รมณียสถาน (บาลีวันละคำ 1,917)
รมณียสถาน
คือสถานที่เช่นไร
อ่านว่า รม-มะ-นี-ยะ-สะ-ถาน
แยกศัพท์เป็น รมณีย + สถาน
(๑) “รมณีย”
บาลีอ่านว่า ระ-มะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ + อีย ปัจจัย
: รมฺ + ยุ > อน = รมน > รมณ + อีย = รมณีย” แปลตามศัพท์ว่า “อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี” “อันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นรมย์” หมายถึง น่ายินดี, น่าพอใจ, น่ารื่นรมย์, น่าพึงใจ, สวยงาม (delightful, pleasing, charming, pleasant, beautiful)
“รมณีย” ในภาษาไทยใช้เป็น “รมณีย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “รมณีย์” (รม-มะ-นี)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รมณีย-, รมณีย์ : (คำวิเศษณ์) น่าบันเทิงใจ, น่าสนุก, พึงใจ, งาม. (ป., ส.).”
(๒) “สถาน”
บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ฐา + ยุ > อน = ฐาน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งแห่งผล”
“ฐาน” ใช้ในความหมายหลายอย่างตามแต่บริบท เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส (ภาษาอังกฤษอาจใช้ได้หลายคำ เช่น place, region, locality, abode, part, state, condition, standing position, location, ground)
บาลี “ฐาน” สันสกฤตเป็น “สฺถาน”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺถาน : (คำนาม) สถล, ที่, ตำแหน่ง; การอยู่; สมพาท, ความแม้น; อวกาศหรือมัธยสถาน; ที่แจ้งในเมือง, ทุ่ง, ฯลฯ; เรือน, บ้านหรือที่อาศรัย; บริเฉท; บุรี, นคร; สำนักงาร; บท, สถิติ; การหยุด; place, site, situation; staying; resemblance, likeness; leisure or interval; an open place in a town, a plain, &c.; a house, a dwelling; a chapter; a town, a city; an office; degree, station; halt.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “สถาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สถาน ๑ : (คำนาม) ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก, ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน; ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน. (ส.; ป. ฐาน).”
รมณีย + ฐาน ในภาษาบาลีซ้อน ฏฺ อันเป็นพยัญชนะต้นวรรคของ ฐ
รมณีย + ฏฺ + ฐาน = รมณียฏฺฐาน แปลตามศัพท์ว่า “สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความรื่นรมย์”
“รมณียฏฺฐาน” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “รมณียสถาน”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รมณียสถาน : (คำนาม) สถานที่ให้ความรื่นรมย์, สถานที่ให้ความบันเทิงใจ.”
…………..
อภิปราย :
ถ้าถามว่า “รมณียสถาน” คือสถานที่เช่นไร คำตอบคงมีหลากหลายแล้วแต่มุมมอง
ในทัศนะของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงแสดงไว้ว่า –
คาเม วา ยทิ วารญฺเญ
นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.
ที่มา: สังยุตตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 921
ในเมืองหรือในป่า
ที่ลุ่มคงคาหรือแดนดอน
อันผู้ทรงศีลสังวรสว่างกิเลสสถิตสำราญ
ย่อมเป็นรมณียสถานทั้งสิ้นแล
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้ากิเลสล้อมรุมใจชุ่มโชก
: ทั้งสามโลกฤๅจะมีรมณียสถาน
: ถ้าใจสร่างสิ้นเศษกิเลสมาร
: ทุกหย่อมย่านย่อมรื่นร่มรมณีย์
#บาลีวันละคำ (1,917)
8-9-60