อรรถกถา (บาลีวันละคำ 3,399)
อรรถกถา
หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง
อ่านว่า อัด-ถะ-กะ-ถา
ประกอบด้วยคำว่า อรรถ + กถา
(๑) “อรรถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “อตฺถ” อ่านว่า อัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) อรฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (อ)-รฺ เป็น ตฺ (อรฺ > อตฺ)
: อรฺ + ถ = อรถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเครื่องให้ดำเนินไปได้” (2) “สิ่งที่ให้ดำเนินไปตามการณ์” (3) “สิ่งอันบุคคลถึง คือได้รับตามครรลองแห่งเหตุ”
(2) อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + ถ ปัจจัย, แปลง ส ที่ (อ)-สฺ เป็น ตฺ (อสฺ > อตฺ)
: อสฺ + ถ = อสถ > อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งเป็นเหตุให้มีให้เป็น” (2) “เหตุให้มีศัพท์”
(3) อตฺถฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา) + อ (อะ) ปัจจัย
: อตฺถ + อ = อตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ต้องการ”
“อตฺถ” (ปุงลิงค์) มีความหมายหลายอย่าง เช่น –
(1) กำไร, ผลประโยชน์, การได้เปรียบ, ความดี (ทางศีลธรรม), พร, สวัสดิภาพ, ผลที่ได้มา, ความรุ่งเรือง, สวัสดิการ (interest, advantage, gain; (moral) good, blessing, welfare; profit, prosperity, well-being)
(2) ความประสงค์, ความต้องการ, ความปรารถนา (need, want)
(3) เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ (ของคำพูด), การหมายถึง (sense, meaning, import, denotation, signification)
(4) เรื่องราว, ความเห็น, คดี (affair, cause, case)
“อตฺถ” ในภาษาไทยนิยมใชอิงสันสกฤตเป็น “อรรถ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถ, อรรถ– : (คำนาม) เนื้อความ เช่น แปลโดยอรรถ, คําที่ยังไม่ได้แปลความหมาย เช่น คําอรรถ. (ส. อรฺถ; ป. อตฺถ).”
(๒) “กถา”
รากศัพท์มาจาก กถฺ (ธาตุ = กล่าว) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กถฺ + อ = กถ + อา = กถา แปลตามศัพท์ว่า “เรื่องอันท่านกล่าวไว้”
“กถา” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การพูด, การคุย, การสนทนา (talk, talking, conversation)
(2) ถ้อยคำ, เทศนา, ปาฐกถา (speech, sermon, discourse, lecture)
(3) เรื่องยาวๆ (a longer story)
(4) คำพูด, ถ้อยคำ, คำแนะนำ (word, words, advice)
(5) การอธิบาย, การขยายเนื้อความ (explanation, exposition)
(6) การสนทนาหรืออภิปราย (discussion)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กถา : (คำนาม) ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว. (ป.).”
อตฺถ + กถา = อตฺถกถา (อัด-ถะ-กะ-ถา) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องกล่าวเนื้อความ”
คำนี้ในบาลีสะกดเป็น “อฏฺฐกถา” ก็มี ภาษาไทยใช้เป็น “อรรถกถา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อรรถกถา : (คำนาม) คัมภีร์ที่อธิบายความพระบาลี, คัมภีร์ที่ไขความพระไตรปิฎก. (ส. อรฺถ + กถา; ป. อตฺถกถา, อฏฺฐกถา).”
ขยายความ :
ในเมืองไทยเรานี้มีสำนักในพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งประกาศว่า สำนักของตน “ไม่เอาอรรถกถา” หมายความว่า ถือตามคัมภีร์พระพระบาลีหรือพระไตรปิฎกอย่างเดียว ไม่ถือตามอรรถกถา คือไม่เชื่ออรรถกถา
เพื่อให้เข้าใจ “อรรถกถา” ได้ชัดเจนขึ้น ขอนำคำอธิบายคำว่า “อรรถกถา” ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้ คำอธิบายนี้ค่อนข้างยาว ขอได้โปรดมีอุตสาหะในการอ่านโดยทั่วกัน
…………..
อรรถกถา : “เครื่องบอกความหมาย”, ถ้อยคำบอกแจ้งชี้แจงอรรถ, คำอธิบายอัตถะ คือความหมายของพระบาลี อันได้แก่พุทธพจน์ รวมทั้งข้อความและเรื่องราวเกี่ยวข้องแวดล้อมที่รักษาสืบทอดมาในพระไตรปิฎก, คัมภีร์อธิบายความในพระไตรปิฎก; ในภาษาบาลีเขียน อฏฺฐกถา, มีความหมายเท่ากับคำว่า อตฺถวณฺณนา หรือ อตฺถสํวณฺณนา (คัมภีร์สัททนีติ ธาตุมาลา กล่าวว่า อรรถกถา คือเครื่องพรรณนาอธิบายความหมาย ที่ดำเนินไปตามพยัญชนะและอัตถะ อันสัมพันธ์กับเหตุอันเป็นที่มาและเรื่องราว)
อรรถกถามีมาเดิมสืบแต่พุทธกาล เป็นของเนื่องอยู่ด้วยกันกับการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่เข้าใจง่ายๆ ว่า “อรรถกถา” ก็คือคำอธิบายพุทธพจน์ และคำอธิบายพุทธพจน์นั้น ก็เริ่มต้นที่พุทธพจน์ คือพระดำรัสของพระพุทธเจ้านั่นเอง ซึ่งเป็นพระดำรัสที่ตรัสประกอบเสริมขยายความในเรื่องที่ตรัสเป็นหลักในคราวนั้นๆ บ้าง เป็นข้อที่ทรงชี้แจงอธิบายพุทธพจน์อื่นที่ตรัสไว้ก่อนแล้วบ้าง เป็นพระดำรัสปลีกย่อยที่ตรัสอธิบายเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำนองเรื่องเบ็ดเตล็ดบ้าง ดังที่ท่านยกตัวอย่างว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงได้รับนิมนต์เสด็จไปประทับใช้อาคารเป็นปฐม ในคราวที่เจ้าศากยะสร้างหอประชุม (สันถาคาร) เสร็จใหม่ ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้เพียงว่าได้ทรงแสดงธรรมกถาแก่เจ้าศากยะอยู่จนดึก เมื่อจะทรงพัก จึงรับสั่งให้พระอานนท์แสดงธรรมเรื่องเสขปฏิปทาแก่เจ้าศากยะเหล่านั้น และในพระสูตรนั้นได้บันทึกสาระไว้เฉพาะเรื่องที่พระอานนท์แสดง ส่วนธรรมกถาของพระพุทธเจ้าเองมีว่าอย่างไร ท่านไม่ได้รวมไว้ในตัวพระสูตรนี้ เรื่องอย่างนี้มีบ่อยๆ แม้แต่พระสูตรใหญ่ๆ ก็บันทึกไว้เฉพาะหลักหรือสาระสำคัญ ส่วนที่เป็นพระดำรัสรายละเอียดหรือข้อปลีกย่อยขยายความ ซึ่งเรียกว่าปกิณกเทศนา (จะเรียกว่าปกิณกธรรมเทศนา ปกิณกธรรมกถา ปกิณกกถา หรือบาลีมุตธรรมกถา ก็ได้) แม้จะไม่ได้รวมไว้เป็นส่วนของพระไตรปิฎก แต่พระสาวกก็ถือว่าสำคัญยิ่ง คือเป็นส่วนอธิบายขยายความที่ช่วยให้เข้าใจพุทธพจน์ที่บันทึกไว้เป็นพระสูตรเป็นต้นนั้นได้ชัดเจนขึ้น พระสาวกทั้งหลายจึงกำหนดจดจำปกิณกเทศนาเหล่านี้ไว้ประกอบพ่วงคู่มากับพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก เพื่อเป็นหลักฐานที่ช่วยให้เข้าใจชัดเจนในพระพุทธประสงค์ของหลักธรรมที่ตรัสในคราวนั้นๆ และเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ใช้ในการชี้แจงอธิบายหลักธรรมในพุทธพจน์นั้นแก่ศิษย์เป็นต้น พระปกิณกเทศนานี้แหละ ที่เป็นแกนหรือเป็นที่ก่อรูปของสิ่งที่เรียกว่าอรรถกถา แต่ในขณะที่ส่วนซึ่งเรียกว่าพระไตรปิฎก ท่านรักษาไว้ในรูปแบบและในฐานะที่เป็นหลัก ส่วนที่เป็นอรรถกถานี้ ท่านนำสืบกันมาในรูปลักษณ์และในฐานะที่เป็นคำอธิบายประกอบ แต่ก็ถือเป็นสำคัญยิ่ง ดังที่เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎก อรรถกถาเหล่านี้ก็เข้าสู่การสังคายนาด้วย (ดูตัวอย่างที่ ม.ม.๑๓/๒๕/๒๕; ม.อ.๓/๖/๒๐; วินย.ฏี.๒/๒๘/๗๐; ที.ฏี.๒/๑๘๘/๒๐๗) ทั้งนี้ มิเฉพาะพระพุทธดำรัสเท่านั้น แม้คำอธิบายของพระมหาสาวกบางท่านก็มีทั้งที่เป็นส่วนในพระไตรปิฎก (อย่างเช่นพระสูตรหลายสูตรของพระสารีบุตร) และส่วนอธิบายประกอบที่ถือว่าเป็นอรรถกถา คำอธิบายที่สำคัญของพระสาวกผู้ใหญ่อันเป็นที่ยอมรับนับถือเป็นหลัก ก็ได้รับการถ่ายทอดรักษาผ่านการสังคายนาสืบต่อมาด้วย
คำอธิบายที่เป็นเรื่องใหญ่บางเรื่องสำคัญมากถึงกับว่า ทั้งที่เรียกว่าเป็นอรรถกถา ก็จัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกด้วย ดังที่ท่านเล่าไว้ คือ “อัฏฐกถากัณฑ์” ซึ่งเป็นภาคหรือคัมภีร์ย่อยที่ ๓ ในคัมภีร์ธัมมสังคณี แห่งพระอภิธรรมปิฎก (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๔, อัฏฐกถากัณฑ์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า “อัตถุทธารกัณฑ์” และพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐได้เลือกใช้ชื่อหลัง) ตามเรื่องที่ท่านบันทึกไว้ว่า (สงฺคณี.อ.๔๖๖) สัทธิวิหาริกรูปหนึ่งของพระสารีบุตรไม่สามารถกำหนดจับคำอธิบายธรรมในภาคหรือคัมภีร์ย่อยที่ ๒ ที่ชื่อว่านิกเขปกัณฑ์ ในคัมภีร์ธัมมสังคณีนั้น พระสารีบุตรจึงพูดให้ฟัง ก็เกิดเป็นอัฏฐกถากัณฑ์หรืออัตถุทธารกัณฑ์นั้นขึ้นมา (แต่คัมภีร์มหาอัฏฐกถากล่าวว่า พระสารีบุตรพาสัทธิวิหาริกรูปนั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระองค์ตรัสแสดง), คัมภีร์มหานิทเทส (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๙) และจูฬนิทเทส (พระไตรปิฎก เล่ม ๓๐) ก็เป็นคำอธิบายของพระสารีบุตร ที่ไขและขยายความแห่งพุทธพจน์ในคัมภีร์สุตตนิบาต (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕, อธิบายเฉพาะ ๓๒ สูตร ในจำนวนทั้งหมด ๗๑ สูตร)
อรรถกถาทั้งหลายแต่ครั้งพุทธกาลนั้น ได้พ่วงมากับพระไตรปิฎกผ่านการสังคายนาทั้ง ๓ ครั้ง จนกระทั่งเมื่อพระมหินทเถระไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕ ก็นำอรรถกถาเหล่านั้น ซึ่งยังเป็นภาษาบาลีพ่วงไปกับพระไตรปิฎกบาลีด้วย แต่เพื่อให้พระสงฆ์ตลอดจนพุทธศาสนิกทั้งหลายในลังกาทวีปนั้น สามารถศึกษาพระไตรปิฎกซึ่งเป็นภาษาบาลีได้สะดวก พระพุทธศาสนาจะได้เจริญมั่นคงด้วยหลักพระธรรมวินัย คัมภีร์เล่าว่า พระมหินทเถระได้แปลอรรถกถาจากภาษาบาลีให้เป็นภาษาของผู้เล่าเรียน คือภาษาสิงหฬ ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “มหาอัฏฐกถา” และใช้เป็นเครื่องมือศึกษาพระไตรปิฎกบาลีสืบมา ต่อแต่นั้น อรรถกถาทั้งหลายก็สืบทอดกันมาในภาษาสิงหฬ
ต่อมา พระพุทธศาสนาในชมพูทวีปเสื่อมลง แม้ว่าพระไตรปิฎกจะยังคงอยู่ แต่อรรถกถาได้สูญสิ้นหมดไป ครั้งนั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ เล่าเรียนพระไตรปิฎกแล้ว มีความเชี่ยวชาญจนปรากฏนามว่า “พุทธโฆส” ได้เรียบเรียงคัมภีร์ชื่อว่าญาโณทัย (คัมภีร์มหาวงส์กล่าวว่าท่านเรียบเรียงอรรถกถาแห่งคัมภีร์ธัมมสังคณี ชื่อว่าอัฏฐสาลินีในคราวนั้นด้วย แต่ไม่สมจริง เพราะอัฏฐสาลินีอ้างวิสุทธิมัคค์ และอ้างสมันตปาสาทิกา มากมายหลายแห่ง จึงคงต้องแต่งทีหลัง) เสร็จแล้วเริ่มจะเรียบเรียงอรรถกถาแห่งพระปริตรขึ้น อาจารย์ของท่าน ซึ่งมีชื่อว่าพระเรวตเถระ บอกว่า อรรถกถามีอยู่บริบูรณ์ในลังกาทวีป เป็นภาษาสิงหฬ และให้ท่านไปแปลเป็นภาษาบาลีแล้วนำมายังชมพูทวีป
พระพุทธโฆสได้เดินทางไปยังลังกาทวีปในรัชกาลของพระเจ้ามหานาม (พ.ศ.๙๕๓–๙๗๕; ปีที่ท่านไป หลักฐานบางแห่งว่า พ.ศ.๙๕๖ แต่บางแห่งว่า พ.ศ.๙๖๕) พระพุทธโฆสพำนักในมหาวิหาร เมืองอนุราธปุระ ได้สดับอรรถกถาภาษาสิงหฬครบทั้ง มหาอฏฺฐกถา มหาปจฺจรี (มหาปจฺจริย ก็เรียก) และกุรุนฺที (อรรถกถาเก่าก่อนเหล่านี้ รวมทั้งสงฺเขปฏฺฐกถาซึ่งเป็นความย่อของมหาปัจจรี และอนฺธกฏฺฐกถาที่พระพุทธโฆสได้คุ้นมาก่อนนั้นแล้ว จัดเป็นโปราณัฏฐกถา) เมื่อจบแล้ว ท่านก็ได้ขอแปลอรรถกถาภาษาสิงหฬ เป็นภาษามคธ แต่สังฆะแห่งมหาวิหารได้มอบคาถาพุทธพจน์ให้ท่านไปเขียนอธิบายก่อน เป็นการทดสอบความสามารถ พระพุทธโฆสได้เขียนขยายความคาถานั้น โดยประมวลความในพระไตรปิฎกพร้อมทั้งอรรถกถามาเรียบเรียงตามหลักไตรสิกขา สำเร็จเป็นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ครั้นเห็นความสามารถแล้ว สังฆะแห่งมหาวิหารจึงได้มอบคัมภีร์แก่ท่าน พระพุทธโฆสเริ่มงานแปลใน พ.ศ.๙๗๓ ตั้งต้นที่อรรถกถาแห่งพระวินัยปิฎก (คือสมันตปาสาทิกา, คำนวณปีจาก วินย.อ.๓/๖๓๕) เมื่อทำงานแปลเสร็จพอควรแล้ว ก็เดินทางกลับไปยังชมพูทวีป
งานแปลของพระพุทธโฆสนั้น แท้จริงมิใช่เป็นการแปลอย่างเดียว แต่เป็นการแปลและเรียบเรียง ดังที่ท่านเองเขียนบอกไว้ว่า ในการสังวรรณนาพระวินัยท่านใช้มหาอรรถกถาเป็นเนื้อหาหลัก (เป็นสรีระ) พร้อมทั้งเก็บเอาอรรถะที่ควรกล่าวถึงจากข้อวินิจฉัยที่มีในอรรถกถามหาปัจจรี และอรรถกถากุรุนที เป็นต้น (คือรวมตลอดถึงอันธกัฏฐกถา และสังเขปัฏฐกถา) อธิบายให้ครอบคลุมประดาเถรวาทะ (คือข้อวินิจฉัยของพระมหาเถระวินัยธรโบราณในลังกาทวีป ถึง พ.ศ.๖๕๓), แต่ในส่วนของพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาโบราณ (โปราณัฏฐกถา) ภาษาสิงหฬ มีเพียงมหาอรรถกถาอย่างเดียว (มีมหาอรรถกถาในส่วนของคัมภีร์แต่ละหมวดนั้นๆ ซึ่งถือว่าเป็นมูลัฏฐกถา) พระพุทธโฆสจึงใช้มหาอรรถกถานั้น เป็นแกน ข้อความที่ยืดยาวกล่าวซ้ำๆ ก็จับเอาสาระมาเรียบเรียง แปลเป็นภาษามคธ โดยเก็บเอาวาทะ เรื่องราว และข้อวินิจฉัยของพระเถระสิงหฬโบราณ ถึง พ.ศ.๖๕๓ มารวมไว้ด้วย
พระพุทธโฆสาจารย์เป็นผู้เริ่มต้นยุคอรรถกถาที่กลับมีเป็นภาษาบาลีขึ้นใหม่ แม้ว่าพระพุทธโฆสจะมิได้จัดทำอรรถกถาขึ้นครบบริบูรณ์ แต่ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นและต่อจากนั้นไม่นาน ก็ได้มีพระอรรถกถาจารย์รูปอื่นๆ มาทำงานส่วนที่ยังขาดอยู่จนเสร็จสิ้น
รายชื่ออรรถกถา พร้อมทั้งนามพระเถระผู้รจนา (พระอรรถกถาจารย์) แสดงตามลำดับคัมภีร์ในพระไตรปิฎกที่อรรถกถานั้นๆ อธิบาย มีดังนี้ (พฆ. หมายถึง พระพุทธโฆสาจารย์)
ก.พระวินัยปิฎก (ทั้งหมด) สมันตปาสาทิกา (พฆ.) ข.พระสุตตันตปิฎก ๑.ทีฆนิกาย สุมังคลวิลาสินี (พฆ.) ๒.มัชฌิมนิกาย ปปัญจสูทนี (พฆ.) ๓.สังยุตตนิกาย สารัตถปกาสินี (พฆ.) ๔.อังคุตตรนิกาย มโนรถปูรณี (พฆ.) ๕.ขุททกนิกาย ๑.ขุททกปาฐะ ปรมัตถโชติกา (พฆ.) ๒.ธรรมบท ธัมมปทัฏฐกถา (*) ๓.อุทาน ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ) ๔.อิติวุตตกะ ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ) ๕.สุตตนิบาต ปรมัตถโชติกา (พฆ.) ๖.วิมานวัตถุ ปรมัตถทีปนี@ (พระธรรมปาละ) ๗.เปตวัตถุ ปรมัตถทีปนี@ (พระธรรมปาละ) ๘.เถรคาถา ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ) ๙.เถรีคาถา ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ) ๑๐.ชาดก ชาตกัฏฐกถา (*) ๑๑.นิทเทส สัทธัมมปัชโชติกา (พระอุปเสนะ) ๑๒.ปฏิสัมภิทามัคค์ สัทธัมมปกาสินี (พระมหานาม) ๑๓.อปทาน วิสุทธชนวิลาสินี (**) ๑๔.พุทธวงส์ มธุรัตถวิลาสินี (พระพุทธทัตตะ) ๑๕.จริยาปิฎก ปรมัตถทีปนี (พระธรรมปาละ) ค.พระอภิธรรมปิฎก ๑.ธัมมสังคณี อัฏฐสาลินี (พฆ.) ๒.วิภังค์ สัมโมหวิโนทนี (พฆ.) ๓.ห้าคัมภีร์ที่เหลือ ปัญจปกรณัฏฐกถา (พฆ.)
[พึงทราบ: @ ปรมัตถทีปนี ที่เป็นอรรถกถา แห่งวิมานวัตถุ และเปตวัตถุ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วิมลวิลาสินี; (*) คือ ธัมมปทัฏฐกถา และชาตกัฏฐกถา นั้น ที่จริงก็มีชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา และถือกันมาว่าพระพุทธโฆสเป็นผู้เรียบเรียงคัมภีร์ทั้งสองนี้ แต่อาจเป็นได้ว่าท่านเป็นหัวหน้าคณะ โดยมีผู้อื่นร่วมงานด้วย; (**) วิสุทธชนวิลาสินี นั้น นามผู้รจนาไม่แจ้ง แต่คัมภีร์จูฬคันถวงส์ (แต่งในพม่า) ว่าเป็นผลงานของพระพุทธโฆส; มีอรรถกถาอื่นที่พึงทราบอีกบ้าง คือ กังขาวิตรณี (อรรถกถาแห่งพระปาติโมกข์) ซึ่งก็เป็นผลงานของพระพุทธโฆส, อรรถกถาแห่งเนตติปกรณ์ เป็นผลงานของพระธรรมปาละ]
เนื้อตัวแท้ๆ ของอรรถกถา หรือความเป็นอรรถกถา ก็ตรงกับชื่อที่เรียก คือ อยู่ที่เป็นคำบอกความหมาย หรือเป็นถ้อยคำชี้แจงอธิบายอัตถะของศัพท์ หรือข้อความในพระไตรปิฎก เฉพาะอย่างยิ่งคืออธิบายพุทธพจน์ เช่น เราอ่านพระไตรปิฎก พบคำว่า “วิริยสฺส สณฺฐานํ” ก็ไม่เข้าใจ สงสัยว่าทรวดทรงสัณฐานอะไรของความเพียร จึงไปเปิดดูอรรถกถา ก็พบไขความว่า สัณฐานในที่นี้หมายความว่า “ฐปนา อปฺปวตฺตนา…” ก็เข้าใจและแปลได้ว่าหมายถึงการหยุดยั้ง การไม่ดำเนินความเพียรต่อไป ถ้าพูดในขั้นพื้นฐาน ก็คล้ายกับพจนานุกรมที่เราอาศัยค้นหาความหมายของศัพท์ แต่ต่างกันตรงที่ว่าอรรถกถามิใช่เรียงตามลำดับอักษร แต่เรียงไปตามลำดับเนื้อความในพระไตรปิฎก ยิ่งกว่านั้น อรรถกถาอาจจะแปลความหมายให้ทั้งประโยค หรือทั้งท่อนทั้งตอน และความที่ท่านช่ำชองในพระไตรปิฎก ก็อาจจะอ้างอิงหรือโยงคำหรือความตอนนั้น ไปเทียบหรือไปบรรจบกับข้อความเรื่องราวที่อื่นในพระไตรปิฎกด้วย นอกเหนือจากนี้ ในกรณีเป็นข้อปัญหา หรือไม่ชัดเจน ก็อาจจะบอกข้อยุติหรือคำวินิจฉัยที่สังฆะได้ตกลงไว้และรักษากันมา บางทีก็มีการแสดงความเห็นหรือมติของพระอรรถกถาจารย์ต่อเรื่องที่กำลังพิจารณา และพร้อมนั้น ก็อาจจะกล่าวถึงมติที่ขัดแย้ง หรือที่สนับสนุน ของ “เกจิ” (อาจารย์บางพวก) “อญฺเญ” (อาจารย์พวกอื่น) “อปเร” (อาจารย์อีกพวกหนึ่ง) เป็นต้น นอกจากนั้น ในการอธิบายหลักหรือสาระบางอย่าง บางทีก็ยกเรื่องราวมาประกอบหรือเป็นตัวอย่าง ประเภทเรื่องปนอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์บ้าง เรื่องในวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวบ้านบ้าง ตลอดจนเหตุการณ์ในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งมากทีเดียวเป็นเรื่องความเป็นไปของบ้านเมืองในลังกาทวีป ซึ่งในอดีตผ่านยุคสมัยต่างๆ ระหว่างที่พระสงฆ์เล่าเรียนกัน คงมีการนำเอาเรื่องราวในยุคสมัยนั้นๆ มาเล่าสอนและบันทึกไว้สืบกันมา จึงเป็นเรื่องตำนานบ้าง ประวัติศาสตร์บ้าง แห่งกาลเวลาหลายศตวรรษ อันเห็นได้ชัดว่า พระอรรถกถาจารย์ดังเช่นพระพุทธโฆสาจารย์ ไม่อาจรู้ไปถึงได้ นอกจากยกเอาจากคัมภีร์ที่เรียกว่าโปราณัฏฐกถาขึ้นมาถ่ายทอดต่อไป
สำหรับผู้ที่เข้าใจรู้จักอรรถกถา สิ่งสำคัญที่เขาต้องการจากอรรถกถา ก็คือส่วนที่เป็นคำบอกความหมายไขความอธิบายเนื้อหาในพระไตรปิฎก ซึ่งก็คือต้องการตัวอรรถกถาแท้ๆ นั่นเอง และก็ตรงกันกับหน้าที่การงานของอรรถกถาอันได้แก่การรักษาสืบทอดคำบอกความหมายที่เป็นอัตถะในพระไตรปิฎก ส่วนอื่นนอกเหนือจากนี้ เช่นเรื่องราวเล่าขานต่างๆ เป็นเพียงเครื่องเสริมประกอบ ที่จริง มันไม่ใช่อรรถกถา แต่เป็นสิ่งที่พ่วงมาด้วยในหนังสือหรือคัมภีร์ที่เรียกว่าอรรถกถา
เนื่องจากผู้อ่านพระไตรปิฎกบาลีต้องพบศัพท์ที่ตนไม่รู้เข้าใจบ่อยครั้ง และจึงต้องปรึกษาอรรถกถา คล้ายคนปรึกษาพจนานุกรม เมื่อแปลพระไตรปิฎกมาเป็นภาษาไทย เป็นต้น จึงมักแปลไปตามคำไขความหรืออธิบายของอรรถกถา พระไตรปิฎกแปลภาษาไทยเป็นต้นนั้น จึงมีส่วนที่เป็นคำแปลผ่านอรรถกถา หรือเป็นคำแปลของอรรถกถาอยู่เป็นอันมาก และผู้อ่านพระไตรปิฎกแปลก็ไม่รู้ตัวว่าตนกำลังอ่านอรรถกถาพร้อมไปด้วย หรือว่าตนกำลังอ่านพระไตรปิฎกตามคำแปลของอรรถกถา
มีข้อพึงทราบอีกอย่างหนึ่งว่า เวลานี้เมื่อพูดถึงอรรถกถา ทุกคนเข้าใจว่าหมายถึงอรรถกถาภาษาบาลีที่พระพุทธโฆสาจารย์ เป็นต้น ได้เรียบเรียงขึ้น ในช่วงระยะใกล้ พ.ศ.๑๐๐๐ แต่ดังได้เล่าให้ทราบแล้วว่า พระอรรถกถาจารย์รุ่นใหม่ พ.ศ.ใกล้หนึ่งพันนี้ ได้เรียบเรียงอรรถกถาภาษาบาลีขึ้นมาจากอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬ ที่ถูกเรียกแยกออกไปให้เป็นต่างหากว่า “โปราณัฏฐกถา” ข้อที่ควรทราบอันสำคัญก็คือ ในอรรถกถาภาษาบาลีที่เป็นรุ่นใหม่นี้ ท่านอ้างอิงโปราณัฏฐกถาบ่อยๆ โดยบางทีก็ออกชื่อเฉพาะของอรรถกถาเก่านั้นชัดออกมา แต่บางทีก็กล่าวเพียงว่า “ในอรรถกถากล่าวว่า…” คำว่าอรรถกถา ที่อรรถกถาภาษาบาลีกล่าวถึงนั้น โดยทั่วไป หมายถึงอรรถกถาเก่า หรือโปราณัฏฐกถา ที่เป็นภาษาสิงหฬ (พระอรรถกถาจารย์รุ่นใหม่นี้ บางท่านยังไม่พบว่าได้เรียกงานที่ท่านเองทำว่าเป็นอรรถกถา) พูดสั้นๆ ว่า คนปัจจุบันพูดถึงอรรถกถา หมายถึงอรรถกถาภาษาบาลีที่เกิดมีในยุค พ.ศ.๑๐๐๐ แต่อรรถกถาภาษาบาลีนั้นเอ่ยคำว่าอรรถกถา โดยมักหมายถึงอรรถกถาเก่าภาษาสิงหฬ
ต่อจากอรรถกถา ยังมีคัมภีร์ที่อธิบายรุ่นต่อมาอีกหลายชั้นเป็นอันมาก เริ่มแต่ “ฎีกา” (ฏีกา) แจงไขขยายความต่อจากอรรถกถา “อนุฎีกา” แจงไขขยายความต่อจากฎีกา แต่ในที่นี้จะไม่กล่าวถึง เว้นแต่จะขอบอกนามท่านผู้แต่ง “ฎีกา” ที่สำคัญ พอให้ทราบไว้
พระอาจารย์ธรรมปาละ ซึ่งเป็นพระอรรถกถาจารย์สำคัญที่เรียบเรียงอรรถกถาไว้มาก รองจากพระพุทธโฆส ได้เรียบเรียงฎีกาสำคัญ ซึ่งอธิบายอรรถกถาที่พระพุทธโฆสได้เรียบเรียงไว้อีกด้วย คือ ลีนัตถปกาสินี (เป็นฎีกาซึ่งอธิบายอรรถกถาแห่งนิกายทั้งสี่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย และอธิบายอรรถกถาแห่งชาดก) นอกจากนั้นก็ยังได้เรียบเรียง ปรมัตถทีปนี (ฎีกาอธิบายอรรถกถาแห่งพุทธวงส์ ที่พระพุทธทัตตะเรียบเรียงไว้) และปรมัตถมัญชุสา (ฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์ ที่เรียกกันว่ามหาฎีกา), ฎีกาจารย์ท่านหนึ่ง ชื่อพระวาจิสสระ รจนา ลีนัตถทีปนี (ฎีกาอันอธิบายต่อจากอรรถกถาแห่งปฏิสัมภิทามัคค์); นอกจากนี้ มีฎีกาอีก ๒ เรื่อง ที่ควรกล่าวไว้ด้วย เพราะกำหนดให้ใช้เล่าเรียนในหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย คือ สารัตถทีปนี (ฎีกาแห่งวินยัฏฐกถา) ผู้แต่งคือพระอาจารย์ชื่อสารีบุตร (ไม่ใช่พระสารีบุตรอัครสาวก) และ อภิธัมมัตถวิภาวินี (ฎีกาแห่งอภิธัมมัตถสังคหะ) ผู้แต่งคือพระสุมังคละ.
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การเลือกเชื่อเป็นสิ่งที่ดี
: แต่การรู้จักเลือกเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
#บาลีวันละคำ (3,399)
2-10-64