ประวัติย่อหมอชีวก
แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๒)
แง่มุมจากเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน (๒)
————————————
อย่าชนเพดานอยู่แค่อาจารย์
………..
เรื่องที่ ๔
………..
กรณีพระเทวทัตกลิ้งหิน พระไตรปิฎกและอรรถกถาระบุสถานที่ตรงกัน คือที่เขาคิชฌกูฏ
แต่มีอรรถกถาฉบับหนึ่งกล่าวต่างออกไป นั่นคือคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ภาค ๑ อรรถกถาอปทาน ตอนพุทธาปทาน หน้า ๒๑๕, ฉบับ budsir 7 หน้า ๑๔๕) บอกว่า พระเทวทัตกลิ้งหินที่ภูเขาเวภาระ ไม่ใช่คิชฌกูฏ (ดูภาพประกอบ)
เขาเวภาระเป็นหนึ่งในภูเขา ๕ ลูกที่ล้อมเมืองราชคฤห์ คือ ปัณฑวะ คิชฌกูฏ เวภาระ อิสิคิลิ และเวปุลละ
นี่เราก็แค่รับรู้ไว้ว่ามีอรรถกถากล่าวต่างออกไป แต่คงไม่ต้องเถียงกัน เพราะในพระไตรปิฎกระบุชัดเจนว่าเป็นเขาคิชฌกูฏ
………..
เรื่องที่ ๕
………..
ผมได้เห็นภาพใน google ภาพหนึ่ง เป็นเรื่องพระเทวทัตกลิ้งหิน พระเทวทัตอยู่บนภูเขา พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินอยู่ข้างล่าง
ที่เป็นเงื่อนแง่ก็คือ พระพุทธองค์ในภาพที่ว่านี้ทรงอุ้มบาตร (ดูภาพประกอบ)
ถ้าเอาพระไตรปิฎกเป็นหลักฐาน ภาพที่ว่านี้ก็ผิดจากหลักฐานคือพระไตรปิฎก
คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ ตอนสังฆเภทขันธกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๓๗๒ มีข้อความว่า
………………….
เตน โข ปน สมเยน ภควา คิชฺฌกูฏสฺส ปพฺพตสฺส ฉายายํ จงฺกมติ. อถโข เทวทตฺโต คิชฺฌกูฏํ ปพฺพตํ อภิรูยฺหิตฺวา มหตึ สิลํ ปวิชฺฌิ อิมาย สมณํ โคตมํ ชีวิตา โวโรเปสฺสามีติ.
แปลว่า –
สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏบรรพต ครั้งนั้นพระเทวทัตขึ้นสู่คิชฌกูฏบรรพตแล้วกลิ้งศิลาก้อนใหญ่ด้วยหมายใจว่า จักปลงพระชนม์พระสมณโคดมด้วยศิลานี้
………………….
พระไตรปิฎกบันทึกไว้ชัดเจนว่า “ภควา … จงฺกมติ.” = พระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่
ตอนที่พระเทวทัตกลิ้งหิน พระพุทธองค์กำลังเดินจงกรม ไม่ใช่กำลังบิณฑบาต
ในขณะที่เดินจงกรมไม่มีความจำเป็นต้องอุ้มบาตร
ถ้าพระไตรปิฎกบอกว่า – สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคกำลังเสด็จไปบิณฑบาต …
อย่างนี้ วาดเป็นพระพุทธเจ้าอุ้มบาตรก็ถูกต้อง
นี่ก็คือผู้เขียนภาพหรือผู้ให้ข้อมูลเพื่อเขียนภาพไม่ได้ศึกษารายละเอียดในพระไตรปิฎกว่าขณะนั้นพระพุทธองค์กำลังทำอะไร
ถ้าใช้คำพูดของเฟซบุ๊กเอง ก็ต้องพูดว่า ภาพนี้แสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ
อาจเป็นได้ที่ผู้เขียนภาพจะอ้างว่า ได้สอบถามแล้วจากท่านเจ้าคุณนั่น ท่านมหาโน่น หรือท่านอาจารย์นี่ ท่านว่าพระพุทธองค์อุ้มบาตรนี่แหละถูกต้องแล้ว
เวลานี้เรากำลังเป็นอย่างนี้กันมาก คือชนเพดานกันที่ “อาจารย์”
ไปไม่ถึงพระไตรปิฎก
ไม่ใช่เฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับ “เหตุการณ์”
แม้แต่ “หลักคำสอน” ก็ชนเพดานแค่อาจารย์
แต่ที่จะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไปก็คือ เราไม่มีใครหรือหน่วยงานไหนทำหน้าที่ตรวจสอบ ชี้แจง แก้ไข
มีแต่ปลอยให้มติที่คลาดเคลื่อนจากพระไตรปิฎกปรากฏตัวขึ้น ดำรงอยู่ และเผยแพร่ต่อไปตามสะดวก
และนับวันก็จะกองพะเนินขึ้นเรื่อยๆ
………
โปรดตั้งหลักกันให้ดีนะครับ – ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา-พระธรรมวินัย ศึกษาตรวจสอบไปให้ถึงต้นน้ำคือพระไตรปิฎกก่อน
ต่อจากนั้น เราจะเชื่อหรือไม่ หรือจะเห็นเป็นอย่างไร เป็นสิทธิเสรีภาพของเรา
อย่าชนเพดานอยู่แค่-อาจารย์ท่านว่า
………
ยังมีเงื่อนแง่อื่นๆ อีกครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ เมษายน ๒๕๖๓
๑๗:๐๕
…………………………….