บาลีวันละคำ

อาพาธพินาศ (บาลีวันละคำ 2,838)

อาพาธพินาศ

อ่านว่า อา-พาด-พิ-นาด

ประกอบด้วยคำว่า อาพาธ + พินาศ

(๑) “อาพาธ

บาลีอ่านว่า อา-พา-ทะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง) + พาธฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, ป่วน) + ปัจจัย

: อา + พาธฺ + = อาพาธ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง” “อาการที่ทำให้ปั่นป่วน” หมายถึง ความไข้, ความเจ็บป่วย, โรคภัยไข้เจ็บ (affliction, illness, disease)

ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อาพาธ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาพาธ : (คำกริยา) เจ็บป่วย (ใช้แก่ภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย แสดงสมุฏฐานของ “อาพาธ” ไว้ว่า –

(1) ปิตตสมุฏฺฐาน = เกิดจากน้ำดี

(2) เสมหสมุฏฺฐาน = เกิดจากเสมหะ

(3) วาตสมุฏฺฐาน = เกิดจากลม

(4) สันนิปาติกะ = เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน

(5) อุตุปริณามชะ = เกิดจากเปลี่ยนอากาศ

(6) วิสมปริหารชะ = เกิดจากบริหารร่างกายไม่เหมาะสม

(7) โอปักกมิกะ = เกิดจากเหตุปัจจุบันทันด่วน เช่นอุบัติเหตุ

(8) กัมมวิปากชะ = เกิดจากผลกรรม

ในจักกวัตตสูตร กล่าวไว้ว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี มนุษย์จะมี “อาพาธ” เพียง 3 ชนิดเท่านั้น คือ –

(1) อิจฺฉา = ความอยากกิน

(2) อนสนํ = ความไม่อยากกิน

(3) ชรา = ความแก่

(๒) “พินาศ

บาลีเป็น “วินาส” (วิ-นา-สะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นสฺ (ธาตุ = พินาศ, หายไป) + ปัจจัย, ลบ , ยืดเสียง อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (นสฺ > นาสฺ)

: วิ + นสฺ = วินส + = วิสนณ > วินส > วินาส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความหายไป” หมายถึง ความพินาศ, ความล่มจม, ความสูญหาย (destruction, ruin, loss)

วินาส” ใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตเป็น “วินาศ” (วิ-นาด) และแผลง เป็น ตามหลักนิยม จึงเป็น “พินาศ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พินาศ : (คำนาม) ความเสียหายสิ้นเชิง, ความเสียหายย่อยยับ. (คำกริยา) เสียหายสิ้นเชิง, เสียหายย่อยยับ. (ป. วินาส; ส. วินาศ).”

อาพาธ + พินาศ = อาพาธพินาศ

แปลเป็นคำประสมแบบไทยว่า “โรคภัยไข้เจ็บสูญหายไป” ก็ได้

แปลเป็นคำสมาสแบบบาลีว่า “ความสูญหายไปแห่งโรคภัยไข้เจ็บ” ก็ได้

ขยายความ :

หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระราชพิธีเดือน ๔ ว่าด้วยพิธีอาพาธพินาศ มีความตอนหนึ่ง ขอคัดมาเสนอเป็นคำอธิบายขยายความคำว่า “อาพาธพินาศ” ในที่นี้ ดังนี้ –

…………..

พระราชพิธีอาพาธพินาศนี้ จะสืบสาวเอาเหตุผลให้ได้ความว่ามีมาแต่ก่อนหรือไม่ก็ไม่ได้ความ ได้พบแต่ร่างหมายพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อปีมะโรงโทศก ๑๑๘๒ อ้างถึงพระราชพิธีอาพาธพินาศที่ได้ทำมาแต่ก่อนเมื่อปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเองทั้งสองคราว แต่ไม่ได้ความคราวแรกนั้นทำด้วยเหตุอันใด ตรวจดูในจดหมายเหตุก็ไม่ได้กล่าว ถึงท้ายปูมก็ไม่ได้แทงไว้ แต่การที่ทำขึ้นนั้นก็คงจะอาศัยเหตุที่เกิดโรคภัยที่เป็นมากๆ ทั่วกัน เช่นไข้ทรพิษหรืออหิวาตกโรค เพราะเมื่อเทียบเคียงดูกับประเทศอื่น ก็เห็นว่าจะเป็นอหิวาตกโรค เพราะในระยะนั้นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนแล้วเป็นระรานต่อมา … อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย เมื่อปีขาลโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ เป็นคราวแรก แล้วแผ่ไปทั้งประเทศยุโรปและประเทศเอเชีย คงจะมีเข้ามาถึงกรุงสยามนี้ด้วย แต่จะไม่ใหญ่โตมากมายเหมือนปีมะโรง จึงไม่มีผู้ใดจำผู้ใดเล่า การซึ่งเกิดทำพิธีกันขึ้นนั้น ก็คงจะเป็นด้วยเหตุความตกใจหวาดหวั่น ในการที่เกิดโรคภัยอันมีพิษร้ายแรงเสมอด้วยพิษงูขึ้นใหม่ๆ และเป็นมากๆ พร้อมกัน เมื่อจะคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่า เกิดขึ้นด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ในเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกากันมาแต่ก่อน ยาที่จะกินนั้นเล่าก็ต้องเป็นยาเดาขึ้นใหม่ทั้งสิ้น กินยาก็ต้องเป็นการลองไปในตัว คนจึงได้ตายมาก จนลงเห็นกันว่าไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ … ข้างฝ่ายไทยเราออกเชื่อผีมาแต่เดิมแล้ว ก็ตกลงกันโทษเอาว่าผีมาแขก …. ส่วนผู้มีใจเชื่อในพระรัตนตรัยมากกว่าผีสางเทวดา แต่ความสะดุ้งหวาดหวั่นต่อภัยอันตรายอันมีมาใกล้ตัวเข้าครอบงำแรงกล้า จนไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจให้สงบระงับอยู่ โดยพระพุทโธวาทในทางพิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น ก็คิดเสาะแสวงหาไป กว่าจะหาเหตุผลหนทางอันใด ให้เป็นเครื่องป้องกันอันตรายเหล่านี้ ให้เจือในพระพุทธศาสนาได้

ก็ความกลัวอันตรายเช่นนี้ ใช่ว่าจะพึ่งมีขึ้นในชั้นภายหลังนี้ก็หาไม่ ย่อมมีมาแต่ในเวลาใกล้ๆ ที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ผู้ซึ่งเคยคิดแก้ไขมาแต่ก่อน ได้ทำเป็นตัวอย่างไว้มีมาแล้ว เช่นคาถารัตนสูตรสำหรับอธิษฐานบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยอาศัยอ้างคุณพระรัตนตรัยเป็นต้นมีตัวอย่างมา เมื่อภัยเกิดขึ้นเช่นนี้ และซ้ำมีข้อสงสัยว่าเป็นด้วยผี ก็ไม่มีอะไรจะเหมาะยิ่งกว่าอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวมาว่าสำหรับปราบปรามพวกภูตผีปีศาจ ไม่ให้ทำร้ายมนุษย์ จึงได้คิดตั้งพระราชพิธีให้มีสวดอาฏานาฏิยปริตร แต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศ ตามความต้องการ ให้เป็นการที่เย็นใจของชนทั้งปวง ซึ่งนับพระพุทธศาสนา แต่การพระราชพิธีนั้นเป็นการคาดคะเนทำขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัยเช่นนี้ …

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ว่ายน้ำไม่ได้ อาศัยเรือข้ามน้ำ

: เมื่อถึงฝั่งแล้วจงจำ ไม่ต้องแบกเรือไป

#บาลีวันละคำ (2,838)

20-3-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย