บาลีวันละคำ

มิจฉาวณิชชา (บาลีวันละคำ 3,188)

มิจฉาวณิชชา

ศัพท์วิชาการศาสนาที่น่ารู้

อ่านว่า มิด-ฉา-วะ-นิด-ชา

ประกอบด้วยคำว่า มิจฉา + วณิชชา

(๑) “มิจฉา

เขียนแบบบาลีเป็น “มิจฺฉา” (มีจุดใต้ จฺ) อ่านว่า มิด-ฉา เป็นศัพท์จำพวกนิบาต ไม่แจกด้วยวิภัตติ คือคงรูปเดิมเสมอ

มิจฺฉา” แปลว่า “ผิด” ถ้าอยู่ตามลำพังมีฐานะเป็นกริยาวิเศษณ์ มีความหมายว่า อย่างผิดๆ, ด้วยวิธีผิด, ไม่ถูก, เก๊, หลอกๆ (wrongly, in a wrong way, wrong –, false) ถ้าใช้ประกอบข้างหน้าคำนาม ก็ทำหน้าที่ขยายความให้รู้ว่า นามคำนั้นมีความหมายว่าผิด เช่น “มิจฉาชีพ” = อาชีพที่ผิด

(๒) “วณิชชา

เขียนแบบบาลีเป็น “วณิชฺชา” (มีจุดใต้ ชฺ ตัวหน้า) อ่านว่า วะ-นิด-ชา รากศัพท์มาจาก วณิช (ผู้ค้า, คนค้า, พ่อค้า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), แปลง ชฺย (คือ ที่ วณิ และ ที่ ณฺ ปัจจัย) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วณิช + ณฺย = วณิชณฺย > วณิชฺย > วณิชฺช + อา = วณิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “กิจกรรมของพวกพ่อค้า” หมายถึง การค้า, การซื้อขาย (trade, trading)

มิจฺฉา + วณิชฺชา = มิจฺฉาวณิชฺชา แปลว่า “การค้าขายที่ผิด” หมายถึงการค้าขายที่ไม่ชอบธรรม

มิจฺฉาวณิชฺชา” เป็นคำชั้นอรรถกถา บาลีเรียก “อกรณียวณิชชา” คือ “วณิชชาที่ไม่ควรทำ

มิจฺฉาวณิชฺชา” ใช้ทับศัพท์ในภาษาไทยเป็น “มิจฉาวณิชชา

ขยายความ :

ในพระไตรปิฎกมีพระพุทธพจน์ตรัสเรื่อง “อกรณียวณิชชา” หรือ “มิจฉาวณิชชา” ไว้ดังนี้ –

…………..

ปญฺจิมา  ภิกฺขเว  วณิชฺชา  อุปาสเกน  อกรณียา  กตมา  ปญฺจ  สตฺถวณิชฺชา  สตฺตวณิชฺชา  มํสวณิชฺชา  มชฺชวณิชฺชา  วิสวณิชฺชา  อิมา  โข  ภิกฺขเว  ปญฺจ  วณิชฺชา  อุปาสเกน  อกรณียาติ.

ที่มา: ปัญจกนิบาต อังคุตรนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 22 ข้อ 177

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยแปลไว้ดังนี้ –

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำ

๕ ประการเป็นไฉน

คือ การค้าขายศาสตรา ๑ การค้าขายสัตว์ ๑ การค้าขายเนื้อสัตว์ ๑ การค้าขายน้ำเมา ๑ การค้าขายยาพิษ ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การค้าขาย ๕ ประการนี้แล อันอุบาสกไม่พึงกระทำ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แสดงไว้ดังนี้ –

…………..

มิจฉาวณิชชา : การค้าขายไม่ชอบธรรม, การค้าขายที่ผิดศีลธรรม หมายถึงอกรณียวณิชชา (การค้าขายที่อุบาสกไม่ควรทำ) ๕ อย่าง คือ ๑. สัตถวณิชชา ค้าอาวุธ ๒. สัตตวณิชชา ค้ามนุษย์ ๓. มังสวณิชชา ค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร ๔. มัชชวณิชชา ค้าของเมา ๕. วิสวณิชชา ค้ายาพิษ

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [235] แสดงไว้ดังนี้ –

…………..

วณิชชา 5 การค้าขาย 5 อย่าง ในที่นี้หมายถึง การค้าขายที่เป็นอกรณียะสำหรับอุบาสก คือ อุบาสกไม่ควรประกอบ (Vaṇijjā: trades which should not be plied by a lay disciple)

1. สัตถวณิชชา: ค้าขายอาวุธ (Sattha-vaṇijjā: trade in weapons)

2. สัตตวณิชชา: ค้าขายมนุษย์ (Satta-vaṇijjā: trade in human beings)

3. มังสวณิชชา: ค้าขายเนื้อสัตว์ (Maṃsa-vaṇijjā: trade in flesh) อรรถกถาแก้ว่าเลี้ยงสัตว์ไว้ขาย (trade in animals for meat)

4. มัชชวณิชชา: ค้าขายของเมา (Majja-vaṇijjā: trade in spirits or narcotics)

5. วิสวณิชชา: ค้าขายยาพิษ (Visa-vaṇijjā: trade in poison)

…………..

ควรสังเกต :

๑ พระบาลีใช้คำว่า “วณิชฺชา” และมีคำขยายว่า “อกรณียา” ซึ่งรวมศัพท์เป็น “อกรณียวณิชชา” ไม่ได้ใช้คำว่า “มิจฺฉาวณิชฺชา

๒ พระบาลีใช้คำว่า “วณิชฺชา” ไม่ใช่ “วาณิชฺชา” (– ไม่ใช่ วา-)

๓ อรรถกถาใช้คำว่า “มิจฺฉาวณิชฺชา” ไม่ใช่ “มิจฺฉาอาชีว” หรือเขียนแบบไทยเป็น “มิจฉาอาชีพ” หรือ “มิจฉาชีพ

๔ “มิจฉาอาชีวะ” แปลว่า “เลี้ยงชีพผิด” หมายถึงดำรงชีวิตหรือทำมาหากินในทางผิด ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องประกอบอาชีพค้าขายเสมอไป เป็นองค์หนึ่งในมิจฉามรรคอันเป็นหมวดธรรมที่ตรงกันข้ามกับสัมมามรรคหรืออริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ” ซึ่งมีองค์หนึ่งคือ “สัมมาอาชีวะ” = เลี้ยงชีพชอบ ตรงกันข้ามกับ “มิจฉาอาชีวะ

๕ ในที่นี้ท่านใช้คำว่า “มิจฉาวณิชชา” คือเจาะจงเฉพาะ “การค้าขาย” เท่านั้น ไม่ใช่ “มิจฉาอาชีวะ” ที่มุ่งถึง “การประกอบอาชีพ” ซึ่งหมายถึงอาชีพอะไรก็ได้ “ที่ผิด” ไม่เจาะจงว่าจะต้องเป็นการค้าขาย

นี่คือความละเอียดลออของคำบาลี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ถูก ไม่ได้แปลว่าผิดเสมอไป

: ไม่ผิด ก็ไม่ได้แปลว่าถูกเสมอไป

#บาลีวันละคำ (3,188)

5-3-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย