บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทองย้อย..ปล่อยปลา

ทองย้อย..ปล่อยปลา

———————-

ศุกร์ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕

ผมตื่นนอน ไปเดินออกกำลังตามปกติ

“ศุกร์ บูรพา” 

ผมคิดถึงตำราทิศเทวดา-ผีหลวงที่หลวงลุงเคยสอนให้ตั้งแต่อายุ ๑๖ 

ไม่ได้ตั้งใจจำ แต่ไม่ลืม

เทวดากับผีหลวงจะอยู่ทิศตรงกันข้ามเสมอ แต่จะเปลี่ยนไปตามวัน

อาทิตย์ เทวดาอยู่ทิศอาคเนย์ 

จันทร์ ประจิม

อังคาร หรดี

พุธ ทักษิณ

พฤหัสบดี อุดร

ศุกร์ บูรพา

เสาร์ พายัพ

วันไหน จะออกจากบ้านไปทำกิจการอะไร ให้บ่ายหน้าไปทางทิศเทวดา

ผมไม่เชื่อ แต่ก็ไม่ค้าน

สถานที่ทำกิจธุระประจำวันอยู่ทิศไหน ก็ต้องไปทิศนั้น เลือกไม่ได้

แต่ถ้าไม่มีข้อจำกัดแบบนั้น และยังไม่มีข้อตกลงใจ 

เอาไว้ใช้เป็นตัวช่วยก็ดีเหมือนกัน – เหมือนวันนี้

เส้นทางเดินออกกำลังของผมแต่ละวัน ไม่ซ้ำทางกัน ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับทิศเทวดาและผีหลวง แต่ขึ้นอยู่กับว่าวันไหนตั้งใจจะไปดูอะไร

แล้วอยู่ๆ ผมก็นึกขึ้นมา  

“…ศุกร์ บูรพา”

วันนี้ยังไม่ได้ตั้งใจอะไรไว้ก่อน ผมก็เลยตกลงใจไปทางตะวันออก

อย่างแรกที่ผมคิดคือ ไปทางตะวันออกผมจะแวะไหว้พระที่ไหนได้บ้าง

ผมเดินเข้าซอย ข้ามคลองหลังวัดช่องลม เข้าทางหลังเมรุ แล้วไปไหว้หลวงพ่อแก่นจันทน์ ออกประตูตะวันออก ผ่านหน้าที่ทำการด่านป่าไม้ (เปลี่ยนชื่อเป็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม .. หรืออะไรผมก็ไม่ได้จำ) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดหลังเก่า (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑสถาน) เลี้ยวซ้ายก็ลงริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง

ถนนอยู่ด้านบน เขื่อนลาดลงไป แม่น้ำอยู่ด้านล่าง มีทางเท้าเดินเลียบน้ำไปตลอดความยาวของสายน้ำ 

ผ่านตลาด ไปจนถึงสะพานธนะรัชต์ที่คู่กับสะพานรถไฟ 

ข้ามสะพานก็จะเป็นค่ายภาณุรังสี กรมการทหารช่าง ศาลหลักเมือง เลียบทางรถไฟ ผ่านหน้าวัดอมรินทาราม (วัดตาล) ผ่านห้างบิ๊กซี เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานสิริลักขณ์ ผ่านวัดมหาธาตุ เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าโรงพยาบาลเมืองราช ผ่านวัดเขาเหลือ วัดโรงช้าง เลยไปก็ไปบรรจบวัดช่องลม 

เป็นวงกลมรอบใหญ่พอดีๆ มีวัดให้ได้แวะไหว้พระหลายวัด

นี่เป็นเส้นทาง-ถ้าไปทางตะวันออก …

แต่พอผมเลี้ยวซ้ายลงริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง ก็ต้องแปลกใจ เพราะเห็นทางเท้าที่เดินเลียบน้ำด้านล่างเต็มไปด้วยคราบโคลน เป็นร่องรอยที่แสดงว่าเมื่อคืนนี้น้ำในแม่น้ำแม่กลองเอ่อท่วมขึ้นมา และน้ำเพิ่งจะลง บางตอนยังแประทางเดินเท้า เศษไม้ เศษสวะ กอผักตบชวาขึ้นมาติดค้างอยู่ตรงนั้นตรงโน้น คราบโคลนบนผิวพื้นคอนกรีตทางเท้าเลียบน้ำเฉอะแฉะไปตลอด

ผมเดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็เจอลูกปลาไหลตัวเท่าดินสอ ยาวสัก ๑๐ เซ็นต์ นอนนิ่งสนิท 

ผมเอาเศษไม้เขี่ยดู ลูกปลาไหลตายแล้ว แต่มีปลาตัวจิ๋วดีดตัวดิ้นออกมาจากตรงที่ลูกปลาไหลนอน 

ผมตะครุบเอาไปหย่อนลงน้ำ 

มองห่างออกไปสักสองสามก้าวก็เห็นปลาตัวเล็กขนาดปลาซิวนอนผะงาบๆ อยู่อีกตัวหนึ่ง 

ตรงนั้นอีกตัวหนึ่ง และตรงโน้นก็อีกตัวหนึ่ง

พอผมเอามือไปกอบ มันก็ดีดตัวขึ้นจากพื้นแล้วดิ้นตกลงมาอีกหลายครั้ง กว่าผมจะ “หยิบ” ตัวมันลงน้ำได้สำเร็จ

ผมเข้าใจบทนิยามของคำว่า “ดีดดิ้น” ได้ทันที จากของจริงโดยไม่ต้องเปิดพจนานุกรม

มีปลาตัวเล็กๆ นอนคลุกคราบโคลนอยู่บนทางเท้าเลียบน้ำตลอดทาง มันคงขึ้นมากับกระแสน้ำแล้วหากินอยู่จนเพลิน เมื่อน้ำลงก็เลยติดค้างอยู่บนทางเดิน 

ทุกตัวนอนนิ่งอยู่กับโคลนแฉะๆ พอสัมผัสตัวผมจึงรู้ว่ามันยังเป็นอยู่ เพราะมันจะดีดตัวขึ้นดิ้น 

สิ่งที่พวกมันจะพบถ้าไม่มีใครมาช่วย ก็คือความตาย

ผมรู้สึกได้ทันทีถึงคำพูดที่ว่า “นอนรอความตาย” มันมีความหมายว่าอย่างไร 

พอมาถึงที่ตรงกับตลาด ผมก็เห็นคนเดินลงมาจากด้านบน คนเดียวบ้าง เป็นคู่บ้าง ถือถังใส่ปลาที่มีบริการอยู่ข้างตลาดให้ซื้อมาปล่อย 

ภาพเช่นนี้ผมเคยเห็นแล้วในวันก่อนๆ ที่ผมเดินออกกำลังมาทางนี้ เขาจะมีถังใส่ปลา บางทีก็เป็นถุง แล้วก็มีกระดาษอัดพลาสติกแผ่นหนึ่ง คงจะเป็นคำอธิษฐานให้อ่านก่อนปล่อยปลา

ผมรู้สึกแปลกๆ ทุกครั้งที่เห็น 

คนเดี๋ยวนี้ คิดอะไร ตั้งใจอะไรจากความคิดของตัวเองไม่เป็นกันแล้วหรือ ขนาดจะปล่อยปลา ยังต้องอ่านจากกระดาษที่มีคนเขียนให้

แต่วันนี้ผมมีความรู้สึกเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่องหนึ่ง

บริการขายปลาเพื่อซื้อเอาไปปล่อย มันเป็นบุญที่ถูกจัดฉากขึ้นมาเท่านั้น

แต่ปลาที่รอการปล่อยจริงๆ กำลังนอนรอความตายอยู่ตรงหน้านี้แล้ว 

เขาหิ้วถังบุญจัดฉากเดินข้ามบุญแท้ๆ ไปอย่างไม่แยแส

เออหนอ มนุษย์ หลงสิ่งที่สร้างขึ้น จนไม่รู้จักของจริง

ผมเดินเก็บปลาเกยตื้นปล่อยลงน้ำไปตลอดทาง คงจะราวๆ ๒๐ กว่าตัว เชื่อแน่ว่าตลอดแนวเขื่อนรัฐประชาพัฒนา ไม่มีปลาค้างเขื่อนตัวไหนรอดพ้นสายของผมไปได้

ผมยังพบกุ้งหลายตัว ส่วนใหญ่จะตายแล้ว มีอยู่ตัวหรือสองตัวที่ขยับเขยื้อนให้รู้ว่ายังเป็นอยู่

มันเป็นชีวิตเล็กๆ ที่จะเอามากินก็ไม่พอคำ ปล่อยให้ตายอยู่ตรงนั้นก็ไม่มีใครสงสาร 

ผมขอแบ่งบุญอันเกิดจากการ “ปล่อยปลา” จริงๆ ในวันนี้ ให้แก่เพื่อนๆ ทุกคนด้วย 

ขอได้โปรดอนุโมทนาโดยทั่วกันนะครับ

……………………………………

โพสต์ครั้งแรก ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕

……………………………………

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ ตุลาคม ๒๕๖๓

๑๖:๕๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *