รูปธรรม (บาลีวันละคำ 361)
รูปธรรม
อ่านว่า รูบ-ปะ-ทำ
ประกอบด้วยคำว่า รูป + ธรรม
“รูป” บาลีอ่านว่า รู-ปะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศสภาพของตน” (คือสามารถรู้สี สัณฐานเป็นต้นได้ง่าย) และ “สิ่งที่ต้องเสื่อมไป”
ความหมายสามัญที่เข้าใจกันคือ สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ร่างกาย เช่น รูปตัวคน รูปตัวสัตว์
“ธรรม” บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” (ดูความหมายอื่นๆ ที่คำว่า “วัฒนธรรม”)
รูป + ธรรม = รูปธรรม หมายถึง สิ่งที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยกาย
ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า “รูป” คือ ภาพถ่าย ภาพเขียน แต่ในทางธรรม “รูป” หมายถึง สิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตา และในความหมายที่ละเอียด แม้เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ก็อยู่ในจำพวก “รูป” เรียกว่า “รูปธรรม”
“รูปธรรม” นำมาใช้ในภาษาไทยสมัยใหม่ ในความหมายว่า สิ่งที่สามารถแสดงออกมาให้ปรากฏเป็นจริงเป็นจังมิใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น, สิ่งที่สามารถปฏิบัติได้, เช่น ต้องทําโครงการพัฒนาชนบทให้เป็นรูปธรรมด้วยการจัดให้มีนํ้ากินนํ้าใช้เป็นต้น
: “รูปธรรม” ใช้ในความหมายใหม่ อย่าลืมความหมายเก่า
พัฒนาตามเขา อย่าลืมรากเหง้าของตัวเอง
บาลีวันละคำ (361)
8-5-56
สรุปเดิม
: เมื่อเห็นคำว่า “รูปธรรม” จึงต้องระวังให้ดีว่า กำลังพูดภาษาไทย หรือกำลังใช้ภาษาธรรม
บาลีวันละคำ ()
นามธรรม
อ่านว่า นาม-มะ-ทำ
“นาม” บาลีอ่านว่า นา-มะ แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา” “คำเป็นที่น้อมไปหาวัตถุ” “คำอันเขาน้อมไปในความหมาย” “คำเป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ”
ความหมายสามัญที่เข้าใจกันคือ ชื่อ, สิ่งที่รู้จักกันด้วยชื่อ, สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ
รูป = รูป, สี, สิ่งที่ตาเห็น (ศัพท์วิเคราะห์)
รูเปติ ปกาเสติ อตฺตโน สภาวนฺติ รูปํ สิ่งที่ประกาศสภาพของตน
รูป ธาตุ ในความหมายว่าประกาศ อ ปัจจัย
รุปฺปติ วิการมาปชฺชตีติ รูปํ สิ่งที่ต้องเสื่อมไป
รุป ธาตุ ในความหมายว่าเสื่อม, ทรุดโทรม อ ปัจจัย ทีฆะ อุ เป็น อู
รูป นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
รูป, ร่างกาย, อารมณ์ที่พึงรู้ด้วยตา, ธรรมชาติที่เสื่อมสลายไปเพราะวิโรธิปัจจัย
รูป (ประมวลศัพท์)
1. สิ่งที่ต้องสลายไปเพราะปัจจัยต่างๆ อันขัดแย้ง, สิ่งที่เป็นรูปร่างพร้อมทั้งลักษณะอาการของมัน, ส่วนร่างกาย จำแนกเป็น ๒๘ คือ มหาภูต หรือ ธาตุ ๔ และ อุปาทายรูป ๒๔ (= รูปขันธ์ในขันธ์ ๕)
รูป, รูป-
[รูบ, รูบปะ-] น. สิ่งที่รับรู้ได้ด้วยตา เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, ร่าง เช่น โครงรูป, ร่างกาย เช่น รูปตัวคน รูปตัวสัตว์, เค้าโครง เช่น ขึ้นรูป, แบบ เช่น รูปสามเหลี่ยม รูปรี รูปไข่; ลักษณนามใช้เรียกพระภิกษุสามเณร เช่น พระรูปหนึ่ง สามเณร ๒ รูป.ส. คําใช้แทนตัวผู้พูด สําหรับพระภิกษุสามเณรพูดกับคฤหัสถ์, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑. (ป., ส.).
นาม = นาม, ชื่อ (ศัพท์วิเคราะห์)
นมียเต อพฺภสฺสเต อสฺมินฺติ นามํ คำเป็นที่น้อมวัตถุเข้ามา
นม ธาตุ ในความหมายว่าน้อม อ ปัจจัย พฤทธิ์ อ เป็น อา
นมติ นามยตีติ นามํ คำเป็นที่น้อมไปหาวัตถุ (เหมือน วิ.ต้น)
นมียเต อตฺถยเต อตฺเถสฺวีติ นามํ คำอันเขาน้อมไปในความหมาย (เหมือน วิ.ต้น)
ตํตทตฺถํ นมนฺติ สตฺตา เอเตนาติ นามํ คำเป็นเครื่องน้อมไปสู่ความหมายนั้นๆ (เหมือน วิ.ต้น)
นาม นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ชื่อ, ธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ, สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้ 1. ในที่ทั่วไปหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ 2. บางแห่งหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ นั้นและนิพพาน (รวมทั้งโลกุตตรธรรมอื่นๆ) 3. บางแห่งเช่นในปฏิจจสมุปบาท บางกรณีหมายเฉพาะเจตสิกธรรมทั้งหลาย เทียบ รูป
นาม (ประมวลศัพท์)
ธรรมที่รู้จักกันด้วยชื่อ กำหนดรู้ด้วยใจเป็นเรื่องของจิตใจ, สิ่งที่ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่รูปแต่น้อมมาเป็นอารมณ์ของจิตได้
1. ในที่ทั่วไปหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
2. บางแห่งหมายถึงอรูปขันธ์ ๔ นั้นและนิพพาน (รวมทั้งโลกุตตรธรรมอื่นๆ)
3. บางแห่งเช่นในปฏิจจสมุปบาท บางกรณีหมายเฉพาะเจตสิกธรรมทั้งหลาย;
เทียบ รูป
นามธรรม (ประมวลศัพท์)
สภาวะที่น้อมไปหาอารมณ์, ใจและอารมณ์ที่เกิดกับใจ คือ จิต และเจตสิก, สิ่งของที่ไม่มีรูป คือรู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่รู้ได้ทางใจ; ดู นาม; คู่กับ รูปธรรม
รูปธรรม (ประมวลศัพท์)
สิ่งที่มีรูป, สภาวะที่เป็นรูป; คู่กับ นามธรรม
รูปธรรม
[รูบปะทํา] น. สิ่งที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วยกาย, คู่กับ นามธรรม คือสิ่งที่รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น; สิ่งที่สามารถแสดงออกมาให้ปรากฏเป็นจริงเป็นจังมิใช่เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น, สิ่งที่สามารถปฏิบัติได้, เช่น ต้องทําโครงการพัฒนาชนบทให้เป็นรูปธรรมด้วยการจัดให้มีนํ้ากินนํ้าใช้เป็นต้น. (ป.).
นาม, นาม-
[นามมะ-] น. ชื่อ, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระนาม; คําชนิดหนึ่งในไวยากรณ์ สําหรับเรียกคน สัตว์ และสิ่งของต่าง ๆ; สิ่งที่ไม่ใช่รูป คือ จิตใจ, คู่กับ รูป. (ป.).
นามธรรม
[นามมะทํา] น. สิ่งที่ไม่มีรูป คือ รู้ไม่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้ได้เฉพาะทางใจเท่านั้น, คู่กับ รูปธรรม. (ส.; ป. นามธมฺม).
รูปธรรมนามธรรม
น. ลักษณะที่เป็นเองอย่างนั้นตามธรรมชาติ (ใช้แก่รูปร่างหน้าตาของคน) เช่น หน้าตาสวยหรือไม่สวยก็เป็นเรื่องของรูปธรรมนามธรรม.
ธมฺม ป.,นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ธรรม, สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ธรรม ๑, ธรรม-, ธรรมะ
[ทํา, ทํามะ-] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม; คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า; หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม; ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม; ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม; กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ; กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ; สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม. (ส. ธรฺม; ป. ธมฺม).
ธรรม ๒
คําประกอบท้ายคําที่เป็นนามธรรม เมื่อประกอบแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคําศัพท์เดิม เช่น วัฒนธรรม อารยธรรม.