บาลีวันละคำ

คำลาข้าวพระพุทธ (บาลีวันละคำ 357)

คำลาข้าวพระพุทธ

มีคำถามว่า คำลาข้าวพระพุทธ คำไหนถูก ระหว่าง “เสสัง  มังคะลัง  ยาจามิ” กับ “เสสัง  มังคะลา  ยาจามิ” และทั้งสองประโยคนี้แปลต่างกันหรือไม่ อย่างไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า “ลาข้าวพระ : ทําพิธีอย่างหนึ่งเมื่อถอนสํารับพระพุทธ โดยยกมือประนมกล่าวคําว่า เสสํ  มงฺคลํ  ยาจามิ แล้วยกสํารับออกมา

ถ้าถือตามนี้ คำลาข้าวพระพุทธที่ถูกต้องก็คือ “เสสํ  มงฺคลํ  ยาจามิ” (เสสัง มังคะลัง ยาจามิ)

เสสํ  มงฺคลํ  ยาจามิ แปลทีละคำดังนี้ –

แบบที่ 1 ยาจามิ ข้าพเจ้าขอ มงฺคลํ ซึ่งมงคล เสสํ ที่เหลือ = ขอมงคลที่เหลือ

แบบที่ 2 ยาจามิ ข้าพเจ้าขอ เสสํ ซึ่งส่วนที่เหลือ มงฺคลํ อันเป็นมงคล = ขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล

แต่มีบางท่าน ใช้คำลาข้าวพระพุทธว่า “เสสํ  มงฺคลา  ยาจามิ” (เสสัง มังคะลา ยาจามิ) คือต่างกันที่คำว่า “มงฺคลํ” กับ “มงฺคลา

เสสํ  มงฺคลา  ยาจามิ แปลทีละคำว่า –

ยาจามิ ข้าพเจ้าขอ เสสํ ส่วนที่เหลือ มงฺคลา จากสิ่งอันเป็นมงคล = ขอส่วนที่เหลือจากสิ่งอันเป็นมงคล

เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่า –

1 “เสสํ  มงฺคลํ  ยาจามิ” เป็นคำที่ถูกต้องกว่า

2 คำแปลว่า “ข้าพเจ้าขอส่วนที่เหลืออันเป็นมงคล” มีเหตุผลดีกว่า

ตอบให้ถูก : พระพุทธเจ้าไม่ใช่ผี

ข้าวพระพุทธจึงไม่ใช่ของเซ่นผี

ถ้ากระนี้ แล้วข้าวพระพุทธคือของสำหรับอะไร ?

—————-

(ตอบคำถามของ ปุ่น สาเส็ง)

บาลีวันละคำ (357)

4-5-56

ปุ่น สาเส็ง ๔ พ.ค.๕๖

อาจารย์ครับ ผมมีเรื่องสงสัยอยากถามอาจารย์ว่าคำลาข้าวพระพุทธอันไหนถูกครับ ระหว่าง “เสสัง มังคะลัง ยาจามิ” กับ “เสสัง มังคะลา ยาจามิ” แล้วทั้งสองประโยคนี้แปลต่างกันไหมครับ ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบนะครับ

ลาข้าวพระ

ก. ทําพิธีอย่างหนึ่งเมื่อถอนสํารับพระพุทธ โดยยกมือประนมกล่าวคําว่า เสสํ มงฺคลํ ยาจามิ แล้วยกสํารับออกมา.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย