คว่ำบาตร (บาลีวันละคำ 1,115)
คว่ำบาตร
“คว่ำ” เป็นคำไทย
“บาตร” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” บาลีเป็น “ปตฺต”
เราใช้อิงสันสกฤตเป็น “บาตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) คว่ำ : (คำกริยา) พลิกเอาด้านบนลงล่าง เช่น รถคว่ำ เรือคว่ำ; กิริยาที่เอาด้านหน้าลง เช่น นอนคว่ำ, กิริยาที่เอาด้านบนลงล่าง เช่น คว่ำชาม, ตรงข้ามกับ หงาย; เรียกใบหน้าที่แสดงอาการไม่พอใจหรือโกรธจนไม่เงยหน้าขึ้นมองดูว่า หน้าคว่ำ; โดยปริยายหมายความว่า ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้ เช่น คว่ำคู่ต่อสู้.
(2) บาตร : (คำนาม) ภาชนะชนิดหนึ่งสําหรับภิกษุสามเณรใช้รับอาหารบิณฑบาต.
ในที่นี้ “คว่ำ” มีความหมายว่า “กิริยาที่เอาด้านบนลงล่าง เช่น คว่ำชาม, ตรงข้ามกับ หงาย”
“คว่ำบาตร” แปลกลับเป็นบาลีว่า “ปตฺตนิกฺกุชฺชนา” อ่านว่า ปัด-ตะ-นิก-กุด-ชะ-นา เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ ประกอบด้วย ปตฺต + นิกฺกุชฺชนา
“ปตฺต” แปลว่า บาตร
“นิกฺกุชฺชนา” แปลว่า ก้มลง, คว่ำลง
ปตฺตนิกฺกุชฺชนา แปลตรงตัวว่า “คว่ำบาตร”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“คว่ำบาตร : การที่สงฆ์ลงโทษอุบาสกผู้ปรารถนาร้ายต่อพระรัตนตรัย โดยประกาศให้ภิกษุทั้งหลายไม่คบด้วย คือไม่รับบิณฑบาต ไม่รับนิมนต์ ไม่รับไทยธรรม, บุคคลต้นบัญญัติ คือวัฑฒลิจฉวี ซึ่งถูกสงฆ์คว่ำบาตร เพราะโจทพระทัพพมัลลบุตร ด้วยสีลวิบัติอันไม่มีมูล, คำเดิมตามบาลีว่า ปัตตนิกกุชชนา”
ต้นเรื่องย่อๆ ก็คือ เจ้าลิจฉวีองค์หนึ่งชื่อวัฑฒะ กล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรซึ่งเป็นพระอรหันต์ว่าเสพเมถุนกับเมตติยาภิกษุณี เมื่อสอบสวนได้ความว่าเป็นเรื่องเท็จ พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติการลงโทษคว่ำบาตร
การคว่ำบาตรต้องทำเป็นสังฆกรรมประเภท “ญัตติทุติยกรรม” (ยัด-ติ-ทุ-ติ-ยะ-กำ) (แปลว่า “กรรมมีญัตติเป็นที่สอง” หรือ “กรรมมีวาจาครบ 2 ทั้งญัตติ” หมายถึงสังฆกรรมอันทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว) คือประชุมสงฆ์แล้ว (1) เสนอญัตติ และ (2) ประกาศเป็นข้อตกลงของสงฆ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“คว่ำบาตร : (สํานวน) (คำกริยา) ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย, เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับบิณฑบาต เป็นต้น.”
: คนบางคนไม่คบสังคม
: แต่คนบางคนสังคมไม่คบ
13-6-58