บาลีวันละคำ

ถาม (บาลีวันละคำ 3,812)

ถาม

คำนี้บาลีมีด้วยหรือ

“ถาม” บาลีอ่านว่า ถา-มะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + ม ปัจจัย, แปลง ฐ เป็น ถ

: ฐา + ม = ฐาม > ถาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้ยืนอยู่ได้”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ถาม” ว่า กำลัง, เรี่ยวแรง, ความสามารถ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ถาม” ว่า “standing power,” power of resistance, steadfastness, strength, firmness, vigour (“กำลังอันถาวร,” กำลังความต้านทาน, ความมั่นคง, ความแข็งแรง, ความทรงพลัง)

บาลี “ถาม” สันสกฤตเป็น “สฺถามนฺ”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

“สฺถามนฺ : (คำนาม) ‘สถามัน,’ ศักติ์, พลศักติ์, แรง, กำลัง; strength, power.”

บาลี “ถาม” เอามาใช้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ถามะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ถามะ : (คำแบบ) (คำนาม) กําลัง, เรี่ยวแรง. (ป.).”

หมายเหตุ : “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ขยายความ :

“ถาม” ที่เป็นบาลี กับ “ถาม” ที่เป็นคำไทย เป็นคนละคำกัน คนไทยที่ไม่ได้เรียนบาลีเห็นคำว่า “ถาม” ในบาลี ก็จะนึกว่าเหมือนคำไทย หรืออาจจะเข้าใจว่าเป็นคำไทย นักเรียนบาลีเห็น “ถาม” ในบาลี จิตก็จะประหวัดถึง “ถาม” คำไทย

“ถาม” ที่เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“ถาม : (คำกริยา) ตั้งปัญหาหรือประเด็นเพื่อให้ได้คำตอบ.”

“ถาม” ในบาลีที่นักศึกษาวรรณคดีบาลีน่าจะเคยผ่านตาคำหนึ่ง คือ “สหัสถามธนู” อ่านว่า สะ-หัด-สะ-ถา-มะ-ทะ-นู แปลว่า “ธนูที่มีกำลังหนึ่งพัน” หมายถึง ธนูที่มีน้ำหนักมาก คนที่จะสามารถหยิบจับใช้ธนูชนิดนี้เป็นอาวุธได้ต้องเป็นคนที่แข็งแรงมาก มีพละกำลังเทียบเท่ากับคนพันคนนั่นเทียว

พระพุทธเจ้าเมื่อยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อเรียนศิลปวิทยาสำเร็จแล้วได้แสดงความสามารถในวิชายิงธนูให้ปรากฏในหมู่พระประยูรญาติ (เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวชมพูทวีป คือผู้ที่ไปศึกษาศิลปวิทยาสำเร็จกลับมาจะต้องแสดงความสามารถในวิชาที่ตนไปเรียนมาให้ปรากฏเสมือนเป็นการทดสอบฝีมือเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม) ก็ทรงแสดงการยิงธนูโดยใช้ “สหัสถามธนู” เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าทรงยอดเยี่ยมเหนือใครๆ

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ถาม” ที่ปรากฏในคำของพระจักขุปาลเถระพระอรหันต์ตาบอด เมื่อท่านจะบวช ถูกน้องชายทักท้วงว่ายังหนุ่มอยู่จะบวชทำไม เอาไว้ตอนแก่ค่อยบวชก็ได้

ท่านตอบเป็นคาถาบทนี้ –

…………..

ชราชชฺชริตา โหนฺติ

หตฺถปาทา อนสฺสวา

ยสฺส โส วิหตตฺถาโม

กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.

ผู้ที่แก่หง่อมเพราะชรา

มือเท้าใช้ไม่ได้ดังใจ

เรี่ยวแรงก็ถดถอยไปหมดแล้ว

จักประพฤติธรรมอย่างไรได้

ดูเพิ่มเติม: จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ (1) ธัมมปทัฏฐกถา ภาค 1

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตอนมีแรงไม่เร่งทำ

พอแก่หงำจะทำไง

: มือเท้าก้าวไม่ไหว

จะเอาอะไรประพฤติธรรม

#บาลีวันละคำ (3,812)

20-11-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *