บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ญาณปริปากํ อาคเมนฺโต

ญาณปริปากํ อาคเมนฺโต

————————–

เด็กรุ่นผมหัดว่ายน้ำกันตามแม่น้ำลำคลองหนองบึงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อุปกรณ์เครื่องช่วยก็ใช้ของที่หาได้ในพื้นถิ่น เช่นมะพร้าวห้าว ๒ ลูก ฉีกเปลือกเป็นเส้นผูกติดกันทาบไว้ตรงหน้าอกเวลาคว่ำหน้าลงกับน้ำ หรือไม่ก็หยวกทั้งท่อน ใช้เกาะแล้วกระทุ่มน้ำ 

คำว่า “หยวก” นี่เด็กไทยรุ่นใหม่คงไม่รู้จักแล้ว 

เด็กรุ่นใหม่ว่ายน้ำในสระน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อการว่ายน้ำตามโรงแรมหรือสถานประกอบธุรกิจบริการ ใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยที่ผลิตขึ้นเพื่อการฝึกว่ายน้ำโดยเฉพาะ

พอ “เป็นน้ำ” แล้ว ทีนี้ก็เล่นน้ำได้ตามสบาย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรให้รุงรัง 

ไม่มีแชมป์ว่ายน้ำคนไหนสวมห่วงยางลงแข่งขัน

แต่แชมป์ว่ายน้ำคนนั้นตอนฝึกว่ายน้ำเมื่ออายุ ๕ ขวบ เขาต้องสวมห่วงยาง 

อาจมีเด็กบางคน โดดลงน้ำแล้วว่ายน้ำได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เครื่องช่วย แต่ที่แน่ๆ ทำแบบนั้นไม่ได้ทุกคน

ผมกำลังจะสื่ออะไร? 

—————–

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ มีคนสร้างพระพุทธปฏิมารูปลักษณ์ต่างๆ ไว้เต็มเมือง ประเทศอื่นๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน 

บางประเทศ ผู้คนที่อยู่ในเมืองนั้นในปัจจุบันไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังพบเห็นพระพุทธปฏิมามีอยู่ในสถานที่ต่างๆ เป็นพยานหลักฐานยืนยันว่าแผ่นดินตรงนั้นเคยเป็นถิ่นของผู้นับถือพระพุทธศาสนามาแต่ก่อน 

เวลามีกรณีหลบหลู่พระพุทธปฏิมา เช่นขึ้นไปนั่งบนพระอังสา ขึ้นไปเหยียบพระเศียร ทำโถปัสสาวะเป็นพระพักตร์พระพุทธปฏิมา ฯลฯ 

ชาวพุทธก็เดือดดาลใจกันมาก 

แต่มีท่านจำพวกหนึ่งบอกว่า ถ้าเราไม่สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมาในโลก เราก็ไม่ต้องมีอะไรให้ใครมาลบหลู่ เป็นความผิดของเราเองที่ไปสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมา 

ท่านบางจำพวกก็อ้างว่า พระศาสดาไม่เคยสอนสาวกให้สร้างรูปเคารพ 

แต่คงไม่มีใครเชื่อว่าต้องทำลายล้างพระพุทธปฏิมาให้สูญสิ้นไปจากโลกหมดทุกเศษเสี้ยวส่วนเสียก่อนเราจึงบรรลุพระนิพพานกันได้ 

……………..

เอาละ มาถึงจุดที่ผมต้องการสื่อแล้ว 

พระพุทธปฏิมาก็เหมือนอุปกรณ์เครื่องช่วยว่ายน้ำนั่นแหละ 

มนุษย์ไม่ได้หลุดออกมาจากท้องแม่ก็ว่ายน้ำได้เลย หรือเป็นแชมป์ว่ายน้ำทันที หากแต่ต้องอาศัยเครื่องช่วยไปก่อน ฉันใด 

ชาวพุทธก็ไม่ได้มีอินทรีย์แก่กล้ามาตั้งแต่เกิด ชนิดเกิดปุ๊บก็ปฏิบัติธรรมบรรลุนิพพานได้ทันที ฉันนั้น 

เขาสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมาก็เพื่อเป็นสื่อในการเจริญพุทธานุสติ คือระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า หน่วงเหนี่ยวเอาพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ คือเป็นแรงบันดาลใจให้มีอุตสาหะปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้รู้ตามบรรลุตาม

ใครมีอินทรีย์แก่กล้าแล้วก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยพระพุทธปฏิมา

เหมือนคนว่ายน้ำเป็นแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ลูกมะพร้าว ท่อนหยวก หรือห่วงยาง

แต่คนที่เกิดมาก็มีอินทรีย์แก่กล้าได้เอง-เหมือนเด็กที่จับโยนลงน้ำก็ว่ายน้ำได้เอง-จะมีสักกี่คนกันเล่า? 

เพราะในหมู่มนุษย์มีอัธยาศัยแตกต่างกันหลายระดับเช่นนี้ จึงจำต้องมีวิธีการหลากหลายเพื่อให้เหมาะแก่ศักยภาพของแต่ละพวกแต่ละคน 

ก็เหมือนเราร่วมเดินทางไปด้วยกันนั่นแล ใครแข็งแรงก็เดินได้เร็ว ใครมีกำลังน้อยก็เดินช้า 

คนในหมู่ควรจะช่วยกันประคับประคองกันไปเพื่อจะได้รอดกันไปได้ทั้งหมดหรือรอดไปได้มากที่สุด 

ไม่ใช่เห็นใครอ่อนแอก็ถีบทิ้งส่งไปเลย

—————–

ในคัมภีร์มีเรื่องพระเถระรูปหนึ่ง ชื่อวักกลิ (วัก-กะ-ลิ) บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาด้วยเหตุผลที่-เรียกตามคำยอดฮิตก็ว่า-งมงาย ไร้สาระที่สุด นั่นคือ เพื่อจะยลโฉมพระพุทธองค์ได้ทั้งวันทั้งคืน

นี่ถ้าให้นักจิตวิทยาสมัยใหม่วิเคราะห์ ก็คงบอกว่าท่านอาจเป็นพวก homosexual 

พระพุทธองค์ก็ทรงทราบดีว่า กุลบุตรผู้นี้ตั้งอารมณ์ไว้ผิด 

สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติต่อท่าน ไม่ใช่ตำหนิเหยียดหยามว่า “งมงาย ไร้สาระ”

หากแต่คือ “ญาณปริปากํ อาคเมนฺโต” 

อ่านว่า ยา-นะ-ปะ-ริ-ปา-กัง อา-คะ-เมน-โต

แปลตามศัพท์ว่า “ยังความแก่รอบแห่งญาณให้มาอยู่

แปลแบบนี้ใครที่ไม่ได้เรียนบาลีฟังรู้เรื่องก็เก่งเอาการ 

แปลเพื่อการสื่อสารว่า “รอความพร้อม

เมื่ออยากดู ก็ให้ดูไป ดูให้เต็มที่ 

พระพุทธองค์ประทับที่ไหน เสด็จไปไหน พระวักกลิตามไปดูทุกที่ เรียกได้ว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ 

สังฆกิจสังฆกรรมไม่เป็นอันทำกันละ

ลองคิดดูตามประสาเรา พระพุทธองค์ต้องทรงอดทนขนาดไหน-ที่ยอมให้ภิกษุรูปหนึ่งกระทำสิ่งที่ “ไร้สาระ” อยู่ได้เป็นเวลานาน 

เมื่อทรงเห็นว่าพระวักกลิพร้อมแล้ว ก็ทรงทำอย่างที่อาจเรียกได้ว่า “หักดิบ” คือทรง “ขับ” หรือไล่ให้ไปให้พ้น วิธีการเช่นนี้ไม่ปรากฏว่าทรงใช้บ่อยนัก 

เหตุการณ์ตรงนี้เป็นที่มาของพุทธภาษิตที่ชาวเรานิยมพูดกันอยู่มาก นั่นคือ

โย  โข  วกฺกลิ  ธมฺมํ  ปสฺสติ  โส  มํ  ปสฺสติ. 

โย  มํ  ปสฺสติ  โส  ธมฺมํ  ปสฺสติ. 

ที่มา: วักกลิสูตร สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๗ ข้อ ๒๑๖ 

แปลความว่า – 

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา 

ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม

สุดท้าย พระวักกลิได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ 

พระพุทธองค์ทรงยกย่องเป็นเอตทัคคะในทาง “สัทธาธิมุต” (สัด-ทา-ทิ-มุด) แปลให้เข้าใจความว่า-ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธองค์อย่างที่สุดแล้วบรรลุถึงที่สุดแห่งธรรมได้ด้วยศรัทธานั้นเอง

—————-

ได้ยินว่ากรณีโรค Covid-19 นี่มีผู้ดำริให้ทางราชการจัดพิธีสวดมนต์ 

แต่มีเสียงตำหนิติเตียนว่า งมงาย ไร้สาระ 

ผมเชื่อว่า ผู้คิดจัดพิธีสวดมนต์ไม่ได้อ้างยืนยันเลยว่า สวดมนต์แล้วโรคภัยจะหายไปโดยไม่ต้องทำอะไรอีก

มีแต่ยืนยันว่า โรค Covid-19 จะหายไปได้ด้วยการป้องกันรักษาตามวิธีของแพทย์ ซึ่งทุกคนก็พร้อมใจกันปฏิบัติตามอยู่แล้ว 

แต่การจัดพิธีสวดมนต์เป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจวิธีหนึ่ง 

เพราะมนุษย์เราไม่ได้มีร่างกายอย่างเดียว แต่มีจิตใจด้วย 

พูดให้น่าสงสารก็ว่า-ขอแค่ความสุขทางใจเล็กๆ น้อยๆ 

ท่านผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า อาจบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยกราบไหว้พระพุทธปฏิมา และอาจไปนิพพานได้โดยไม่ต้องมามัวสวดมนต์ 

ก็ขออนุโมทนาในความสามารถของท่าน 

แต่ขอร้องให้กรุณาทำสิ่งที่เรียก “ญาณปริปากํ อาคเมนฺโต” สักหน่อยหนึ่งเถิด 

พิธีสวดมนต์นั้นใช้เวลาไม่นานหรอกครับ 

และเมื่อเสร็จพิธีแล้ว เราท่านมีเวลาอีกทั้งชีวิตที่จะช่วยกันประคับประคองประดาญาติของเราที่ยังมีอินทรีย์อ่อน ญาณยังไม่แก่กล้า ให้พัฒนาขึ้นไปอีก

ท่านผู้ที่มีอินทรีย์แก่กล้า อาจบรรลุธรรมได้โดยไม่ต้องอาศัยกราบไหว้พระพุทธปฏิมา และอาจไปนิพพานได้โดยไม่ต้องมามัวสวดมนต์ ท่านเป็น idol ที่วิเศษอยู่แล้ว ท่านนั่นแหละควรเป็นผู้นำในการช่วยกันยกระดับจิตใจของผู้ที่ยังอ่อนด้อยเหล่านั้น 

ตอนนี้ขอเพียง “ญาณปริปากํ อาคเมนฺโต” รอความพร้อมสักหน่อยหนึ่งเท่านั้น

พระพุทธองค์ผู้ทรงเป็นเอกอัครมหาบุรุษของโลกก็ยังทรงมีพระมหากรุณาใช้วิธีนี้นะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓

๑๓:๔๙

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *