ถ้าอำนาจรัฐไม่จัดสรร
ถ้าอำนาจรัฐไม่จัดสรร
ถ้าอำนาจรัฐไม่จัดสรร
———————–
ต่อให้เป็นพระอรหันต์ก็อยู่ไม่ได้ (๓)
……………………….
๓ นิติรัฐ: เรื่องที่ชาววัดยังไม่ตื่น
“นิติรัฐ” คืออะไร?
นิติรัฐก็คือ ประเทศที่ปกครองด้วยระบบกฎหมาย
อยากให้อะไรเป็นอะไร
อยากให้ใครทำอะไร
หรือไม่อยากให้ใครทำอะไร
ต้องออกเป็นกฎหมาย
ออกเป็นกฎหมายได้ ก็เป็นอันบรรลุภารกิจ
นิติรัฐจะยอมรับความเป็นจริงน้อยที่สุด หรืออาจจะไม่รับรู้เลยว่าเรื่องจริงๆ คืออะไร แต่จะรับรู้และยืนยันอยู่อย่างเดียวว่า “กฎหมายเขียนไว้อย่างไร”
กฎหมายเขียนไว้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
ใครทำอะไรให้ “เข้าล็อก” กฎหมายได้ คนนั้นชนะ
ตัดสินกันด้วยกฎหมาย จบที่กฎหมาย
ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ความเป็นสามี-ภรรยา
ใครจะเป็นผัวเป็นเมียกันมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา นิติรัฐไม่รับรู้ด้วย
นิติรัฐรับรู้เฉพาะทะเบียนสมรสเท่านั้น
ใครจดทะเบียนสมรสกัน นิติรัฐก็จะยอมรับว่าเป็นสามี-ภรรยากัน ใครตายก่อน อีกคนก็มีสิทธิ์ได้รับมรดก
ใครไม่ได้จดทะเบียน ต่อให้อยู่กินกันมาตั้งแต่โคตรไหนก็ไม่มีสิทธิ์ เว้นไว้แต่จะทำเรื่องร้องเรียน-ซึ่งก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายอีกนั่นแหละ
เมื่อครั้งที่มีการรณรงค์ให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีคนเป็นอันมาก-รวมทั้งคนวัด-ที่บอกว่า คนไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชีวิตอยู่แล้ว บ้านเมืองของเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จะต้องไปบัญญัติให้มันวุ่นวายอะไรกันอีกเล่า
นั่นก็เพราะยังไม่ตื่นเรื่องนิติรัฐ
เหมือนเมียที่บอกว่า ฉันอยู่กินกับเขามาตั้งแต่ไอ้คนร่างกฎหมายยังไม่เกิดโน่นแล้ว จะต้องไปจดทะเบียนเหมือนวัวเหมือนควายอะไรกันอีก
เรื่องนิติรัฐนี่แหละที่ชาววัดยังไม่ตื่นกันเป็นส่วนมาก
พูดอย่างไม่เกรงใจ – ลองไปถามดูเถอะ ตั้งแต่เจ้าอาวาสเพิ่งได้รับแต่งตั้งใหม่ ไปจนถึงกรรมการมหาเถรสมาคม ลองให้ท่านอธิบายเรื่องนิติรัฐ ท่านจะงงมากๆ แต่ส่วนใหญ่จะไม่รู้เรื่องเลย
นอกจากไม่รู้เรื่องแล้ว ก็ไม่เห็นความจำเป็นอีกด้วย-ไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องไปออกกฎหมายให้มันยุ่งยากทำไม
เราทำความดี มันก็เป็นความดีอยู่วันยังค่ำ
ประชาชนนับถือเรา เลื่อมใสเรา เป็นฝ่ายเรา เท่านี้ก็เสร็จเราแล้ว
เพราะคิดอย่างนี้แหละขอรับ พระจึงถูกจับเข้าคุกมานักต่อนักแล้ว – เพราะคิดว่าอาตมาทำความดี
เพราะฉะนั้น ต้องปรับกระบวนความคิดกันใหม่ได้แล้ว
ความดี ก็ต้องทำ ไม่เลิก เลิกไม่ได้
แต่กฎหมาย หรือหลักนิติรัฐ ก็ต้องรู้ต้องเข้าใจ
คือต้องเข้าใจว่า-เขาตัดสินกันด้วยกฎหมาย ทำอะไรจึงต้องมีกฎหมายรองรับ
และโปรดทราบว่า คำว่า “กฎหมาย” ในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะ “พระราชบัญญัติ” เท่านั้น แต่รวมหมดทุกอย่าง
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ฯลฯ ที่ประกาศออกมาโดยอิงอาศัยอยู่กับอำนาจรัฐ
อะไรก็ตาม ถ้ายังไม่มีกฎหมายรองรับ อย่าได้ไว้ใจเป็นอันขาดว่า-สำเร็จเราแล้ว
แม้มีกฎหมายรองรับ ก็อย่าเพิ่งไว้ใจ ต้องรู้ด้วยว่าใครใหญ่กว่าใคร
สมมุติว่า คณะสงฆ์ออกประกาศว่า ให้วัดทุกวัดเปิดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้แก่พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป
อย่านึกว่าเสร็จเราแล้วนะครับ
ถ้าเกิดผู้ได้อำนาจรัฐออกกฎหมายมาว่า ห้ามมิให้วัดจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้แก่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น
คราวนี้ เรานั่นแหละเสร็จเขา
คราวนี้ก็โอดครวญกันสิ ทำไมรัฐบาลทำอย่างนี้ นี่เป็นเมืองพุทธนะ ชาวพุทธมีตั้ง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
คำโอดครวญไม่มีผลอะไร เพราะคำว่า “นิติรัฐ” คือกฎหมายเป็นใหญ่ ไม่ใช่คำโอดครวญเป็นใหญ่ หรือข้อเท็จจริงเป็นใหญ่
วันร้ายคืนร้าย ผู้ได้อำนาจรัฐออกกฎหมายมาว่า ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปบิณฑบาตในพื้นที่นั่นนี่โน่น
ยุ่งแล้ว
(หรือไม่ยุ่ง ไม่เดือดร้อน เพราะปกติอาตมาก็ไม่ได้ออกบิณฑบาตอยู่แล้ว ใครออกบิณฑบาตก็แก้ปัญหาเอาเองสิ)
วันร้ายคืนร้าย ผู้ได้อำนาจรัฐออกกฎหมายมาว่า ห้ามสร้างวัดในพื้นที่นั่นนี่โน่น วัดที่มีอยู่แล้วในพื้นที่นั้นให้สิ้นสภาพความเป็นวัด
ซวยแล้วกู (ขอประทานโทษ)
วันร้ายคืนร้าย ผู้ได้อำนาจรัฐออกกฎหมายมาว่า ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า ๗๐ ปี (เจ็ดสิบปี) บรรพชาอุปสมบท ที่บวชอยู่แล้วก็ให้บวชต่อไปได้จนกว่าจะมรณภาพหรือจนกว่าจะลาสิกขา
ไม่เกินครึ่งศตวรรษ เมืองไทยก็จะมีแต่พระหลวงตา
อย่านึกว่าพูดเล่น
อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้
และที่สำคัญ กรุณาอย่ามองว่า-ไอ้หมอนี่มันกระต่ายตื่นตูม มันว่างงาน ไม่มีอะไรจะทำ เลยฟุ้งซ่าน อย่างนี้มันต้องเอาไปปรับทัศนคติ ฯลฯ
โปรดระลึกถึงความเป็นจริงที่ว่า ในระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่มีข้อห้ามว่า-ผู้ไม่นับถือพระพุทธศาสนาขึ้นสู่อำนาจรัฐไม่ได้
ที่ว่ามานี้แหละคือความหมายของ “นิติรัฐ” ที่ชาววัดควรเร่งตระหนักไว้ให้จงหนัก
——————
เท่าที่สติปัญญาของผมพอจะบอกได้ “กฎหมาย” ที่ชาววัดหรือชาวพุทธต้องทำความเข้าใจและใช้ให้เป็น มี ๒ ส่วน
(๑) ส่วนที่หนึ่ง กฎหมายที่มีอยู่แล้ว มีแง่มุมอะไรบ้างที่จะเอามาใช้ป้องกันตัวและป้องกันผลประโยชน์ของพระศาสนา ต้องรู้ทัน ทำถูก ใช้เป็น
ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอย่างที่พูดกันว่า-เสียท่าเขาเพราะไม่รู้เท่ากฎหมาย
ตัวอย่างที่ผมได้เห็นมา เช่น แม่ถวายที่ให้วัด เข้าใจด้วยความซื่อว่าเพียงเอาโฉนดไปประเคนพระ ให้สงฆ์รับแล้วอนุโมทนาก็เป็นอันถวายแล้ว
วัดก็พาซื่อ ไม่ได้จดทะเบียนโอนให้วัด
พอแม่ตาย ลูกรับมรดก
ลูกขอโฉนดคืน
วัดไม่ให้
เป็นความกัน
ลูกชนะ ได้ที่คืน
วัดอด
นี่เป็นตัวอย่างเรื่องเดียว ยังมีอีกร้อยแปด
เพราะฉะนั้น ศึกษาดูไว้ให้ดี อย่าให้เสียทีเขาเพราะไม่รู้เท่ากฎหมาย
และอย่าหลับตาท่องแต่เพียงว่าเราทำดี ความดีต้องช่วยเรา
ความดีส่วนความดี
กฎหมายส่วนกฎหมาย
นิติรับเขาเอากฎหมายนำหน้า ไม่เอาความดีนำหน้า
(๒) ส่วนที่สอง ส่วนนี้สำคัญที่สุด นั่นคือ อยากให้อะไรเป็นอะไร ต้องหาทางออกเป็นกฎหมาย
ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ – ไปไหว้พระที่อินเดีย ชาวพุทธโอดครวญว่า ใครไปก็ต้องควักกระเป๋าเอง รัฐบาลไม่สนับสนุนอะไรเลย
อยากให้รัฐบาลสนับสนุน ไปหาทางหาวิธีออกกฎหมายสิครับ มาโอดครวญอยู่ทำไม
โอดครวญไปร้อยปี นายกรัฐมนตรีมานั่งร้องไห้ด้วย ก็ช่วยไม่ได้-ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ
นิติรัฐ-รัฐบาลจะช่วยใคร ต้องมีกฎหมายรองรับ
ตัวอย่างนี้ควรตระหนักกันได้แล้วหรือยังว่า นิติรัฐมีความหมายว่าอย่างไร
รักพระศาสนา ห่วงพระศาสนา แต่ออกกฎหมายคุ้มครองพระศาสนาไม่ได้ ก็จบเห่ ความรักความห่วงไม่มีผลอะไร
พวกเราพลาดกันตรงนี้ พลาดตรงที่ยังไม่ตระหนักเรื่องกฎหมายรองรับ
เอาแต่รำพึงรำพันอยู่นั่นแล้ว ทำไมรัฐบาลทำอย่างนี้ ทำไมไม่ทำอย่างโน้น นี่เป็นเมืองพุทธนะ ชาวพุทธมีตั้ง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
แต่สิ่งที่พวกเราเองไม่ทำก็คือ ไม่ได้หาทางให้ออกเป็นกฎหมาย
พูดกันตรงๆ คณะสงฆ์หรือชาววัดล้วนอ่อนหัดเรื่องกฎหมาย
ทำอย่างไรจึงจะมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่องโน้นเพื่อประโยชน์ของพระพุทธศาสนา
คิดไม่ได้ ไปไม่เป็น เห็นไม่ชัด
แต่ที่น่าตระหนกที่สุดก็คือ – คิดว่าไม่ใช่หน้าที่
เราไม่มีหน้าที่ไปลงสมัคร ส.ส. หรือไปเลือกตั้ง หรือไปชุมนุมเรียกร้องให้ออกกฎหมาย ถูกต้องแล้วครับ
แต่เรามีหน้าที่สำคัญที่สุดคือ-ทำให้คนที่เขามีหน้าที่ออกกฎหมายนับถือ เลื่อมใส เห็นความสำคัญ ถึงขนาดเปิดโอกาส เปิดที่ทางให้พระพุทธศาสนาปรากฏตัวได้อย่างเต็มที่ อย่างมีเกียรติ อย่างมีศักดิ์ศรี
หน้าที่ดังว่านี้พระพุทธองค์ทรงทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วดังยกมาแสดงในตอนก่อน
ทำหน้าที่ตรงนี้ได้ครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า-ไม่ใช่หน้าที่
และหน้าที่ตรงนี้แหละที่เราไม่ได้ทำกันมาเป็นเวลาช้านาน เพราะมัวแต่เสวยผลบุญเก่าที่บุรพาจารย์ท่านทำไว้ให้
จนเวลานี้เราลืมไปแล้วว่า ถ้าจะต้องทำหน้าที่เช่นนั้นอีก-อย่างที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำ และบุรพาจารย์ของพระพุทธศาสนาได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างมาแล้ว-เราควรจะเริ่มต้นตรงไหนดี
ถ้ายังไม่ได้คิด โปรดรีบคิดได้แล้ว
บางทีเราอาจจะเหลือเวลาคิดอีกไม่มากนัก-ถ้ายังมัวประมาทกันอยู่
บุรพาจารย์ของพวกเราท่านทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐนับถือเลื่อมใสสนับสนุนอุปถัมภ์บำรุง พระพุทธศาสนาจึงมีที่ปรากฏตัวยั่งยืนมาจนถึงพวกเรา
ทุกวันนี้พวกเราได้เสวยผลบุญนั้นอยู่
แต่ผลบุญย่อมมีวันหมด
ถ้าคนรุ่นเราไม่สามารถทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐในอนาคตนับถือเลื่อมใสสนับสนุนอุปถัมภ์บำรุงอย่างที่เคยเป็นมาได้ พระพุทธศาสนาจะไม่มีที่ปรากฏตัว
จึงขอร้องให้เริ่มคิด
และจุดหนึ่งที่ควรคิดก็คือ ความสำคัญของหลักนิติรัฐ
เลิกพูดกันเสียทีว่าทุกวันนี้เรามั่นคงอยู่แล้ว
กิจนิมนต์เพียบ
ไปไหนมีญาติโยมเคารพนับถือตรึม
สมุดรับกิจนิมนต์ ไม่ใช่ตัวชี้วัดความคงทนของพระพุทธศาสนา
ถ้าต้องการให้เราอยู่ยั้งยืนยง ต้องเข้าใจและเข้าถึงศูนย์รวมอำนาจรัฐ เพราะที่นั่นคือที่มาของกฎหมายตามหลักนิติรัฐ
การดำรงวิถีชีวิตสงฆ์ การรักษาพระธรรมวินัยให้มั่นคง เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ผู้ได้อำนาจรัฐนับถือเลื่อมใสสนับสนุนอุปถัมภ์บำรุง
แต่มิใช่เพียงแค่นั้น กลไกอื่นๆ ยังมีอีก เป็นหน้าที่ที่ท่านจะต้องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย
—————–
บทความในชุด “ถ้าอำนาจรัฐไม่จัดสรร ต่อให้เป็นพระอรหันต์ก็อยู่ไม่ได้” ก็จบลงเพียงนี้
ผู้ที่จะทำงานเพื่อพระศาสนาได้ต้องมีอุดมคติ มีอุดมการณ์ แต่ที่สำคัญที่สุด-มีความคิด
มีตำแหน่ง มีอำนาจ มีหน้าที่ มีบริษัทบริวาร มีอะไรหมดทุกอย่าง
แต่ไม่มีความคิด ก็หมดท่า
มีความคิด แต่คิดแค่ประโยชน์ตน ก็ไร้ค่า
ทำงานเพื่อวัดของตน เพื่อภูมิภาคของตน เพื่อนิกายของตน ก็ยังไม่ดีพอ
ต้อง-ทำเพื่อพระพุทธศาสนาอันมีพระบรมศาสดาพระองค์เดียวกัน จึงจะเป็นมหาบุรุษได้
ถ้าทำเพียงเพื่อเอาตัวรอด ก็เป็นได้แค่สุภาพบุรุษ
สุภาพบุรุษรักษาตัวรอดได้
แต่รักษาพระศาสนาไม่ได้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
๑๐:๑๓
…………………………….