บาลีวันละคำ

ฐานานุกรม (บาลีวันละคำ 2,705)

ฐานานุกรม

คนวัดที่ไม่ควรลืม

อ่านว่า ถา-นา-นุ-กฺรม

แยกศัพท์เป็น ฐาน + อนุกรม

(๑) “ฐาน

บาลีอ่านว่า ถา-นะ รากศัพท์มาจาก ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ฐา + ยุ > อน : ฐา + อน = ฐาน (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ตั้งแห่งผล

ฐาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ส่วน [ของสิ่งใดๆ] (place, region, locality, abode, part)

(2) ภาวะ, สถานะ, สภาวะ (state, condition)

(3) ที่ตั้ง (location)

(4) อิริยาบถยืน (standing position)

(5) คุณลักษณะ, คุณภาพ, ตำแหน่ง (attribute, quality, degree)

(6) สิ่ง, ข้อ, จุด; ฐานะ, หนทาง, ประการ, เหตุผล [สำหรับการถือเช่นนั้น] (thing; item, point; grounds, ways, respects, [assumption] reason)

(7) ความคาดคิด, ข้อสมมุติ, หลักการ (supposition, principle)

(8) ทันทีทันใด (at once, immediately) (เช่นในคำว่า “ฐานโส” ซึ่งมักแปลกันว่า “โดยฐานะ” แต่ความหมายจริงๆ ในที่นี้ต้องแปลว่า “โดยพลัน” : “ฐานโส  อุปกปฺปติ” = ย่อมสำเร็จโดยพลัน)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ฐาน ๒, ฐาน-, ฐานะ : (คำนาม) ตำแหน่งหน้าที่ เช่น เธอต้องรับผิดชอบในฐานที่เป็นหัวหน้าห้อง; หลักฐาน, ลำดับความเป็นอยู่ในสังคม เช่น ทุกคนยอมรับรู้ฐานะในสังคมของเขา. (ป.).”

(๒) “อนุกรม

บาลีเป็น “อนุกฺกม” (อะ-นุก-กะ-มะ) ประกอบด้วย อนุ + กม

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind) (คือมีสิ่งหนึ่งไปข้างหน้า และสิ่งนี้ตามไปข้างหลัง)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

(ข) “กม” (กะ-มะ) รากศัพท์มาจาก กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + ปัจจัย, ลบ

: กมฺ + = กมณ > กม แปลตามศัพท์ว่า “ขั้นตอนเป็นที่ก้าวไป” หมายถึง การไป, ก้าว, หนทาง, วิธี (going, proceeding, course, step, way, manner)

อนุ + กม ซ้อน กฺ ระหว่างกลาง : อนุ + กฺ + กม = อนุกฺกม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไปตามรูป” “การก้าวตาม” หมายถึง ลำดับ, วาระ, การตามกันไป, การสืบต่อ (order, turn, succession, going along)

อนุกฺกม” ใช้ในภาษาไทยอิงรูปสันสกฤตเป็น “อนุกรม” (อะ-นุ-กฺรม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุกรม : (คำนาม) ลําดับ, ระเบียบ, ชั้น, เช่น โดยอนุกรม, นิยมใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น พจนานุกรม ปทานุกรม นามานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม. (ส. อนุกฺรม; ป. อนุกฺกม).”

ฐาน + อนุกรม = ฐานานุกรม แปลตามศัพท์ว่า “ลำดับแห่งฐานะ” หรือ “ตามลำดับฐานะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ฐานานุกรม : (คำนาม) ลำดับตำแหน่งยศพระสงฆ์ที่พระราชาคณะมีอำนาจตั้งสมณศักดิ์ให้ตามทำเนียบ เช่น พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา เป็นฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นสามัญ พระครูปลัด พระครูสมุห์ พระครูใบฎีกา เป็นฐานานุกรมของพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป.”

ขยายความ :

คำว่า “ฐานานุกรม” หมายถึงตำแหน่งก็ได้ หมายถึงตัวบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งก็ได้ คำนี้ในหมู่ชาววัดมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “ฐานา” เช่น พระทองย้อยเป็นฐานาของท่านเจ้าคุณแย้ม

เจตนารมณ์ของการกำหนดให้มีตำแหน่ง “ฐานานุกรม” ก็คงเพื่อให้พระราชาคณะได้มีพระไว้รับสนองงาน พูดตามภาษาชาวบ้านก็ว่ามีคนไว้ช่วยทำงานให้สมแก่หน้าที่

แต่ครั้นนานเข้า ตำแหน่ง “ฐานานุกรม” ดูเหมือนจะตั้งไว้เพื่อเป็นเกียรติหรือประกอบเกียรติยศของพระราชาคณะ ทั้งเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับแต่งตั้งอีกส่วนหนึ่งด้วย การสนองงานหรือทำงานตามหน้าที่จริงจังแทบจะไม่มี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: มีคนแต่ไม่ใช้งาน เป็นความพิกล

: มีงานแต่ไม่ใช้คน เป็นความพิการ

#บาลีวันละคำ (2,705)

8-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย