บาลีวันละคำ

น้ำมูตรเน่า (บาลีวันละคำ 2,633)

น้ำมูตรเน่า

คือน้ำอะไร

มีปัญหาถกเถียงกันว่า ที่กล่าวถึงในวินัยของภิกษุว่า “ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” คำว่า “น้ำมูตรเน่า” คือน้ำอะไร?

ศึกษาที่มากันก่อน :

ที่เอาไปพูดกันว่า “ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า” ต้นเรื่องมาจากข้อความในพระไตรปิฎกดังนี้ –

…………..

ปูติมุตฺตเภสชฺชํ  นิสฺสาย  ปพฺพชฺชา  ตตฺถ  เต  ยาวชีวํ  อุสฺสาโห  กรณีโย.  อติเรกลาโภ  สปฺปิ  นวนีตํ  เตลํ  มธุ  ผาณิตนฺติ.

บรรพชาอาศัยปูติมุตตะ (น้ำมูตรเน่า) เป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต อดิเรกลาภ (สิ่งที่อนุญาตเป็นพิเศษ) คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้าผึ้ง น้ำอ้อย

ที่มา: วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 87, 143

…………..

ขยายความว่า วิถีชีวิตของภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อเกิดเจ็บป่วยให้ใช้ยาที่หาได้ตามธรรมชาติธรรมดา คือ “ปูติมุตตะ” (ปู-ติ-มุด-ตะ) แต่กระนั้นก็มีพุทธานุญาตให้ใช้สิ่งอื่นได้ด้วย คือ สปฺปิ = เนยใส, นวนีต = เนยข้น, เตล = น้ำมัน, มธุ = น้าผึ้ง, ผาณิต = น้ำอ้อย

…………..

ปูติมุตตะ” คืออะไร?

ในคัมภีร์ต่างๆ อธิบายคำว่า “ปูติมุตตะ” ไว้ ประมวลมาตามประสงค์ดังนี้ –

…………..

ปูติมุตฺตนฺติ  มุตฺตเมว.  ยถา  หิ  มนุสฺสภาโว  สุวณฺณวณฺโณปิ  ปูติกาโยเตฺวว  ตทหุชาตาปิ จ  ตรุณา จ  ลตา  ปูติลตาเตฺวว  วุจฺจติ  เอวํ  ตํขณํ  คหิตํ  ตรุณํปิ  มุตฺตํ  ปุติมุตฺตเมว.

คำว่า “ปูติมุตตะ” (ที่แปลตามศัพท์ว่า “น้ำมูตรเน่า”) ก็คือน้ำมูตรนั่นแหละ เหมือนอย่างว่าร่างกายของคนเราต่อให้เป็นสีทองก็ยังถูกเรียกว่า “กายเน่า” อยู่นั่นแหละ และเถาหัวเน่าที่แม้แต่เพิ่งเกิดในวันนั้นและยังอ่อนอยู่ ก็เรียกกันว่า “เถาหัวเน่า” อยู่นั่นแหละ ฉันใด น้ำมูตรที่ยังใหม่ๆ รองเอาไว้ในทันทีทันใด ก็เรียกว่า “ปูติมุตตะ” (น้ำมูตรเน่า) อยู่นั่นเองฉันนั้น

ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 2 อรรถกถามัชฌิมนิกาย หน้า 625 (มหาธัมมสมาทานสุตตวัณณนา)

…………..

ปูติมุตฺตนฺติ  ยงฺกิญฺจิ  โคมุตฺตํ.  ตตฺถ  เกจิ  โคมุตฺตภาวิตํ  หริตกีขณฺฑํ  ปูติมุตฺตนฺติ  วทนฺติ  ปูติภาเวน  อาปณาทิโต  วิสฺสฏฺฐํ  ฉฑฺฑิตํ  อปริคฺคหิตํ  ยงฺกิญฺจิ  เภสชฺชํ  ปูติมุตฺตนฺติ  อธิปฺเปตนฺติ  อปเร.

คำว่า “ปูติมุตตะ” ได้แก่ น้ำมูตรโค (เยี่ยววัว) ชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจารย์บางพวกเรียกชิ้นสมอที่ดองด้วยมูตรโคว่า “ปูติมุตตะ” อาจารย์อีกพวกหนึ่งกล่าวว่า เภสัชชนิดใดชนิดหนึ่งที่เขาสละ คือทิ้ง ได้แก่นำออกมาจากร้านตลาดเป็นต้นเพราะเป็นของเสีย ท่านประสงค์เอาว่าเป็น “ปูติมุตตะ

ที่มา: ปรมัตถทีปนี อรรถกถาอิติวุตตกะ หน้า 504 (จตุกกนิปาตวัณณนา)

…………..

ปูติมุตฺตนฺติ  โคมุตฺตปริภาวิตหรีฏกาทิ  จ.

คำว่า “ปูติมุตตะ” ได้แก่ ชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรโค (เยี่ยววัว) เป็นต้น

ที่มา: ปรมัตถทีปนี ภาค 2 อรรถกถาเถรคาถา หน้า 725 (มหากัสสปเถรคาถาวัณณนา)

…………..

ผู้เขียนบาลีวันละคำค้นได้เท่าที่ต้องการเพียงแค่นี้ก่อน ผู้มีอุตสาหะพึงช่วยกันค้นหาต่อไปอีก

สรุปว่า ในคัมภีร์แสดงมติของเกจิอาจารย์ถึงความหมายของ “ปูติมุตตะ” ไว้ 2 นัย คือ –

๑ นัยหนึ่งว่า หมายถึงชิ้นสมอที่ดองด้วยน้ำมูตรโค

๒ อีกนัยหนึ่งว่า หมายถึงเภสัชที่เขาสละ ทิ้ง หรือไม่มีใครหวงแหน (วิสฺสฏฺฐํ  ฉฑฺฑิตํ  อปริคฺคหิตํ) อันจะพึงหาได้ตามที่ต่างๆ

เป็นอันได้ความว่า “ปูติมุตตะ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “น้ำมูตรเน่า” ในคัมภีร์อธิบายว่าเป็น “เยี่ยววัว” ไม่ใช่ “เยี่ยวคน”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปูติมุตฺต” ว่า strong-smelling urine, usually urine of cattle used as medicine by the bhikkhu (มูตรมีกลิ่นแรง, โดยปกติมูตรโคที่ภิกษุใช้เป็นยา)

ดูเพิ่มเติม: “ปูติมุตเภสัชหนึ่งในจตุปัจจัย” บาลีวันละคำ (2,264) 24-8-61

หมายเหตุ :

ตามที่แสดงมานี้เป็นการตอบคำถามว่า “ปูติมุตตะ” ที่แปลกันว่า “น้ำมูตรเน่า” คืออะไร คำตอบตามคัมภีร์ก็คือ “โคมุตตะ” คือ เยี่ยววัว

แต่คำตอบนี้ไม่ใช่คำปฏิเสธว่า “เยี่ยวคน” เป็นสิ่งไม่ดี มีโทษ ไม่ควรใช้ ในคัมภีร์ (เท่าที่ค้นพบ) ท่านไม่ได้พูดถึง จึงไม่ควรใช้เหตุผลแบบตรรกะมาตีความ

“เยี่ยวคน” จะดีหรือไม่ดี มีโทษหรือไม่มี ใครอยากรู้หรืออยากยืนยันก็ควรทำตามหลักวิชา ไม่ใช่เอาความเชื่อส่วนตัวเป็นหลัก เราอาจอาศัยการค้นคว้าตามหลักการแพทย์สมัยใหม่เข้ามาช่วยได้ แพทย์ที่ศึกษาเรื่องนี้คงมีคำตอบ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: โรคไม่รู้บอกให้รู้ก็หมดฤทธิ์

: โรคหลงผิดบอกอย่างไรก็ไม่หาย

: รู้ถึงวันโลกล่มถล่มทลาย

: แต่วันตายของตูไม่รู้ตัว

————-

(ตามคำขอของ อัครเดช เดโชชัย)

#บาลีวันละคำ (2,633)

28-8-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย