บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ประวัติย่อหมอชีวก

จากตักศิลามาเป็นแพทย์หลวง

จากตักศิลามาเป็นแพทย์หลวง

——————————-

หมอชีวกรับเงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ กับคนใช้ชายหญิงและรถม้าจากบ้านเศรษฐีเมืองสาเกต เดินทางมุ่งกลับพระนครราชคฤห์ รอนแรมไปจนถึงพระนครราชคฤห์โดยลำดับ แล้วเข้าเฝ้าเจ้าชายอภัย กราบทูลว่า

“เงิน ๑๖,๐๐๐ กหาปณะ กับคนใช้ชายหญิงและรถม้านี้เป็นผลงานครั้งแรกของเกล้ากระหม่อม ขอใต้ฝ่าพระบาทจงทรงพระกรุณาโปรดรับค่าเลี้ยงดูเกล้ากระหม่อมเถิด พระเจ้าข้า”

เจ้าชายอภัยรับสั่งว่า

“อย่าเลย พ่อชีวก ทรัพย์นี้จงเป็นของเจ้าคนเดียวเถิด และเจ้าจงสร้างบ้านอยู่ภายในบริเวณวังของเราเถิด”

หมอชีวกทูลรับพระบัญชาเจ้าชายอภัยว่า “เป็นพระกรุณายิ่ง พระเจ้าข้า” แล้วได้สร้างบ้านอยู่ภายในบริเวณวังของเจ้าชายอภัย

ต่อไปนี้ เชิญสดับสำนวนจากพระไตรปิฎก แปลแบบไม่ตอกไข่ ไม่ใส่สี รสเดิมแท้ๆ จากบาลี มีกลิ่นโรตีพอหอมปากหอมคอ

…………………

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนามคธราชทรงประชวรโรคริดสีดวงงอก พระภูษาเปื้อนพระโลหิต พวกพระสนมเห็นแล้วพากันทูลล้อเลียนว่า

“บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนักพระองค์จักประสูติ”

พระราชาทรงเก้อเขินเพราะคำล้อเลียนของพวกพระสนมนั้น ต่อมาท้าวเธอได้ตรัสเล่าความนั้นแก่เจ้าชายอภัยว่า

“พ่ออภัย พ่อป่วยเป็นโรคเช่นนั้นถึงกับผ้านุ่งเปื้อนโลหิต พวกนางสนมเห็นแล้วพากันเย้ยหยันว่า ‘บัดนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงมีระดู ต่อมพระโลหิตบังเกิดแก่พระองค์แล้ว ไม่นานเท่าไรนักพระองค์จักประสูติ’ เอาเถอะ พ่ออภัย เจ้าช่วยหาหมอชนิดที่พอจะรักษาพ่อได้ให้ทีเถิด”

“ขอเดชะ นายชีวกผู้นี้เป็นหมอประจำข้าพระพุทธเจ้า ยังหนุ่ม ทรงคุณวุฒิ เธอจักรักษาพระองค์ได้”

“พ่ออภัย ถ้าเช่นนั้นเธอจงสั่งหมอชีวก เขาจักได้รักษาพ่อ”

ครั้นแล้วเจ้าชายอภัยจึงสั่งหมอชีวกว่า “พ่อชีวก เธอจงไปรักษาพระเจ้าอยู่หัว”

หมอชีวกรับสนองพระบัญชาว่า “รับด้วยเกล้าพระเจ้าข้า” แล้วเอาเล็บจิกยา(*) เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลว่า

“พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าจักตรวจโรคของพระองค์”

ครั้งนั้นแล หมอชีวกรักษาโรคริดสีดวงงอกของพระเจ้าพิมพิสารหายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ครั้นพระเจ้าพิมพิสารทรงหายประชวรแล้ว จึงรับสั่งให้สตรี ๕๐๐ นางแต่งเครื่องประดับพร้อมสรรพ แล้วให้เปลื้องออกทำเป็นห่อ มีพระราชโองการแก่หมอชีวกว่า

“พ่อชีวก เครื่องประดับทั้งปวงของสตรี ๕๐๐ นางนี้จงเป็นของเจ้าเถิด”

หมอชีวกกราบทูลว่า

“อย่าเลยพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์จงทรงโปรดระลึกว่าเป็นหน้าที่ของข้าพระพุทธเจ้าเถิด”

“ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงคอยรักษาพยาบาลเรากับพวกฝ่ายใน และภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเถิด”

หมอชีวกทูลรับสนองพระบรมราชโองการว่า “รับด้วยเกล้าพระพุทธเจ้าข้า” 

………….

หมอชีวกได้รับตำแหน่งแพทย์หลวงและยังเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์อีกหน้าที่หนึ่ง ด้วยประการฉะนี้

………….

(*) ต้นฉบับใช้คำว่า “นเขน  เภสชฺชํ  อาทาย” แปลตามตัวว่า “ถือเอายาด้วยเล็บ” ความไทยว่า “เอาเล็บจิกยา” 

หมอชีวกย่อมรู้ตัวแล้วว่าจะต้องไปรักษาอาการประชวรของพระเจ้าแผ่นดิน ตามหลักก็จะต้องเตรียมเครื่องมือทางการแพทย์ไปให้พร้อมที่สุด แต่หมอชีวกทำเพียง “ถือเอายาด้วยเล็บ” เข้าไปเท่านั้น จะให้แปลว่าอย่างไร? 

ก็แปลว่าหมอชีวกต้อง “ทำการบ้าน” มาแล้วเป็นอย่างดี การสืบอาการป่วยและภูมิหลังของผู้ป่วยเป็นเคล็ดลับชั้นสูงของหมอชีวก แค่ “หาข่าว” เท่านั้นก็แทบจะวินิจฉัยโรคได้ทะลุ 

สมัยเป็นเด็ก ผมเคยได้ยินหมอไทยมือดีรุ่นเก่าคุยกันว่า ไปถึงบ้านคนป่วย แค่มองไปใต้ถุนบ้านก็รู้ว่าคนป่วยกินอะไรที่แสลงโรคไปบ้าง เพราะเห็นเปลือกผลไม้ที่กินแล้วทิ้งลงมา นี่คือหมอที่ดีต้องเป็นนักสังเกตที่ดีอย่างยิ่ง

เรื่องพระเจ้าพิมพิสารประชวรด้วยโรคริดสีดวงนั้นหมอชีวกต้องรู้และรู้อย่างลึกด้วย จึงมั่นใจเต็มที่ว่า อาการที่ทรงประชวรนั้น แค่ “ถือเอายาด้วยเล็บ” เข้าไปเท่านั้นก็เรียบร้อย 

แล้วก็เรียบร้อยจริงๆ พระไตรปิฎกใช้คำว่า “ภคนฺทลาพาธํ  เอเกเนว  อาเลเปน  อปกฑฺฒิ” แปลว่า-รักษาโรคริดสีดวงหายขาดด้วยทายาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น!

………….

แปลจาก: จีวรขันธกะ มหาวรรค วินัยปิฎก 

พระไตรปิฎกเล่ม ๕ ข้อ ๑๓๑-

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑ เมษายน ๒๕๖๓

๑๗:๓๕

ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *