บาลีวันละคำ

เปาโรหิตย์ (บาลีวันละคำ 356)

เปาโรหิตย์

บาลีมีคำว่า “ปุโรหิต” อ่านว่า ปุ-โร-หิ-ตะ ใช้ในภาษาไทยรูปเดียวกัน อ่านว่า ปุ-โร-หิด แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกื้อกูลแก่เมือง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมาย “ปุโรหิต” ว่า “พราหมณ์ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในทางนิติ คือ ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี

แต่ฝรั่งแปลความหมายของ “ปุโรหิต” ไปอีกทางหนึ่งว่า “ผู้มีตำแหน่งข้างหน้า” คืออยู่ข้างหน้าสุดเมื่อเข้าเฝ้าพระราชา เรียกเต็มๆ ว่า “ปุโรหิตาจารย์” คืออาจารย์ประจำราชสำนัก ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นอัครมหาเสนาบดี (the prime minister) ได้ด้วย

ปุโรหิต” เขียนตามรูปสันสกฤตเป็น “เปาโรหิต” (อุ เป็น เ-า เทียบกับคำอื่นๆ ที่เราคุ้น เช่น ยุว = เยาว, คุรุ = เคารพ, อุรส (โอรส) = เอารส, ปุราณ (โบราณ) = เบาราณ)

เปาโรหิต” ดำเนินกรรมวิธีทางไวยากรณ์เป็น “เปาโรหิตย์” (มี ย์ การันต์ ทำนองเดียวกับ บัณฑิต = บัณฑิตย์ เทียบคำฝรั่งอาจเข้าใจง่ายขึ้น เช่น happy เป็น happiness, succeed เป็น succession)

เปาโรหิตย์” แปลว่า “ความเป็นปุโรหิต” หรือ มาจากตระกูลปุโรหิต คือผู้มีสติปัญญาสามารถทำประโยชน์เกื้อกูลแก่บ้านเมืองได้

: ถึงปัญญาจะพิการ ก็บริหารบ้านเมืองได้

: ถ้ารู้จักใช้ปุโรหิต

————

(ในโอกาสที่กลับจากกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านหน้าวัดเปาโรหิตย์ ที่บางพลัด)

บาลีวันละคำ (356)

3-5-56

ปุโรหิต (ศัพท์วิเคราะห์)

ปุรสฺส หิโต ปุโรหิโต ผู้เกื้อกูลแก่เมือง

ปุร + หิต + อ ปัจจัย แปลง อ ที่ ร เป็น โอ

ปุโรหิต (บาลี-อังกฤษ)

๑ มีตำแหน่งข้างหน้า, คืออยู่หน้าที่สุดหรือสูงสุด

๒ ปุโรหิตของพระราชา ปุโรหิตาจารย์ อาจารย์ประจำราชสำนัก ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นอัครมหาเสนาบดี

ปุโรหิต ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อาจารย์ของพระเจ้าแผ่นดิน.

ปุโรหิต (ประมวลศัพท์)

พราหมณ์ผู้เป็นที่ปรึกษาของพระราชา

ปุโรหิต

น. พราหมณ์ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ในทางนิติ คือ ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี. (ป., ส.).

บัณฑิตย์

 [บันดิด] น. ความรอบรู้, การเรียน, ความเป็นบัณฑิต. (ส. ปาณฺฑิตฺย; ป. ปณฺฑิจฺจ).

เคารพ

ก. แสดงอาการนับถือ เช่น เคารพผู้ใหญ่ เคารพธงชาติ; ไม่ล่วงเกิน, ไม่ล่วงละเมิด, เช่น เคารพสิทธิของผู้อื่น. (ส. เคารว; ป. คารว).

เยาว-, เยาว์

 [เยาวะ-, เยา] ว. อ่อนวัย, รุ่นหนุ่ม, รุ่นสาว, เช่น เยาว์วัย วัยเยาว์. (แผลงมาจาก ยุว).

เบาราณ

 (แบบ) ว. โบราณ. (ส. เปาราณ; ป. ปุราณ, โปราณ).

เอารส

 [-รด] น. ลูกของตนเอง. (แผลงมาจาก โอรส). (ส.).

happy (แฮพ-พิ) adj. (สอ เสถบุตร)

happily (แฮพ-พิลิ) adv.

happiness (แฮพ-พิเน็ซ) n.

1. เป็นสุข, ความสุข, สุคติ, สุขใจ, สบายใจ, สบายดี, เบิกบาน, ยินดี

2. (โชค)ดี, เคราะห์ดี

3. (คำพูด) เหมาะเจาะ, ศุภมงคล

succeed (ซัคซีด-) vi. vt.

1. สืบตำแหน่ง, สืบราชสมบัติ, สืบสันตติวงศ์

2. ตามมา, มาภายหลัง

3. ทำสำเร็จ, ได้ผลสำเร็จ, บรรลุผลสำเร็จ, ได้ผล, (สอบไล่) ได้

succession (ซัคเซฌ-อัน) n.

1. การสืบมรดก, การสืบสันตติวงศ์

2. การตามกันมา, ลำดับ, ลักษณะติดๆ กัน

———-

Phra Sithawatchamethi Phamonphon 3-5-56

เข้ามาทักอาจารย์และขอความคิดเห็น บทสวดธรรมจักร “พฺรหฺมปโรหิตา” หนังสือก็เขียนเป็น “…ปโรหิตา” เืกือบทั้งนั้น (ส่วนมาก) แต่สำนักวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ เขาชำระบทสวดแล้วบอกว่าผิด ให้สวดเป็น “..ปุโรหิตา” อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร? ในฐานะบาลีวันละคำ

สาธุ ขออนุญาตรับไว้เป็นการบ้านสืบค้นข้อวินิจฉัยต่อไปขอรับ

สมฺโมหวิโนทนี วิภงฺควณฺณนา หน้า 834 (ฉบับเรียนพระไตรปิฎก)

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล เล่ม ๗๘ หน้า 1034

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย