บาลีวันละคำ

ปริญญา ไม่ใช่ปริญญาบัตร (บาลีวันละคำ 4,261)

ปริญญา ไม่ใช่ปริญญาบัตร

“รับปริญญาบัตร” ไม่ใช่รับปริญญา

คำที่ควรรู้คือ ปริญญา + บัตร

(๑) “ปริญญา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปริญฺญา” (มีจุดใต้ ญฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ปะ-ริน-ยา รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ซ้อน ญฺ, ลบ กฺวิ

: ปริ + ญฺ + ญา = ปริญฺญา + กฺวิ = ปริญฺญากฺวิ > ปริญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “การรู้โดยรอบ” (2) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้รอบ

ปริญฺญา” ในบาลีหมายถึง ความรู้ที่ถูกต้องหรือถ่องแท้, ความเข้าใจ, ความรอบรู้ (accurate or exact knowledge, comprehension, full understanding)

ปริญญา” ในพระพุทธศาสนามี 3 อย่าง คือ ญาตปริญญา (ยา-ตะ-ปะ-ริน-ยา) ตีรณปริญญา (ตี-ระ-นะ-) ปหานปริญญา (ปะ-หา-นะ-) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

…………..

1. ญาตปริญญา กำหนดรู้สิ่งนั้น ๆ ตามลักษณะที่เป็นสภาวะของมันเอง พอให้แยกออกจากสิ่งอื่น ๆ ได้ เช่น รู้ว่า นี้คือเวทนา เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ ดังนี้เป็นต้น

2. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ กำหนดรู้สังขารด้วยการพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ ว่าสิ่งนั้น ๆ มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

3. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้ คือ กำหนดรู้สังขารว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนถึงขั้นละนิจจสัญญาเป็นต้น ในสังขารนั้นได้

…………..

(๒) “บัตร” 

บาลีเป็น “ปตฺต” อ่านว่า ปัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ปตฺ (ธาตุ = ตก) + ปัจจัย

: ปตฺ + = ปตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะร่วงหล่นโดยไม่นาน” หมายถึง ใบไม้ (a leaf)

ปตฺต” สันสกฤตเป็น “ปตฺร” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บัตร” แปลว่า ใบ, แผ่น, ใบหนังสือ, จดหมาย, ลายลักษณ์อักษรทั่วไป

เดิมเราขีดเขียนอักษรลงบนใบไม้เพื่อใช้ส่งสารติดต่อถึงกัน ต่อมาเมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแผ่นกระดาษ จึงเรียกกระดาษหรือสิ่งที่เป็นแผ่นใช้เขียนลายลักษณ์อักษรว่า “ปตฺตบัตร

ในภาษาไทย คำว่า “บัตร” ใช้ต่อท้าย “คำศัพท์” ที่เป็นบาลีสันสกฤตด้วยกัน เช่น นามบัตร สิทธิบัตร ประกาศนียบัตร มรณบัตร อนุโมทนาบัตร ปริญญาบัตร 

ถ้าใช้คำว่า “บัตร” นำหน้า คำตามหลังจะเป็นคำแสดงลักษณะของบัตรนั้น ๆ และไม่จำเป็นต้องเป็นคำบาลีสันสกฤต เช่น บัตรประจำตัว บัตรเครดิต บัตรสนเท่ห์

ปริญญา + บัตร = ปริญญาบัตร แปลงกลับเป็นบาลีว่า “ปริญฺญาปตฺต” ไม่มีรูปคำควบกันเช่นนี้ในคัมภีร์ 

ปริญญาบัตร” เป็นคำที่คิดขึ้นใช้ในภาษาไทย แปลโดยอนุรูปแก่ศัพท์ว่า “ใบรับรองว่าเป็นผู้มีความรอบรู้

อภิปรายขยายความ :

เวลานี้มีผู้พูดและเขียนว่า “รับปริญญา” แต่หมายถึง “รับปริญญาบัตร” เช่น “ขอเชิญร่วมแสดงความยินดีในพิธีรับปริญญา”

ปริญญา” กับ “ปริญญาบัตร” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน จะหมายถึงอะไร ควรพูดหรือเขียนให้ชัดเจน

(๑) คำว่า “ปริญญา” ที่ใช้ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปริญญา : (คำนาม) ความกำหนดรู้, ความหยั่งรู้, ความรู้รอบ; ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กำหนดไว้, ถ้าประสาทแก่ผู้ทรงวิทยาคุณหรือผู้มีเกียรติตามที่เห็นสมควร เรียกว่า ปริญญากิตติมศักดิ์. (ป.; ส. ปริชฺญา).”

ปริญญา” ที่เข้าใจกันทั่วไปในคำพูดนั้นหมายถึง “ชั้นความรู้ขั้นมหาวิทยาลัยซึ่งประสาทให้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้ตามที่กำหนดไว้”

ตามความหมายนี้ “ปริญญา” เป็นนามธรรม และมีกระบวนการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้ได้ความรู้ ผู้สอบไล่ได้ตามที่กำหนดไว้จะได้รับการรับรองว่ามีความรู้ในชั้นปริญญาตามระดับที่กำหนด

คำรับรองนั้นเมื่อเขียนหรือพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษหรือวัสดุอื่นใดก็ตาม เรียกว่า “ปริญญาบัตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ปริญญาบัตร : (คำนาม) บัตรที่แสดงวิทยฐานะของผู้สำเร็จการศึกษาว่ามีศักดิ์และสิทธิ์ระดับปริญญา.”

ที่ว่ามานี้คือคำอธิบายว่า “ปริญญา” กับ “ปริญญาบัตร” ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ปริญญาบัตร” เป็นรูปธรรม สามารถหยิบยื่นส่งให้รับได้

ปริญญา” เป็นนามธรรม ไม่สามารถหยิบจับเอามายื่นส่งให้รับได้ ต้องไปผ่านกระบวนการตามที่กำหนด “ปริญญา” คือตัวความรู้จึงจะเข้ามาสู่การรับรู้ได้

พิธีที่จัดขึ้นตามความหมายที่พูดนั้น คือ “พิธีรับปริญญาบัตร

ไม่ใช่ “พิธีรับปริญญา

หมายเหตุ: ตามวัฒนธรรมไทย พระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร คำเต็มที่ถูกต้องคือ “พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

เจตนาของผู้พูดหรือเขียนว่า “รับปริญญา” ก็คือหมายถึง “รับปริญญาบัตร” นั่นเอง แต่ใช้วิธีพูดลัดเขียนลัด จาก “รับปริญญาบัตร” เป็น “รับปริญญา” ตัดคำว่า “บัตร” ออกไป

ฝ่ายผู้ฟังผู้อ่าน ฟังแล้วอ่านแล้วก็เข้าใจตรงกัน คือเข้าใจว่า “รับปริญญา” ก็คือ “รับปริญญาบัตร” 

ถ้าว่าตามทฤษฎี “ภาษาเป็นสิ่งสมมุติ” เมื่อรู้ตรงกัน เข้าใจตรงกัน ก็น่าจะใช้ได้แล้ว ไม่ควรจะมีปัญหา

แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?

ปัญหาอยู่ตรงที่-ถ้ายอมรับว่า ใช้คำแบบนี้ถูกต้อง ใช้ได้ ความสับสนก็จะเกิดขึ้น 

ตัวความรู้อันเป็นนามธรรม ก็เรียกว่า “ปริญญา

ใบรับรองความรู้อันเป็นรูปธรรม ก็เรียกว่า “ปริญญา

จะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไรหมายถึงตัวความรู้ เมื่อไรหมายถึงใบรับรองความรู้

ก็คงหนีไม่พันที่จะแก้ตัวไปว่า-ก็ให้ดูที่บริบทคือถ้อยคำแวดล้อม พร้อมทั้งอ้างว่า ในภาษาไทยก็มี “คำพ้องรูป” แบบนี้อยู่เป็นอันมาก คือเขียนเหมือนกันแต่ความหมายต่างกัน ไม่เห็นจะแปลกหรือเป็นปัญหาอะไร

ถ้าอ้างแบบนี้ ก็ต้องถามกลับไปว่า ก็แล้วคำที่ผู้รู้ท่านอุตส่าห์แยกกันไว้ชัดเจน

– “ปริญญา” หมายถึง ตัวความรู้

– “ปริญญาบัตร” หมายถึง ใบรับรองว่ามีความรู้ 

สองคำนี้มีความผิด หรือบกพร่อง หรือเสียหายอย่างไรหรือ-เราจึงใช้ตามนี้ไม่ได้?

หรือว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากความขี้เกียจพูดหรือเขียนเต็มคำ-ซึ่งก็คือความมักง่ายของเรานั่นเอง?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจชัด

: คนกับสัตว์จะต่างกันตรงไหน

#บาลีวันละคำ (4,261)

11-2-67

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *