หรืออาจเพราะมีเจตนาทุจริตคือตั้งใจจะบิดเบือนก็อาจเป็นได้ 

คนภายหลังเมื่อมาได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านเรื่องที่คลาดเคลื่อนนั้น ส่วนมากไม่ค่อยมีพื้นความรู้ในเรื่องนั้นก็จะเชื่อตามนั้น และจะต้องมีบ้างที่เอาเรื่องที่คลาดเคลื่อนนั้นไปถ่ายทอดต่อ ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็ยิ่งแพร่กระจายต่อไปอีก 

ความเชื่อหลายๆ อย่างที่เห็นกันชัดๆ ว่าผิด เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุดังว่านี้

…………….

ผมเป็นคนประเภท-เห็นอะไรคลาดเคลื่อนแล้วทนอยู่ไม่ได้ จึงมักจะลงมือทักท้วงอยู่เนืองๆ เป็นเหตุให้ผู้ถูกทักท้วงขุ่นเคืองถึงเกลียดชังเอาก็มี แต่ผมก็ไม่กังวล เนื่องจากเห็นว่า การช่วยกันทำให้เกิดความถูกต้อง ช่วยให้ผู้คนเข้าใจเรื่องนั้นๆ ถูกต้อง เมื่อแลกกับการถูกเกลียดชังแล้วก็คุ้มค่า ท่านผู้มีใจเป็นธรรมซึ่งย่อมจะต้องมีอยู่บ้าง และแม้กระทั่งเจ้าตัวท่านผู้ที่พูดเพี้ยนเขียนผิดนั่นเอง เมื่อรู้ความจริงแล้วก็คงจะต้องมีอยู่สักชั่วขณะจิตหนึ่งที่เข้าใจความจริง และยอมรับว่า “เออ มันก็ถูกของเขา” – เท่านี้ก็พอแก่การย์แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อที่ผมยกขึ้นมาทักท้วงนั้น ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่าผมทักท้วงผิด คือต้นเรื่องเขาพูดไว้ถูกเขียนไว้ถูกดีแล้ว ผมเองต่างหากที่ไปยกขึ้นมาชี้ว่าผิดว่าคลาดเคลื่อนนั่นแหละเป็นการไม่ถูกต้อง ดังนี้ก็ดี หรือเขาพูดเพี้ยนเขียนผิดจริง แต่ข้อที่ยกมาทักท้วงนั้นไม่ตรงประเด็น ดังนี้ก็ดี ท่านย่อมมีสิทธิ์ที่จะแย้งค้านได้เต็มที่และทุกกรณี 

อนึ่ง การทักท้วงก็ดี การแย้งค้านกลับก็ดี ผู้รู้ท่านแนะว่าพึงทำโดยสุภาพ ทำด้วยกุศลจิต และด้วยจิตที่เป็นไมตรี หวังดีหวังเจริญต่อกัน

ด้วยอาการดังกล่าวนี้ หลักพระธรรมวินัยก็ดี เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านแสดงไว้ในพระพุทธศาสนาก็ดี ก็จะได้รับการศึกษาตรวจสอบทบทวน ทำความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงอยู่เสมอ เท่ากับเป็นการช่วยกันรักษาพระศาสนาให้บริสุทธิ์ไว้ได้ทางหนึ่ง

ถ้ามีผู้ช่วยกันเป็นหูเป็นตามากๆ ช่วยกันทักท้วงมากๆ ตามกรอบขอบเขตดังกล่าวนั้น พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีโอกาสที่จะดำรงอยู่เพื่อแสดงหนทางที่ถูกต้องให้แก่ชาวโลกได้ตลอดกาลนาน

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ผมเห็นว่าเป็นการพูดเพี้ยนเขียนผิด และสมควรทักท้วง ขอยกมาเฉพาะตัวต้นเหตุ ไม่บอกว่าเป็นของใครทำไว้ เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างตัวบุคคล

…………………………………………..

ตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก

…………………………………………..

๑ เรื่อง “ญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง”

คำที่ควรทักท้วงคือ “ยักยอกเงินวัด” 

เรื่องญาติของพระเจ้าพิมพิสารนี้มักพูดลัดตัดคำเป็น “เรื่องเปรตพระเจ้าพิมพิสาร” ฟังไม่ทันคิดอะไรก็จะเข้าใจไปว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นเปรต 

เรื่องที่ถูกต้องคือ เรื่องญาติของพระเจ้าพิมพิสารที่เป็นเปรต ญาติเป็นเปรต ไม่ใช่พระเจ้าพิมพิสารเป็นเปรต 

เรื่องนี้มีมาในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ สัญชยวัตถุ เป็นเรื่องที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าประวัติพระสาวกบางองค์ หนึ่งในนั้นก็คือประวัติในอดีตชาติของชฎิล ๓ พี่น้อง (อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ) 

ขอเล่าสรุปสั้นๆ ว่า ในอดีตชาติชฎิล ๓ พี่น้องเกิดเป็นโอรสของพระราชาองค์หนึ่ง คราวหนึ่งช่วยพระราชบิดาปราบกบฏ มีความดีความชอบ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกเป็นเวลาติดต่อกัน ๓ เดือน 

กุมารทั้งสามมอบหมายให้เจ้าพนักงานคลังส่วนพระองค์ทำหน้าที่เบิกจ่ายทรัพย์ทำอาหารถวายพระ (ทั้งสามพระองค์ใช้พนักงานคลังคนเดียวกัน) พนักงานคลังเอาพวกญาติมาช่วยงาน 

เวลาทำอาหารถวายพระ แรกๆ พวกญาติก็ยักเอาให้ลูกๆ กินก่อนพระ หนักเข้าตัวเองก็กินด้วย 

สรุปก็คือ เอาอาหารที่ทำถวายพระมากินก่อน ตายไปก็ไปเกิดเป็นเปรต ส่วนพนักงานคลังมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร

เรื่องตามที่ปรากฏในคัมภีร์คือ เบียดบังอาหารที่ทำถวายพระมากิน 

ไม่ใช่ “ยักยอกเงินวัด” ตามคำที่พูด

โปรดศึกษาจากต้นฉบับต่อไปนี้ –

…………………………………………..

กมฺมกรานํ  ปน  ปุตฺตา  ยาคุภตฺตาทีนํ  อตฺถาย  โรทนฺติ.  เต  เตสํ  ภิกฺขุสงฺเฆ  อนาคเตเยว  ยาคุภตฺตาทีนิ  เทนฺติ.  ภิกฺขุสงฺฆสฺส  ภตฺตกิจฺจาวสาเน  กิญฺจิ  อติเรกํ  น  ภูตปุพฺพํ. 

เต  อปรภาเค  ทารกานํ  เทมาติ  อตฺตนาปิ  คเหตฺวา  ขาทึสุ  มนุญฺญํปิ  อาหารํ  ทิสฺวา  อธิวาเสตุํ  นาสกฺขึสุ.  เต  ปน  จตุราสีติสหสฺสา  อเหสุํ.  เต  สงฺฆสฺส  ทินฺนํ  วฏฺฏํ  ขาทิตฺวา  กายสฺส  เภทา  เปตฺติวิสเย  นิพฺพตฺตึสุ. 

ก็บุตรของพวกกรรมกรร้องไห้ต้องการข้าวยาคูและภัตรเป็นต้น. กรรมกรเหล่านั้น เมื่อภิกษุสงฆ์ยังไม่ทันมา ก็ให้วัตถุมีข้าวยาคูและภัตรเป็นต้นแก่บุตรเหล่านั้น. ในเวลาที่ภิกษุสงฆ์ฉันเสร็จแล้วไม่เคยมีของอะไรเหลือเลย.

ในกาลต่อมา พวกกรรมกรเหล่านี้พูดอ้างว่า “เราจะให้แก่พวกเด็ก” ดังนี้แล้วรับไปกินเสียเอง, เห็นอาหารแม้ที่ชอบใจก็ไม่สามารถจะอดกลั้นได้. ก็พวกเขาได้มีประมาณแปดหมื่นสี่พันคน. พวกเขากินอาหารที่ถวายสงฆ์แล้ว เพราะกายแตกได้เกิดในเปรตวิสัยแล้ว.

ที่มา: ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ สัญชยวัตถุ หน้า ๙๓

ภาษาไทยจากธัมมปทัฏฐกถาแปลฉบับมหามกุฏฯ

…………………………………………..

เรื่องเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารนี้นอกจากมีในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาแล้ว ยังมีในคัมภีร์ปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกปาฐะอีกด้วย ควรศึกษาเทียบทานกันทั้ง ๒ คัมภีร์

๒ เรื่อง “ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรตในนรก” 

เรื่องนี้พูดแค่ “ครั้นตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็นเปรต” แค่นี้ก็ถูกต้องตรงตามเรื่องที่ปรากฏ 

แต่พอไปเติมคำว่า “…ในนรก” ต่อเข้าข้างท้าย ก็เลยกลายเป็นผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปทันที 

หลักที่ควรต้องรู้ก็คือ “เปรต” กับ “นรก” เป็นคนละภพภูมิกัน 

ภพภูมิของพวกเปรต คำบาลีว่า “เปตฺติวิสย” หรือ “ปิตฺติวิสย” แปลทับศัพท์ว่า “เปรตวิสัย” ภพภูมิของพวกสัตว์นรก คำบาลีว่า “นิรย” ภาษาไทยนิยมแปลว่า “นรก”

เกิดเป็นเปรตก็เป็นเปรต เกิดในนรกก็เป็นสัตว์นรก

ไม่ใช่ “เกิดเป็นเปรตในนรก”

โปรดช่วยกันศึกษาให้เข้าใจและเผยแผ่ให้ถูกต้องด้วยนะครับ 

…………….

ขอได้โปรดระลึกว่า การทักท้วงก็คือการทบทวนความรู้ให้ถูกต้อง เมื่อทำด้วยจิตที่เป็นกุศล ย่อมมีแต่คุณอย่างเดียว หาโทษมิได้เลย 

การปล่อยให้ข้อผิดพลาดคงอยู่เช่นนั้นนั่นต่างหากที่มีแต่โทษอย่างเดียว หาคุณมิได้เลย

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๘ กันยายน ๒๕๖๓

๑๐:๔๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *