บริวารยศ (บาลีวันละคำ 2,839)
บริวารยศ
หนึ่งในสามยศ
อ่านว่า บอ-ริ-วา-ระ-ยด
ประกอบด้วยคำว่า บริวาร + ยศ
(๑) “บริวาร”
บาลีเป็น “ปริวาร” (ปะ-ริ-วา-ระ) รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + วร (ธาตุ = ระวัง, ป้องกัน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (วรฺ > วาร)
: ปริ + วรฺ = ปริวรฺ + ณ = ปริวรณ > ปริวร > ปริวาร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ระวังโดยรอบ” “ผู้ป้องกันโดยรอบ” “เครื่องป้องกันโดยรอบ”
“ปริวาร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) คนแวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
(2) ผู้ติดตาม, สิ่งประกอบหรือของที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีเกียรติ, ความเคารพ, การรับใช้, การแสดงความภักดี, เกียรติคุณ (followers, accompaniment or possession as a sign of honour, and therefore meaning “respect,” attendance, homage, fame)
(3) ส่วนผสม, ส่วนที่เพิ่มเติม, บริขารหรือของจำเป็น (ingredient, accessories, requisite)
(4) เป็นชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายในวินัยปิฎกชื่อ ปริวาร, ส่วนเพิ่มเติม, ภาคผนวก (as N. it is the name of the last book of the Vinaya Piṭaka [“The Accessory”], the Appendix, a sort of résumé and index of the preceding books)
“ปริวาร” ในภาษาไทยใช้เป็น “บริวาร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริวาร : (คำนาม) ผู้แวดล้อมหรือผู้ติดตาม เช่น พระพุทธเจ้ามีภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร, สิ่งที่เป็นส่วนประกอบหรือสมทบสิ่งอื่นที่เป็นประธาน เช่น บริวารกฐิน. (คำวิเศษณ์) ที่แวดล้อม เช่น ดาวบริวาร. (ป., ส. ปริวาร).”
(๒) “ยศ”
บาลีเป็น “ยส” (-ส เสือ) อ่านว่า ยะ-สะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ยชฺ (ธาตุ = บูชา) + อ ปัจจัย, แปลง ช เป็น ส
: ยชฺ + อ = ยช > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องบูชา”
(2) ยา (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ส ปัจจัย, รัสสะ อา ที่ ยา เป็น อ (ยา > ย)
: ยา + ส = ยาส > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปทุกแห่ง” (ยศมีทั่วไปหมดทุกสังคม)
(3) ยสุ (ธาตุ = พยายาม) + อ ปัจจัย, ลบสระ อุ ที่สุดธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”) (ยสุ > ยส)
: ยสุ + อ = ยสุ > ยส แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเหตุให้เขายกย่องหรือแวดล้อม” ขยายความว่า “มีผู้ยกย่องหรือแวดล้อมด้วยเหตุอันใด ก็พยายามทำเหตุอันนั้น”
“ยส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ความรุ่งเรือง, ชื่อเสียง, กิตติศัพท์, ความสำเร็จ, ยศหรือตำแหน่งสูง (glory, fame, repute, success, high position)
“ยส” (ส เสือ) ภาษาไทยเขียนตามสันสกฤตเป็น “ยศ” (ศ ศาลา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ยศ : (คำนาม) ความยกย่องนับถือเกียรติของตน, เกียรติคุณ, ฐานันดรที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง มีสูงต่ำตามลำดับกันไป; เครื่องหมายพิเศษที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้มีฐานันดร มีสูงต่ำตามลำดับกันไป, เครื่องกําหนดหมายฐานะหรือชั้นของบุคคล. (คำวิเศษณ์) ที่แสดงฐานะหรือชั้น เช่น พัดยศ. (ส.; ป. ยส)”
ปริวาร + ยส = ปริวารยส (ปะ-ริ-วา-ระ-ยะ-สะ) เขียนแบไทยเป็น “บริวารยศ” (บอ-ริ-วา-ระ-ยด)
อธิบาย :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ยศ” ไว้ดังนี้ –
“ยศ : ความเป็นใหญ่และความยกย่องนับถือ; ในภาษาไทย มักได้ยินคำว่า เกียรติยศ ซึ่งบางครั้งมาคู่กับ อิสริยยศ และอาจจะมี ปริวารยศ หรือ บริวารยศ มาเข้าชุดด้วย รวมเป็น ยศ ๓ ประเภท.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ฯ เก็บคำนี้เป็น “ปริวารยศ” บอกไว้ดังนี้ –
“ปริวารยศ : ยศคือ (ความมี) บริวาร, ความเป็นใหญ่โดยบริวาร.”
“บริวารยศ” และ “ปริวารยศ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
ผู้รู้ท่านขยายความว่า “ยศ” มี 3 ประเภท คือ –
(1) อิสริย (อิด-สะ-ริ-ยะ) แปลว่า ความเป็นผู้ปกครอง, ความเป็นนาย, ความเป็นใหญ่, อำนาจปกครอง (rulership, mastership, supremacy, dominion)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “อิสริยยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความเป็นใหญ่ มีตำแหน่งหน้าที่ และมีสิทธิอำนาจที่ควบมากับตำแหน่งหน้าที่นั้น
(2) กิตฺติ (กิด-ติ) แปลว่า ชื่อเสียง, เกียรติยศ, ความรุ่งโรจน์, เกียรติ (fame, renown, glory, honour)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “เกียรติยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีชื่อเสียง เป็นที่สรรเสริญยกย่องนับถือของคนทั่วไป
(3) ปริวาร (ปะ-ริ-วา-ระ) แปลว่า สิ่งที่แวดล้อม, ผู้ติดตามไปเป็นกลุ่ม, บริวาร, สาวก, ผู้ติดสอยห้อยตาม, กระบวน (surrounding, suite, retinue, followers, entourage, pomp)
เรียกเป็นศัพท์ว่า “บริวารยศ” หมายถึง ยศที่เกิดจากความมีพวกพ้องญาติมิตรมาก มีผู้คนคอยเป็นกำลังสนับสนุนมาก
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนที่รักเราจริง
คือไม่ทิ้งเมื่อเรามีทุกข์
: คนที่เห็นกันเมื่อยามสุข
อาจทำให้เรายิ่งทุกข์เมื่อยามมีภัย
21-3-63