บาลีวันละคำ

ปุญฺญ (บาลีวันละคำ 53)

ปุญฺญ

อ่านว่า ปุน-ยะ

ปุญฺญ แปลตามรากศัพท์ว่า –

1 – “กรรมที่ชำระสันดานของผู้กระทำให้สะอาด

2 – “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา

3 – “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ

ปุญฺญ เอามาใช้ในภาษาไทย แปลง เป็น ลบ เสียตัวหนึ่ง ได้รูปเป็น “บุญ” อ่านว่า บุน

คำนี้ไม่มีปัญหาในทางเขียนหรืออ่าน แต่มีปัญหาในทางความเข้าใจ

คือคนส่วนมากเข้าใจว่า บุญคือการใส่บาตร การเอาเงินใส่ซองกฐินซองผ้าป่าหรือตู้รับบริจาค หรือการบริจาคทรัพย์สิ่งของให้แก่วัด โรงเรียน โรงพยาบาล หรือกิจการสาธารณกุศลต่างๆ เรียกกันว่า “ทำบุญ

การกระทำดังกล่าวข้างต้น เรียกให้ถูกความหมาย ต้องเรียกว่า “ทำทาน” ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของ “บุญ” เท่านั้น เรียกเต็มๆ ว่า “ทานมัย” (ทา-นะ-มัย) แปลว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้

ยังมีวิธี “ทำบุญ” อีกหลายวิธี เช่น ถือศีลก็เป็น “บุญ” เจริญสมาธิวิปัสสนาก็เป็นบุญ

ตามตำราท่านแสดง “วิธีทำบุญ” ไว้ถึง 10 วิธี

: เขียน “บาลีวันละคำ” ให้ความรู้แก่เพื่อนๆ facebook ก็เป็น “บุญ

บาลีวันละคำ (53)

26-6-55

(ศัพท์วิเคราะห์)

ปุนาติ อตฺตโน สนฺตานนฺติ ปุญฺญํ กรรมที่ชำระสันดานของตนให้สะอาด

ปุ ธาตุ ในความหมายว่าชำระ สะอาด ณฺย ปัจจัย ลง น อาคม ลบ ณฺ และสระหน้า แปลง นฺย เป็น ญ ซ้อน ญฺ

อตฺตโน การกํ ชนํ ปวติ ปุนาติ โสเธตีติ ปุญฺญํ กรรมที่ชำระผู้ทำให้สะอาด (เหมือน วิ.ต้น)

ปุชฺชภาวํ ชเนตีติ ปุญฺญํ กรรมที่ยังความน่าบูชาให้เกิด

ปุชฺช บทหน้า ชน ธาตุ ในความหมายว่าเกิด ณฺย ปัจจัย ลบ ชฺช ช และ ณ แปลง น เป็น ญ ซ้อน ญฺ

บุญ, บุญ-

  [บุน, บุนยะ-] น. การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี.ว. ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺ; ส. ปุณฺย).

“กรรมที่ชำระสันดานของผู้กระทำให้สะอาด”, “สภาวะอันทำให้เกิดความน่าบูชา”, “การกระทำอันทำให้เต็มอิ่มสมน้ำใจ”, ความดี, กรรมที่ดีงามเป็นประโยชน์, ความประพฤติชอบทางกายวาจาใจ, กุศล (มักหมายถึงโลกียกุศล หรือความดีที่ยังกอปรด้วยอุปธิ คือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ปรารถนากันในหมู่ชาวโลก เช่น โภคสมบัติ); บางทีหมายถึงผลของการประกอบกุศล หรือผลบุญนั่นเอง เช่นในพุทธพจน์ (ที.ปา.๑๑/๓๓/๖๒) ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะการสมาทานกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเหตุ บุญนี้ย่อมเจริญเพิ่มพูนอย่างนี้”, และมีพุทธพจน์ (ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๐/ ๒๔๐) ตรัสไว้ด้วยว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข” (บุญ ในพุทธพจน์นี้ ทรงเน้นที่การเจริญเมตตาจิต), พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาบุญ (“ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย” – ขุ.อิติ.๒๕/๒๐๐/ ๒๔๑; ๒๓๘/๒๗๐) คือฝึกปฏิบัติหัดทำให้ชีวิตเจริญงอกงามขึ้นในความดีและสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติที่ดี; ในการทำบุญ ไม่พึงละเลยพื้นฐานที่ตรงตามสภาพความเป็นจริงของชีวิต ให้ชีวิตและสิ่งแวดล้อมเจริญงอกงามหนุนกันขึ้นไปสู่ความดีงามที่สมบูรณ์ เช่น พึงระลึกถึงพุทธพจน์ (สํ.ส.๑๕/๑๔๖/๔๖) ที่ว่า “ชนเหล่าใด ปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน (รวมทั้งจัดเรือข้ามฟาก) จัดบริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเจริญงอกงาม ทั้งคืนทั้งวัน ตลอดทุกเวลา, ชนเหล่านั้น ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ถึงพร้อมด้วยศีล เป็นผู้เดินทางสวรรค์”, คัมภีร์ทั้งหลายกล่าวถึงบุญกรรมที่ชาวบ้านควรร่วมกันทำไว้เป็นอันมาก เช่น (ชา.อ.๑/๒๙๙) การปรับปรุงซ่อมแซมถนนหนทาง สร้างสะพาน ขุดสระน้ำ สร้างศาลาที่พักและที่ประชุม ปลูกสวนปลูกป่า ให้ทาน รักษาศีล; พระพุทธเจ้าตรัสประมวลหลักการทำบุญที่พึงศึกษาไว้ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ๓ (ขุ.อิติ. ๒๕/๒๓๘/๒๗๐) ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ได้แจกแจงให้เห็นตัวอย่างในการขยายความออกไปเป็น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (เช่น สงฺคณี.อ.๒๐๘); ตรงข้ามกับ บาป, เทียบ กุศล, ดู บุญกิริยาวัตถุ, อุปธิ

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย