บาลีวันละคำ

บริษัทบริวาร (บาลีวันละคำ 2,853)

บริษัทบริวาร

ไม่ใช่บริษัทลูกบริษัทแม่

อ่านว่า บอ-ริ-สัด-บอ-ริ-วาน

ประกอบด้วยคำว่า บริษัท + บริวาร

(๑) “บริษัท

บาลีเป็น “ปริสา” (ปะ-ริ-สา) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + สิทฺ (ธาตุ = ปล่อย) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ อิ และ ที่ สิทฺ (สิทฺ > )

: ปริ + สิทฺ = ปริสิทฺ + = ปริสิท > ปริส + อา = ปริสา แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่มาโดยรอบ”

(2) ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + สิ (ธาตุ = คบหา) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์, ลบ อิ ที่ สิ (สิ > )

: ปริ + สิ = ปริสิ > ปริส + = ปริส + อา = ปริสา แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่พบปะกันโดยรอบ

ปริสา” ในบาลีใช้ในความหมายว่า คนที่แวดล้อมอยู่, กลุ่มหรือหมู่ชน, ประชาชน, ชุมนุม, กลุ่มชน, พวกพ้อง, คณะหรือหมู่เหล่า, สมัชชา, สมาคม, ฝูงชน (surrounding people, group, collection, company, assembly, association, multitude)

บาลี “ปริสา” สันสกฤตเป็น “ปริษทฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปริษทฺ : (คำนาม) ‘บริษัท,’ สภา, ที่ประชุม (= บันดาผู้ที่มาประชุม); an assembly, an audience or congregation, meeting.”

ปริสา > ปริษทฺ ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “บริษัท” (บอ-ริ-สัด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริษัท : (คำนาม) หมู่, คณะ, เช่น พุทธบริษัท, ที่ประชุม เช่น จะพูดอย่างไรต้องดูบริษัทเสียก่อน; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) รูปแบบการดำเนินกิจการธุรกิจเพื่อหากำไร ที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล โดยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน มีผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ บริษัทมี ๒ ประเภท คือ บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด. (ส. ปริษทฺ; ป. ปริสา).”

(๒) “บริวาร

บาลีเป็น “ปริวาร” (ปะ-ริ-วา-ระ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (วรฺ > วาร)

: ปริ + วรฺ = ปริวรฺ + = ปริวรณ > ปริวร > ปริวาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ

ปริวาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คนแวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)

(2) ผู้ติดตาม, สิ่งประกอบหรือของที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเกียรติ, ความเคารพ, การรับใช้, การแสดงความภักดี, เกียรติคุณ (followers, accompaniment or possession as a sign of honour, and therefore meaning “respect,” attendance, homage, fame)

(3) ส่วนผสม, ส่วนที่เพิ่มเติม, บริขารหรือของจำเป็น (ingredient, accessories, requisite)

(4) เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในวินัยปิฎกชื่อ ปริวาร, ส่วนเพิ่มเติม, ภาคผนวก (as N. it is the name of the last book of the Vinaya Piṭaka [“The Accessory”], the Appendix, a sort of résumé and index of the preceding books)

ปริวาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริวาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริวาร : (คำนาม) ผู้แวดล้อมหรือผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น บริวารกฐิน. (คำวิเศษณ์) ที่แวดล้อม เช่น ดาวบริวาร. (ป., ส. ปริวาร).”

อภิปราย :

บริษัท + บริวาร = บริษัทบริวาร เป็นการเอาคำว่า “บริษัท” กับ “บริวาร” ในบาลีสันสกฤตมาประสมกันแบบไทย และมีลักษณะเป็นคำซ้อน คือคำที่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกันเอามาพูดควบกัน

ในภาษาไทยมีคำเช่นนี้อยู่มาก (ส่วนมากเป็นคำสร้อยสี่พยางค์) เช่น เสื่อสาดอาสนะ ถนนหนทาง บ้านช่องห้องหอ

คนรุ่นใหม่ที่คุ้นกับคำตามความหมายปัจจุบัน เห็นคำว่า “บริษัทบริวาร” ไม่พึงเข้าใจไปว่า หมายถึงบริษัททางธุรกิจการค้า (business company) ที่เป็นสาขาหรือเป็น sub-company ของบริษัทใหญ่ ที่เรียกกันว่า บริษัทลูก

บริษัทบริวาร” ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บริษัทบริวาร : (คำนาม) คนแวดล้อม เช่น เขามีบริษัทบริวารมาก.”

บริษัทบริวาร” หมายถึง “บริวาร” นั่นเอง คนเก่านิยมพูดซ้อนคำเป็น “บริษัทบริวาร

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ครองหัวใจตนได้

: ครองหัวใจคนได้

#บาลีวันละคำ (2,853)

4-4-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย