บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ด่วนมรณะ

ด่วนมรณะ

———-

ญาติมิตรคงเคยได้ยินคำว่า “ยุคมิคสัญญี” กันมาบ้างแล้ว

“มิค” แปลว่า เนื้อ หมายถึงเก้งกวางที่คนชอบล่าเอามาเป็นอาหาร

“สัญญี” แปลว่า “ผู้มีความรู้สึกนึกคิด” หรือ “ผู้เห็นไปว่า-”

“มิคสัญญี” (มิก-คะ-สัน-ยี) แปลว่า “เห็นกันเป็นเนื้อ” 

ยุคมิคสัญญี มีความหมายว่า ยุคสมัยที่ผู้คนมีความรู้สึกนึกคิดว่าคนที่ตนพบเห็นนั้นเป็นแค่เก้งกวางที่ควรจะไล่ล่า

ทุกวันนี้ใครไปฆ่าคนตาย มีความผิดทั้งทางกฎหมายและศีลธรรม

แต่ยุคมิคสัญญี คนฆ่าคนไม่มีความผิดด้วยประการใดๆ ทั้งสิ้น

มีค่าเท่ากับยิงเก้งตายไปตัวหนึ่งเท่านั้น

พูดให้เห็นภาพชัดก็ว่า ในยุคมิคสัญญี ฆ่าคนไปคนหนึ่ง คนยุคนั้นจะรู้สึกเหมือนกับตบยุงตายไปตัวหนึ่งในสมัยนี้เท่านั้นเอง

————-

ยุคมิคสัญญี-ฆ่ากันเป็นผักเป็นปลา-นั่นเป็นเพียงหัวขบวน

เรื่องอื่นๆ ก็จะเป็นแบบเดียวกัน

คิดตามกรอบศีล ๕ ก็คือ –

เรื่องลักขโมย กอบโกยโกงกิน

เรื่องสมสู่กัน

เรื่องโกหกปลิ้นปล้อน หลอกลวงต้มตุ๋น หน้าไหว้หลังหลอก

เรื่องเสพติดมัวเมาในสิ่งต่างๆ

เรื่องเหล่านี้มนุษย์ในยุคมิคสัญญีสามารถทำได้แบบไร้ขีดจำกัด

ทำขนาดไหนอย่างไร ก็ไม่มีความผิด 

ทำขนาดไหนอย่างไรก็ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นความผิดความชั่ว

————-

ขออนุญาตบรรยายความพอเป็นนิทัศนอุทาหรณ์ …

สมัยหนึ่ง รถหลวงจะติดข้อความว่า “ใช้ในราชการเท่านั้น”

สมัยนั้นใครเอารถหลวงไปใช้ส่วนตัว จะถูกตำหนิติเตียนจนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

แต่ ณ ปัจจุบันวันนี้การเอารถหลวงไปใช้ส่วนตัวเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด 

แทบจะไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด

ใครไม่ทำสิ ผิดธรรมดา

————-

การทุจริตโกงกินในหมู่ข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมือง-ในยุคแรกแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา-ถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง

ณ ปัจจุบันวันนี้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

นักการเมืองโกงกิน-โกงไปตั้งแต่โกงเลือกตั้ง โกงการออกเสียงในสภา หมกเม็ดโครงการต่างๆ เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ที่ควรจะตกแก่แผ่นดินและปวงมหาประชาชนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ

ณ ปัจจุบันวันนี้ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

แทบจะไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิด

ใครไม่ทำสิ ผิดธรรมดา

เป็นที่มาของเสียงปกป้องคนโกง ในทำนองที่ว่า –

เขาเข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง ก็ต้องยอมให้เขาได้กินบ้าง

ที่ไหนๆ มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ

ที่ประเทศนั้นประเทศโน้นก็โกง โกงมากกว่าบ้านเราอีก

เพราะฉะนั้น เรามีสิทธิ์โกงต่อไปโดยชอบธรรม

และไม่มีใครรังเกียจว่าเป็นความผิดความชั่ว

มิหนำซ้ำยังช่วยกันเถียงแทนและปกป้องให้เสียอีก

ผู้คนในสังคมช่วยกันขับเคลื่อนบ้านเมืองมุ่งหน้าสู่ “ยุคมิคสัญญี” อย่างขะมักเขม้น และมีความสุข ด้วยประการฉะนี้

————-

สรุปลักษณะเด่นของยุคมิคสัญญีก็คือ-ทำผิดทำชั่วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดความชั่ว

ปัญหาที่มักถกเถียงกันว่า-ความดีความชั่วเอาอะไรมาวัด-คนก็ชักจะเอียงไปทางที่ว่า ไม่มีอะไรดีชั่วในตัวมันเอง 

ดีชั่วขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมนั้นๆ 

ชั่วในสังคมหนึ่ง อาจเป็นเรื่องธรรมดาหรืออาจเป็นดีในอีกสังคมหนึ่ง

เวลานี้คนแทบจะไม่รู้จักดีชั่วตามสัจธรรม คือดีชั่วชนิดที่-ไม่ว่าใครจะเห็นเป็นอย่างไร สิ่งนั้นก็ดีหรือชั่วอย่างที่มันเป็น ไม่ดีหรือชั่วไปตามความเห็นของใคร

เวลานี้คนเชื่อว่าดีชั่วถูกผิดมีชนิดเดียว คือชนิดที่ขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม

เพราะนั้น อะไรที่คนนิยมทำกันมากๆ นั่นแหละดี นั่นแหละถูก

(ลองถามตัวเองว่า เราก็เป็นคนหนึ่งที่กำลังจะเห็นด้วย ใช่หรือไม่)

————-

อีกสักตัวอย่าง …

สังคมทหารมีระเบียบอยู่ว่า เมื่อแต่งเครื่องแบบออกไปนอกอาคารสถานที่ ต้องสวมหมวก

เรื่องนี้ ผมพูดได้เต็มปาก เพราะเมื่อแรกเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ถูกผู้บังคับบัญชากวดขันมาก-มากจนซึมเข้าไปถึงเยื่อในกระดูก!

เท้า-ทันทีที่ก้าวออกนอกอาคาร 

มือ-จะจับหมวกสวมโดยอัตโนมัติ

แต่เวลานี้ ใครลองสังเกตดูเถอะ ทหาร-ไม่ว่าเหล่าทัพไหน แต่งเครื่องแบบเดินเปลือยหัวไปได้ทุกถนนหนทาง

กลายเป็น “ท ทหารหมวกหาย” ไปหมดแล้วทั่วทั้งกองทัพ

เชื่อว่าอีกไม่นานกระทรวงกลาโหมจะต้องยกเลิกระเบียบเรื่องนี้

นี่คือ-ทำผิดทำชั่วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดความชั่ว-เพราะอ้างความนิยมของสังคม

————-

อาการของโรคมิคสัญญี คือ-ทำผิดทำชั่วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดความชั่ว-นี้ กำลังระบาดไปทุกวงการ 

ไม่เว้นแม้แต่ในสังคมสงฆ์

สังคมสงฆ์นั้นมีพระธรรมวินัยกำหนดไว้เป็นกรอบ หรือเป็นกฎ ชัดเจนว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หรืออะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ขออนุญาตแวะเข้าวัด

กฎของสงฆ์มี ๒ ส่วน คือ

๑ กฎอาทิพรหมจรรย์ คือส่วนที่-ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็เป็นพระอยู่ไม่ได้ หรือไม่ควรจะเป็นพระอยู่อีกต่อไป

๒ กฎอภิสมาจาร คือส่วนที่-ไม่ปฏิบัติตามก็ยังเป็นพระอยู่ได้ เพียงแต่ว่า-

ถ้าปฏิบัติก็เป็นพระงาม

ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็เป็นพระทราม

ตามปกติ กฎอาทิพรหมจรรย์พระสงฆ์ท่านจะถือปฏิบัติอย่างเข้มงวด

โปรดทราบไว้เป็นความรู้ว่า การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เจตนารมณ์ก็เพื่อทบทวนกวดขันกฎส่วนนี้นั่นเอง

ทุกวันนี้กฎทั้ง ๒ ส่วนนี้กะพร่องกะแพร่งลงไปเป็นอันมาก

การครองชีวิตของพระกำลังจะใกล้เคียง-หรือแทบจะไม่ต่างไปจากชาวบ้านเข้าไปทุกที

เป็นที่มาของเสียงปรารภของชาวบ้านว่า 

ทำไมพระทำอย่างนั้น 

พระทำอย่างนั้นได้หรือ

ฯลฯ

ในขณะที่ในหมู่พระสงฆ์ด้วยกันก็กำลังพยายามหาคำอธิบายมารองรับว่า การกระทำโน่นนี่นั่นอย่างที่ญาติโยมบ่นว่านั้นไม่เห็นจะเป็นความผิดความชั่วที่ตรงไหนเลย

ซึ่งก็คือ-ทำผิดทำชั่วก็ไม่รู้สึกว่าเป็นความผิดความชั่ว-อันเป็นลักษณะเด่นของยุคมิคสัญญีนั่นเอง

————-

ยุคมิคสัญญี คือยุคแห่งความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมนั้นมาถึงแน่ 

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นปรารภสู่กันฟัง มิใช่เพื่อจะให้ช่วยกันคิดแก้ไข 

เพราะทำอย่างไรก็ห้ามไม่ฟัง รั้งไม่หยุดอยู่แล้ว

เพียงแต่อยากให้ช่วยกันรู้ทันเอาไว้

เหมือนกับนั่งไปในรถไฟขบวนเดียวกัน 

และเรารู้แน่แล้วว่าปลายทางของรถไฟขบวนนี้คือหุบเหว

จะทำอะไร จะรักษาชีวิตกันอย่างไร ก็รีบๆ คิดอ่านกันเข้าเถิด

รถขบวนนี้หยุดไม่ได้นะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘

…………

โพสต์ซ้ำ: ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๒

๑๐:๕๘ 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *