บาลีวันละคำ

บรมศพ กับ พุทธสรีระ (บาลีวันละคำ 2,893)

บรมศพ กับ พุทธสรีระ

ควรจะใช้คำไหน-เกี่ยวกับวันอัฐมีบูชา

(ก) “บรมศพ” อ่านว่า บอ-รม-มะ-สบ ประกอบด้วยคำว่า บรม + ศพ

(๑) “บรม

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นําหน้าคําที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “ศพ

บาลีเป็น “ฉว” อ่านว่า ฉะ-วะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ฉวฺ (ธาตุ = เน่า, เปื่อย; ตัด, ขาด) + (อะ) ปัจจัย

: ฉวฺ + = ฉว แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เน่าเปื่อย” (2) “ร่างที่ตัดขาดจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และคุณความดีมีศรัทธาเป็นต้น” (3) “ร่างที่ตัดความปีติโสมนัสใจของคนที่เห็นหรือที่ได้สูดดม

(2) สวฺ (ธาตุ = แปรเปลี่ยน) + (อะ) ปัจจัย, แปลง ที่ -(วฺ) เป็น (สวฺ > ฉว)

: สวฺ + = สว > ฉว แปลตามศัพท์ว่า “ร่างที่แปรเปลี่ยนไป

ฉว” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคำนาม หมายถึง ศพ (a corpse)

(2) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง เลว, ต่ำ, น่าสมเพช, ชั่วช้า, เลวทราม (vile, low, miserable, wretched)

บาลี “ฉว” สันสกฤตเป็น “ศว

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ศว : (คำนาม) ‘ศพ,’ ผี, ร่างซึ่งสิ้นลมปราณแล้ว; a corpse, a dead body.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤต แต่แผลง เป็น ตามหลักนิยมของไทย จึงเป็น “ศพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศพ : (คำนาม) ซากผี, ร่างคนที่ตายแล้ว. (ส. ศว; ป. ฉว).”

บรม + ศพ = บรมศพ แปลว่า “ศพของผู้ยิ่งใหญ่

(ข) “พุทธสรีระ” อ่านว่า พุด-ทะ-สะ-รี-ระ ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + สรีระ

(๑) “พุทธ

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

(๒) “สรีระ

บาลีเขียน “สรีร” อ่านว่า สะ-รี-ระ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = เป็นไป, เบียดเบียน) + อีร ปัจจัย

: สรฺ + อีร = สรีร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ร่างที่เป็นไปตามปกติ” คือเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกสลายไปตามธรรมดา

(2) “ร่างที่เบียดเบียนลม” คือทำให้ลมผ่านไม่สะดวกเนื่องจากมาปะทะกับร่าง

สรีร” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ร่างกาย, โครงร่างของสิ่งใดๆ ที่เป็นวัตถุ (the body, the physical body)

(2) ร่างกายคนตาย, ซากศพ (a dead body, a corpse)

(3) กระดูก (the bones)

(4) ส่วนของร่างกายของผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว (relics)

ในที่นี้ใช้ตามความหมายในข้อ (2)

บาลี “สรีร” สันสกฤตเป็น “ศรีร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศรีร : (คำนาม) กาย, ร่าง, ตัว; the body.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สรีร-, สรีระ : (คำนาม) ร่างกาย. (ป.; ส. ศรีร).”

พุทธ + สรีระ = พุทธสรีระ แปลว่า “ร่าง (ซึ่งสิ้นลมปราณแล้ว) ของพระพุทธเจ้า

อภิปราย :

วันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6) ชาวพุทธรู้กันว่าเป็นวัน “อัฐมีบูชา” (อัด-ถะ-มี-บู-ชา)

เมื่อถึงวันเช่นนี้ เราจะได้ยินคำที่พูดกันมาก 2 คำ คือ

(1) วันถวายพระเพลิงพระบรมศพ

(2) วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

ผู้เขียนบาลีวันละคำตั้งเป็นคำถามว่า ควรจะใช้คำไหน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “อัฐมี” บอกไว้ว่า –

อัฐมี : (คำนาม) ดิถีที่ ๘, เรียกวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ว่า วันอัฐมี.”

พจนานุกรมฯ ใช้คำว่า “ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า”

ไม่ใช้คำว่า “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ” หรือ “ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ” แต่ใช้คำตัดตรงไปที่ “ถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า” เลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์วันเช่นนี้ ก็ยังมีผู้พูดว่า “ถวายพระเพลิงพระบรมศพ” (ของพระพุทธเจ้า) หรือไม่ก็ “ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ” อยู่นั่นเอง

ถามใหม่ว่า ถ้าจะเรียก “ร่างซึ่งสิ้นลมปราณแล้วของพระพุทธเจ้า” ถ้าไม่ใช้คำว่า “ร่างของพระพุทธเจ้า” ควรใช้คำไหน ระหว่าง “พระบรมศพ” กับ “พระพุทธสรีระ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเลือกคำว่า “พระพุทธสรีระ

เหตุที่ไม่เลือก “พระบรมศพ” เพราะคำว่า “พระบรมศพ” ไม่ได้จำกัดชัดเจน เช่นศพของพระเจ้าแผ่นดิน ก็เรียกว่า “พระบรมศพ” เช่นกัน

แต่คำว่า “พระพุทธสรีระ” จำกัดชัดเจน ไม่ได้หมายถึงผู้อื่น และจะใช้กับบุคคลอื่นก็ไม่ได้ด้วย ต้องใช้กับพระพุทธเจ้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หนังสือ “ปฐมสมโพธกถา” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เมื่อบรรยายความตอนนี้ก็ใช้คำหลากหลาย ทั้ง “พระศพ” “พระบรมศพ” “พระสรีรกาย” “พระพุทธสรีรศพ” “พระพุทธอศุภสรีรกาย” “พระอศุภสรีราพยพ” (ดูภาพประกอบ)

ถึงกระนั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำก็ยังขอเลือกคำว่า “พระพุทธสรีระ” อยู่นั่นเอง เหตุผลสำคัญก็คือ ในมหาปรินิพพานสูตร คัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 152, 153, 156 เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ท่านใช้คำว่า “ภควโต สรีร” ทุกครั้ง

ภควโต สรีร” (พะ-คะ-วะ-โต สะ-รี-ระ) แปลว่า “สรีระของพระผู้มีพระภาค” เป็นความหมายเดียวกับ “พุทธสรีระ” นั่นเอง

การใช้คำว่า “พระพุทธสรีระ” จึงสอดคล้องกับคำในพระไตรปิฎก ด้วยประการฉะนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

ชีวิตที่น่าอวด :

ถ้ามีแต่คนเป็นห่วงไม่อยากให้เราตาย

ชีวิตที่น่าอาย :

ถ้ามีแต่คนอยากเผาทั้งที่เรายังเป็น

#บาลีวันละคำ (2,893)

14-5-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย