ตกลงเอากันอย่างนี้นะครับ
ตกลงเอากันอย่างนี้นะครับ
————————–
เมื่อวันก่อน (๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓) ผมโพสต์ข้อความสั้นๆ ว่า
…………..
พระพุทธรูปปางปรินิพพาน
ถามเป็นภาษาบ้านๆ
ว่าท่านนอนหงายหรือนอนตะแคง?
…………..
ต้นเหตุก็มาจากได้เห็นภาพที่ญาติมิตรหลายท่านนำมาโพสต์เนื่องในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ หรือที่เรียกกันว่า “วันอัฐมีบูชา”
ภาพที่เห็นอันเป็นต้นเหตุให้สงสัยก็คือ ภาพพระบาททั้งสองข้างที่ยื่นออกมาข้างนอกหีบ อันเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระมหากัสสปเถระถวายอภิวาทแล้วอธิษฐานขอเห็นพระพุทธบาทเป็นครั้งสุดท้าย ขณะนั้นพระพุทธสรีระประดิษฐานอยู่ในหีบ (คัมภีร์ว่าอยู่ในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมันหอม) บนพระจิตกาธาน เตรียมที่จะถวายพระเพลิง
สิ้นคำอธิษฐาน พระพุทธบาทก็สำแดงปาฏิหาริย์ยื่นออกมาภายนอก เมื่อพระมหากัสสปเถระถวายอภิวาทสมปรารถนาแล้ว พระพุทธบาทก็กลับเข้าไปภายในดังเดิม
คนภายหลังเอาเหตุการณ์ตอนนี้มาสร้างเป็นภาพพระพุทธบาทปรากฏออกมานอกหีบดังที่เราเห็นกันทั่วไปและที่นำมาเผยแพร่กันในวันอัฐมีบูชาที่ผ่านมา
ปัญหาก็คือ พระบาททั้งคู่ที่ยื่นออกมานั้นต่างกันเป็น ๒ แบบ
แบบหนึ่งพระบาทเรียงกัน อย่างคนนอนหงาย
แบบหนึ่งพระบาทซ้อนกัน อย่างคนนอนคะแคง
ผมจึงร้องถามขึ้นว่า พระพุทธรูปปางปรินิพพานท่านนอนหงายหรือนอนตะแคง?
ในใจผมนั้น พยายามอธิบายช่วยไม่ให้นักเรียสอบตก คืออธิบายว่า ตอนเสด็จอนุฏฐานไสยาสน์เหนือแท่นระหว่างต้นสาละทั้งคู่จนกระทั่งปรินิพพานนั้น ทรงนอนตะแคงขวา ที่เรียกว่า “สีหไสยาสน์”
มหาปรินิพพานสูตรก็บรรยายไว้ชัดเจนว่า
…………..
อายสฺมา อานนฺโท ภควโต ปฏิสฺสุตฺวา อนฺตเรน ยมกสาลานํ อุตฺตรสีสกํ มญฺจกํ ปญฺญเปสิ. อถโข ภควา ทกฺขิเณน ปสฺเสน สีหเสยฺยํ กปฺเปสิ ปาเทน ปาทํ อจฺจาธาย สโต สมฺปชาโน.
ท่านพระอานนท์จัดเตียงระหว่างไม้สาละทั้งคู่หันพระเศียรไปทางทิศอุดร พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวาทรงซ้อนพระบาทเหลื่อมพระบาท มีพระสติสัมปชัญญะ
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๑๒๘
…………..
แต่เมื่อถึงตอนที่ห่อพระพุทธสรีระด้วยผ้า ๕๐๐ ชั้นแล้วอัญเชิญลงในหีบ (หรือในรางเหล็ก) มัลลปาโมกข์ผู้เป็นเจ้าพนักงานน่าจะจัดพระพุทธสรีระให้นอนหงาย – นี่พยายามตีความช่วยนะครับ
เป็นอันว่า นอนตะแคงขวาก็ถูก นอนหงายก็ถูก
แต่แล้วก็ยังไม่พ้นผิดจนได้
ไม่พ้นผิดยังไง?
ก็ตรงที่พระบาททั้งคู่ที่ยื่นออกมานอกหีบในสถานที่เดียวกันและเหตุการณ์เดียวกันนั่นเอง ทำไมต่างกันเป็น ๒ แบบ
แบบหนึ่งพระบาทเรียงกัน อย่างคนนอนหงาย
แบบหนึ่งพระบาทซ้อนกัน อย่างคนนอนคะแคง
เหตุการณ์ตรงนี้ จะหงายหรือจะตะแคงก็ต้องตรงกัน ไม่ใช่แย้งกันแบบที่เห็น
ตรงนี้แหละครับที่ไม่รู้จะ “อธิบายช่วย” เพื่อไม่ให้สอบตกได้ยังไง
ก็คงต้องพูดกันตรงๆ ว่า ช่างที่ทำเรื่องนี้หรือคนที่ออกหัวคิดให้ช่างทำเรื่องนี้ยังเข้าใจเรื่องไม่ตรงกัน
—————–
เรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติที่เข้าใจไม่ตรงกันนี้ยังมีอีก ขอยกมาเป็นตัวอย่างสัก ๒ เรื่อง เฉพาะที่ได้เห็นมา
เรื่องหนึ่งก็คือ “ยมกปาฏิหาริย์”
เคยเห็นภาพชุดพุทธประวัติที่ศิลปินเรืองนามวาดออกมา ตอนยมกปาฏิหาริย์นี้ท่านวาดเป็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งคู่กัน ประทับยืนคู่กัน บรรทมคู่กัน คือมีพระพุทธเจ้าในอิริยาบถเดียวกันเป็นคู่ๆ ตามคำว่า “ยมกปาฏิหาริย์” ที่เข้าใจกันว่าพระพุทธเจ้าทรงทำปาฏิหาริย์โดยเนรมิตพระองค์เป็นคู่ๆ (“ยมก” แปลว่า “คู่”)
โปรดทราบว่า “ยมกปาฏิหาริย์” ไม่ใช่มีพระพุทธเจ้าเป็นคู่ๆ แบบที่วาดภาพนั่น
ในคัมภีร์ท่านอธิบายไว้ชัดว่า “ยมกปาฏิหาริย์” คือพระพุทธเจ้าทรงเนรมิตให้มี “อคฺคิกฺขนฺโธ” (ไฟที่ออกเป็นสาย) และ “อุทกธารา” (น้ำที่ออกเป็นสาย) พุ่งออกจากพระวรกาย เช่น ไฟพุ่งออกจากพระกรรณเบื้องขวา น้ำพุ่งออกจากพระกรรณเบื้องซ้าย ไฟพุ่งออกทางเบื้องบน น้ำพุ่งออกทางเบื้องล่าง เป็นต้น สลับกันเป็นคู่ๆ แบบนี้
“ยมกปาฏิหาริย์” คือปาฏิหาริย์คู่ระหว่างไฟกับน้ำที่ออกจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า
แต่ในยมกปาฏิหาริย์ก็มีพระพุทธนิรมิตด้วย เดี๋ยวจะว่าไม่มี แต่ทรงเนรมิตให้ทำกิริยาต่างๆ กันไป เช่น พระพุทธเจ้าองค์จริงประทับนั่ง พระพุทธนิรมิตก็ประทับยืนบ้าง จงกรมบ้าง บรรทมบ้าง ต่างๆ กันออกไป คือเห็นเป็นพระพุทธเจ้าหลายองค์อยู่ในอิริยาบถต่างๆ กัน
ไม่ใช่เนรมิตพระพุทธเจ้าเป็นคู่ๆ อย่างภาพเขียน
อีกเรื่องหนึ่งคือ พระพุทธรูปปาง “นาคาวโลก”
พระพุทธรูปหรือภาพเขียนที่แสดงปางนาคาวโลกที่ปรากฏทั่วไปจะทำเป็นพระพุทธเจ้าผินพระพักตร์หรือเอี้ยวพระองค์ทอดพระเนตรไปด้านข้าง
พูดภาษาบ้านๆ ก็คือพระพุทธเจ้าเหลียวไปมองข้างหลัง
โปรดทราบว่า “นาคาวโลก” ไม่ใช่แบบนั้น
คนธรรมดาเวลาจะดูอะไรที่อยู่ด้านหลัง ยืนอยู่กับที่ ลำตัวท่อนล่างอยู่ในทิศทางเดิม ลำตัวท่อนบนอาจเอี้ยวไปเล็กน้อย เอี้ยวคอหันไปด้านข้างให้สุดก็สามารถมองเห็นด้านหลังได้
แต่พระพุทธองค์ทรงทำเช่นนั้นไม่ได้ เหตุผลตามคำของอรรถกถาก็คือ “พระอัฐิของพระพุทธเจ้าติดเป็นเนื้อเดียวกันเหมือนแท่งทองคำ”
เพราะฉะนั้น ถ้าจะหัน ต้องหันหมดทั้งพระองค์ แบบเดียวกับช้าง
ช้างมันหันเฉพาะคอกลับมาดูข้างหลังไม่ได้ ต้องหันหมดทั้งตัวฉันใด พระพุทธองค์จะทอดพระเนตรด้านหลัง ก็ต้องหันกลับมาทั้งพระองค์ฉันนั้น
นี่เองคือเหตุผลที่เรียกว่า “นาคาวโลก” ซึ่งแปลว่า “เหลียวมองอย่างช้าง”
คือไม่ใช่หันหน้าไปมองหรือเอี้ยวตัวมอง แต่ต้องหันทั้งตัวไปมอง-แบบกลับหลังหัน
…………………
แถมอีกเรื่องหนึ่งครับ
ในคัมภีร์ เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงบรรทม จะระบุชัดว่า ทรงสำเร็จสีหไสยาโดยปรัศว์เบื้องขวาเท่านั้น
พูดภาษาบ้านๆ ว่า พระพุทธเจ้านอนตะแคงขวาท่าเดียว ไม่นอนหงาย
อรรถกถาอธิบายว่า นอนหงายคือนอนอย่างเปรต
แต่เวลานี้มีผู้สร้างพระพุทธไสยาสน์นอนหงายขึ้นมาแล้ว (ดูภาพประกอบ)
ผู้สร้างจะได้หลักวิชามาอย่างไร ก็คงต้องศึกษากันต่อไป
—————–
ปัญหาก็คือ เมื่อมีอะไรไม่ถูกไม่ตรง ไม่เป็นไปตามหลักวิชาหรือหลักฐาน และเราได้รู้ได้เห็นว่าเรื่องนั้นๆ ไม่ถูกไม่ตรง จะทำอย่างไรกันดี?
ที่นิยมทำกันในเวลานี้ก็คือ ไม่ต้องทำอะไร
หมายความว่า ให้อยู่กันไปเฉยๆ เงียบๆ อย่าได้หยิบยกขึ้นมาพูด โดยเฉพาะหยิบยกขึ้นมาพูดว่าไม่ถูกไม่ตรง – อย่าพูดเป็นดีที่สุด
จะไม่ถูกไม่ตรงอย่างไร ก็ให้ปล่อยไป อย่าไปแตะต้อง
ผมเข้าใจว่า เวลานี้ถือกันอย่างนี้จนเป็นมารยาทที่ดีอย่างหนึ่งไปแล้ว
ใครขืนไปแตะต้องอะไรที่มีคนทำไม่ถูกไม่ตรง-แม้ที่ปรากฏให้เห็นเป็นสาธารณะ จะถือว่าเสียมารยาทอย่างยิ่ง และจะถูกรุมประณามทันทีว่า “ดีแต่จับผิดชาวบ้านเขา” บ้าง “ว่างมากนักเรอะ” บ้าง
คนทั้งหลายโดนเข้าอย่างนี้ จึงต่างก็รักตัวกลัวตายกันอยู่โดยทั่วหน้า
แต่ถ้าใครพยายามช่วยอธิบายผิดนั้นให้กลายเป็นถูกได้-โดยไม่ต้องแก้ไขอะไรทั้งสิ้น ก็จะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นบุคคลที่หาได้ยาก และจะเป็นที่ชื่นชมยินดีกันทั่วไป
เป็นอันว่า เราจะปล่อยให้เรื่องที่มีคนทำไม่ถูกไม่ตรงให้คงอยู่เช่นนั้นต่อไป ด้วยเหตุผลว่า การไปแตะต้องเข้าเป็นการเสียมารยาท และอีกประการหนึ่ง สักวันหนึ่งก็จะต้องมีคนที่มีสติปัญญาดีล้ำเลิศมาช่วยอธิบายให้มันกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องขึ้นมาเองจนได้นั่นแหละ
ตกลงเอากันอย่างนี้นะครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓
๑๗:๔๗
…………………………….