สุทธิ (บาลีวันละคำ 3,670)
สุทธิ
ในคำว่า “กำไรสุทธิ” “น้ำหนักสุทธิ” แปลว่าอะไร
อ่านว่า สุด-ทิ
“สุทธิ” เขียนแบบบาลีเป็น “สุทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า สุด-ทิ รากศัพท์มาจาก สุธฺ (ธาตุ = สะอาด) + ติ ปัจจัย, แปลง ติ เป็น ทฺธิ, ลบ ธฺ ที่สุดธาตุ (สุธฺ > สุ)
: สุธฺ > สุ + ติ > ทฺธิ = สุทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “ความสะอาด” หมายถึง ความบริสุทธิ์, การทำให้บริสุทธิ์, ความแท้จริง, คุณลักษณะที่เชื่อได้แน่นอน (purity, purification, genuineness, sterling quality)
ในภาษาไทย เขียนเป็น “สุทธิ” (ไม่มีจุดใต้ ทฺ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุทธิ : (คำวิเศษณ์) แท้ ๆ, ล้วน ๆ, เช่น กาแฟขวดนี้น้ำหนักสุทธิ ๑๐๐ กรัม. (ป.; ส. ศุทฺธิ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า คำนี้สันสกฤตเป็น “ศุทฺธิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศุทฺธิ : (คำนาม) การทำความสะอาด, การชำระหรือล้าง; ความบริสุทธิ; ความถูก (ความไม่มีผิด); ความหาโทษมิได้; cleaning, cleansing; purity; correctness; innocence.”
จะเห็นว่า ไม่มีคำแปลที่มีความหมายตรงกับ “แท้ ๆ, ล้วน ๆ” เว้นไว้แต่จะใช้วิธีตีความ
อนึ่ง โปรดสังเกตว่า “ศุทฺธิ” ในสันสกฤต (และบาลีด้วย) เป็นคำนาม แต่ “สุทธิ” ในภาษาไทยเป็นคำวิเศษณ์
อย่างไรก็ตาม ข้อความตัวอย่างที่พจนานุกรมฯ ให้ไว้ว่า “กาแฟขวดนี้น้ำหนักสุทธิ ๑๐๐ กรัม” บ่งความหมายว่า “สุทธิ” ตรงกับคำอังกฤษว่า net เช่น net weight คือ “น้ำหนักสุทธิ”
วิธีหาคำบาลีที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้อยู่วิธีหนึ่ง คือใช้คำอังกฤษนำไปหาคำบาลี
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล net เป็นบาลีดังนี้:
(1) jāla ชาล (ชา-ละ) = ตาข่าย (net ในความหมายนี้เป็นคนละคำกับ net ที่แปลว่า [น้ำหนัก] สุทธิ)
(2) niravasesa นิรวเสส (นิ-ระ-วะ-เส-สะ) = ไม่มีส่วนเหลือ (หมายถึง ไม่มีสิ่งอื่นประสมอยู่)
(3) suddha สุทฺธ (สุด-ทะ) = หมดจด, ล้วนๆ
คำบาลีตามข้อ (3) มีความหมายตรงกับความหมายในภาษาไทย แต่คำนี้เป็น “สุทฺธ” ไม่ใช่ “สุทฺธิ”
“สุทฺธ” ในบาลีเป็นคำคุณศัพท์ (หรือคำวิเศษณ์) ธาตุ (รากศัพท์) ตัวเดียวกับ “สุทฺธิ” แต่ลงปัจจัยคนละตัว
“สุทฺธ” แปลตามศัพท์ว่า “หมดจดจากมลทินมีราคะเป็นต้น” มีความหมายดังนี้ –
(1) สะอาด, บริสุทธิ์ (clean, pure)
(2) ได้รับการชำระ, มีจิตบริสุทธิ์ (purified, pure of heart)
(3) ธรรมดา, เพียง, ไม่เจือปน, ไม่มีสิ่งใดนอกจาก (simple, mere, unmixed, nothing but)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุทธ-, สุทธ์ : (คำวิเศษณ์) หมดจด, สะอาด; ล้วน, แท้. (ป.).”
หลักภาษาที่ควรทราบ :
ในภาษาบาลี “สุทฺธ” (สุด-ทะ) เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ แปลว่า “บริสุทธิ์แล้ว” “สิ่งที่บริสุทธิ์” “ผู้บริสุทธิ์”
“สุทฺธิ” (สุด-ทิ) เป็นคำนาม แปลว่า “ความบริสุทธิ์”
แต่ในภาษาไทยเราใช้ “-สุทธิ” แทน “-สุทธ” จนเคยมือ อย่างคำว่า “ผู้บริสุทธิ์” (-ธิ์) ที่ถูกควรสะกดว่า “ผู้บริสุทธ์” (-ธ์) แต่ก็ไม่นิยมสะกดเช่นนั้น
คำว่า “น้ำหนักสุทธิ” หรือ “กำไรสุทธิ” นี่ก็เช่นกัน ถ้าใช้ให้ถูกตามหลักบาลี ควรจะเป็น “น้ำหนักสุทธะ” และ “กำไรสุทธะ” แต่เราใช้เป็น “น้ำหนักสุทธิ” “กำไรสุทธิ” กันจนเคย (เคยมือ เคยตัว!) ก็จำต้องปล่อยเลยตามเลย โดยถือหลักว่า เรายืมคำมาก็จริง แต่เราถือสิทธิ์เปลี่ยนสถานะของคำตามที่ต้องการ
คำบาลีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายว่า “แท้ ๆ, ล้วน ๆ” เช่นเดียวกับ “สุทฺธ” คือ “สุทฺธิก” อ่านว่า สุด-ทิ-กะ รากศัพท์จะว่าประกอบด้วย สุทฺธ + อิก ปัจจัย หรือ สุทฺธิ + ก ปัจจัย ก็ได้ทั้งสองทาง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สุทฺธิก” ดังนี้ –
(1) connected with purification (เกี่ยวกับความบริสุทธิ์)
(2) pure, simple; orthodox, schematized; justified (บริสุทธิ์, ง่าย ๆ; แท้, มีอุบาย; เป็นธรรม)
“สุทฺธิก” เขียนแบบไทยเป็น “สุทธิก” (ไม่มีจุดใต้ ทฺ) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่มีใช้ในภาษาไทยมานานแล้ว ดังคำที่นักเรียนนักธรรมย่อมจะคุ้นหูคุ้นปาก คือคำว่า “สุทธิกปาจิตตีย์” (สุด-ทิ-กะ-ปา-จิด-ตี) คือสิกขาบท (ศีลของพระ) ว่าด้วยการล่วงละเมิดที่ทำให้ต้องอาบัติปาจิตตีย์หมวดที่ไม่มีสิ่งของ (หรือ “ของกลาง”) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คู่กับ “นิสสัคคียปาจิตตีย์” (นิด-สัก-คี-ยะ-ปา-จิด-ตี)
“นิสสัคคียปาจิตตีย์” อาบัติปาจิตตีย์ที่มีของกลางอันจะต้องสละตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด มี 30 สิกขาบท
“สุทธิกปาจิตตีย์” อาบัติปาจิตตีย์ล้วนๆ แท้ๆ ไม่มีของกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง มี 92 สิกขาบท
ขอยกคำในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อประกอบความรู้ (คำที่เป็นชื่อสะกดตามต้นฉบับ)
…………..
(1) นิสสัคคิยะ, นิสสัคคีย์ : “อันให้ต้องสละสิ่งของ” เป็นคุณบทแห่งอาบัติปาจิตตีย์หมวดที่มีการต้องสละสิ่งของ ซึ่งเรียกว่า นิสสัคคิยปาจิตตีย์; “อันจะต้องสละ” เป็นคุณบทแห่งสิ่งของที่จะต้องสละเมื่อต้องอาบัติปาจิตตีย์หมวดนั้น กล่าวคือ นิสสัคคิยวัตถุ
(2) สุทธิกปาจิตติยะ : อาบัติปาจิตตีย์ล้วน คืออาบัติปาจิตตีย์ที่ไม่ต้องให้เสียสละสิ่งของ มี ๙๒ สิกขาบท ตามปกติเรียกกันเพียงว่า ปาจิตติยะ หรือ ปาจิตตีย์
…………..
สรุปว่า คำว่า “กำไรสุทธิ” “น้ำหนักสุทธิ” ที่ใช้ในภาษาไทยนั้น “สุทธิ” ตรงกับคำอังกฤษว่า net หมายถึง “แท้ ๆ, ล้วน ๆ” คือไม่มีสิ่งอื่นเจือปน “สุทธิ” ในคำนั้นไม่ได้หมายถึงสะอาด ที่ตรงกันข้ามกับสกปรก
ความหมายว่า “แท้ ๆ, ล้วน ๆ” เช่นนี้ บาลีใช้คำว่า “สุทฺธ” หรือ “สุทฺธิก”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ยังอยู่ในโลกีย์มีดีก็มีชั่วปนในสันดาน
: แต่ในโลกุตรคือพระนิพพานไม่มีทั้งชั่วทั้งดี
#บาลีวันละคำ (3,670)
30-6-65
…………………………….
…………………………….