นิโรธสมาบัติ (บาลีวันละคำ 4,101)
นิโรธสมาบัติ
วิธีพักผ่อนของท่านผู้บรรลุธรรม
อ่านว่า นิ-โรด-ทะ-สะ-มา-บัด ก็ได้
อ่านว่า นิ-โรด-สะ-มา-บัด ก็ได้
(ตามพจนานุกรมฯ)
ประกอบด้วยคำว่า นิโรธ + สมาบัติ
(๑) “นิโรธ”
บาลีอ่านว่า นิ-โร-ทะ รากศัพท์มาจาก –
(1) นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + รุธ (ธาตุ = กักขัง, ปิดกั้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น โอ (รุธฺ > โรธ)
: นิ + รุธฺ = นิรุธฺ + ณ = นิรุธณ > นิรุธ > นิโรธ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นที่ดับแห่งราคะเป็นต้น”
(2) นิ (แทน น = ไม่มี) + รุธ (ธาตุ = กักขัง, ปิดกั้น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ รุ-(ธฺ) เป็น โอ (รุธฺ > โรธ)
: น > นิ + รุธฺ = นิรุธฺ + ณ = นิรุธณ > นิรุธ > นิโรธ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นที่ไม่มีกิเลสที่ปิดกั้นพระนิพพาน”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “นิโรธ” ว่า นิโรธ, พระนิพพาน, ความดับ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิโรธ” ว่า oppression, suppression; destruction, cessation, annihilation (การกดขี่, การปราบ, การระงับ; การทำลาย, การดับ, การทำให้สิ้นไป)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
นิโรธ : ความดับทุกข์ คือดับตัณหาได้สิ้นเชิง, ภาวะปลอดทุกข์เพราะไม่มีทุกข์ที่จะเกิดขึ้นได้ หมายถึงพระนิพพาน.
…………..
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิโรธ, นิโรธ– : (คำแบบ) (คำนาม) ความดับ; นิพพาน. (ป.).”
หมายเหตุ : “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
(๒) “สมาบัติ”
บาลีเป็น “สมาปตฺติ” อ่านว่า สะ-มา-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) ปทฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, แปลนิคหิตที่ สํ เป็น ม (สํ > สม), แปลง ทฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)
: สํ > สม + อา = สมา + ปทฺ = สมาปทฺ + ติ = สมาปทฺติ > สมาปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “การถึงพร้อมอย่างถ้วนทั่ว” = “การเข้าถึง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมาปตฺติ” ว่า attainment (การเข้าสมาบัติ)
บาลี “สมาปตฺติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “สมาบัติ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
…………..
สมาบัติ : ภาวะสงบประณีตซึ่งพึงเข้าถึง; สมาบัติมีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ อนุปุพพวิหารสมาบัติ เป็นต้น สมาบัติที่กล่าวถึงบ่อยคือ ฌานสมาบัติ กล่าวคือ สมาบัติ ๘ อันได้แก่ รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ถ้าเพิ่มนิโรธสมาบัติ ต่อท้ายสมาบัติ ๘ นี้ รวมเรียกว่า อนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมาบัติ : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบประณีต, คุณวิเศษที่เกิดจากการที่จิตเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่, การบรรลุคุณวิเศษชั้นสูงด้วยอำนาจของการเข้าสมาธิ, มีหลายอย่าง เช่น ฌานสมาบัติ ผลสมาบัติ, บางทีใช้เข้าคู่กับคำ ฌาน เป็น ฌานสมาบัติ มี ๘ ได้แก่ รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔. (ป., ส. สมาปตฺติ).”
นิโรธ + สมาปตฺติ = นิโรธสมาปตฺติ (นิ-โร-ทะ-สะ-มา-ปัด-ติ) แปลทับศัพท์ว่า “นิโรธสมาบัติ” หมายถึง การเข้านิโรธสมาบัติ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิโรธสมาปตฺติ” ว่า attainment of annihilation (การบรรลุถึงความดับ)
“นิโรธสมาปตฺติ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิโรธสมาบัติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิโรธสมาบัติ : (คำแบบ) (คำนาม) การเข้าสู่นิโรธ เป็นวิธีพักผ่อนของพระอรหันต์. (ป. นิโรธสมาปตฺติ).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
นิโรธสมาบัติ : การเข้านิโรธ คือ ดับสัญญาความจำได้หมายรู้ และเวทนา การเสวยอารมณ์ เรียกเต็มว่า เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ, พระอรหันต์และพระอนาคามีที่ได้สมาบัติ ๘ แล้วจึงจะเข้านิโรธสมาบัติได้ (ข้อ ๙ ในอนุปุพพวิหาร ๙)
…………..
อานุภาพของนิโรธสมาบัติ :
อานุภาพของ “นิโรธสมาบัติ” นั้น ท่านว่า –
๑ ผู้เข้านิโรธสมาบัติ จะไม่มีใครหรือสิ่งใดทำอันตรายถึงชีวิตได้ แม้ยกภูเขาพระสุเมรุมาทุ่มทับก็ไม่เป็นอันตราย เอาไฟมาสุมเผาสักเท่าไรๆ ก็ไม่ไหม้
๒ ผู้ถวายทานแก่พระผู้ออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ ปรารถนาสิ่งใดจะได้สิ่งนั้นในชาติปัจจุบันทันตาเห็น (ท่านว่าจะได้ภายในวันนั้นเลยทีเดียว)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เราไม่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ทุกคน
: แต่สามารถปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นได้เท่ากัน
#บาลีวันละคำ (4,101)
4-9-66
…………………………….
…………………………….