บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บุญนี้มิไกล

บุญนี้มิไกล 

———–

เมื่อวาน (๒ ตุลาคม ๒๕๖๑) เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ปกติผมจะไปทำบุญวันพระและรักษาอุโบสถศีลที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี

แต่พอดีอาจารย์ผู้หญิงที่บ้านท่านมีกิจด้วยหมอนัดให้ไปตรวจผลคืบหน้าเกี่ยวกับการผ่าตัดตา ผมก็เลยต้องมีกิจทำหน้าที่ขับรถพาท่านไปโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

อันนี้เป็นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของการทำหน้าที่-เมื่อมีงานเกิดขึ้นพร้อมกัน-ว่าจะต้องทำงานไหน ต้องวางงานไหน

ผมสามารถเลื่อนวันไปวัดได้

แต่ไม่สามารถสั่งหมอให้เลื่อนวันนัดได้ 

ผมมาคิดดูเล่นๆ ถ้าเป็นสมัยโบราณที่สังคมไทยรู้กันว่าวันพระเป็นวันหยุดงาน หมอท่านก็คงไม่นัดวันพระ 

แต่ค่านิยมของสังคมเปลี่ยนไป สมัยนี้วันพระไม่มีความหมายอะไร

วันอาทิตย์ ยังคงมีความหมายสำหรับชาวคริสต์จนถึงทุกวันนี้

วันศุกร์ ยังคงมีความหมายสำหรับชาวมุสลิมจนถึงทุกวันนี้

แต่วันพระ ไม่มีความหมายอะไรนักสำหรับชาวพุทธสมัยนี้ 

เราอ่อนไปหมดทุกอย่าง

มจร กับ มมร จะยืนหยัดหลักการหยุดเรียนวันพระไปได้สักกี่น้ำ ก็ต้องติดตามดูกันไป

ได้ยินเสียงหลายเสียงแว่วมาแต่ไกล …

… ความดีทำวันไหนก็ได้ …

ถ้างั้นก็ทำวันพระนั่นเลยสิ ทำไมไม่หยุดงานเพื่อไปทำความดีในวันพระล่ะ?

พอแย้งอย่างนี้ เหตุผลประกอบอื่นๆ ตามมาเป็นกระบวน

จะเห็นได้ว่า มันไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ว่า… ความดีทำวันไหนก็ได้ … แต่มันมีเหตุผลอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะเหตุผลด้านค่านิยมของสังคม

เราทิ้งตัวเองจนจะไม่เหลืออะไรกันแล้ว

ทิ้งไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวยาว 

——————

ถึงโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ส่งอาจารย์ผู้หญิงลงที่ด้านหน้าแล้วผมก็ไปหาที่จอดรถ จอดรถแล้วก็ออกมาหาอาหารเช้าที่ข้างๆ โรงพยาบาล เป็นร้านโจ๊กรถเข็นเจ้าเก่าที่เคยกิน 

ผมสั่งโจ๊กใส่ไข่อย่างเดียว ไม่ใส่เครื่อง 

คนขายยกชามมาให้ จึงเพิ่งสังเกตได้ว่า ขิงที่หั่นเป็นฝอยไม่นับว่าเป็น “เครื่อง” แต่นับว่าเป็นส่วนประกอบของโจ๊ก เพราะถึงจะสั่งว่าไม่ใส่เครื่อง คนขายก็ยังใส่ขิงมาด้วย

กินเสร็จ ถึงตอนจ่ายเงิน ผมถามว่าเท่าไรครับ คนขายตอบว่า ๒๐ 

ผมถามว่า ๒๕ ได้ไหม 

ปกติ “มุก” นี้ ถ้าคนรับมุกทัน ก็จะตอบกลับแบบขึงขังว่า ไม่ได้ครับ ขาดทุน แล้วถ้อยทีถ้อยยิ้มให้กันอย่างมีมิตรภาพ

คนขายมองหน้าผมแบบไม่เล่นด้วย แต่พูดเสียงเข้ม “ใส่ไข่อย่างเดียว ไม่ใส่เครื่องก็ ๒๐ บาท ถูกแล้วไง” (ข้องใจอะไร – อันนี้ไม่ได้พูด แต่ออกมาทางแววตา) 

ผมปิดสวิตช์ทันที ไม่เล่นก็ไม่เล่น ส่งเงินให้แล้วเดินจากไป 

การกำหนดอัธยาศัยของคน แล้ววางท่าทีให้เหมาะเมื่อจะต้องสัมพันธ์กับเขา ท่านว่าเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของผู้เจริญแล้ว 

ถ้าบอกชื่อหมวดธรรม หลายท่านอาจจะบอกชื่อคุณธรรมข้อนั้นได้ด้วย 

เพราะฉะนั้น ไม่บอกละ ให้ญาติมิตรฝึกสมองลองปัญญากันเล็กๆ น้อยๆ – ธรรมะข้อนั้นชื่ออะไร?

——————

ผมรู้ดีว่าจะต้องใช้เวลารอมากกว่าครึ่งวัน เพราะฉะนั้นก็จึงวางแผนว่าจะใช้เวลาอันยาวนานนั้นไปเพื่อการอันใดดี 

ตกลงใจว่า จะไม่ทำการอันใดเป็นพิเศษนอกจากกำหนดดูชีวิตเพื่อนมนุษย์ที่มาตกคลักอยู่ในโรงพยาบาล แล้วน้อมเข้ามาหาตัวเอง 

ผมก้มหน้าเดินดูนั่นนี่โน่นอยู่พักหนึ่ง พอเงยหน้าขึ้นจึงเห็นว่าบนชั้นสูงสุดของตึกใหม่ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วติดชื่อเป็นอักษรและภาษาอังกฤษ 

ผมมองในแง่บวก มันคงเป็นข้อตกลงอะไรสักอย่างกระมัง

ต่อไปภาษาฝรั่งคงจะครองโลก ภาษาไทย-อักษรไทยจะมีฐานะเป็นเพียง “ภาษาของคนพื้นเมือง” เท่านั้น

ภาษาเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งของมนุษย์

ภาษาไปแล้ว 

ศาสนาก็ไปแล้ว

ต่อไปชาติไทยเราจะไม่มีวัฒนธรรมของตัวเอง

เราทิ้งตัวเองจนจะไม่เหลืออะไรกันแล้ว

ท่านจำพวก… ความดีทำวันไหนก็ได้ …ก็คงจะบอกว่า วัฒนธรรมไม่ได้อยู่ที่ภาษากับศาสนาอย่างเดียว

ถ้าเช่นนั้นก็-ตามสบายเถิดขอรับ

ยังดีที่ชื่ออาคาร “อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เขายังใช้ภาษาไทย-ภาษาของคนพื้นเมืองอยู่

…………..

ผมเห็นว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว-ซึ่งประกาศตัวว่าเป็นองค์การมหาชน-และเมื่อหลายปีก่อนบริการฉับไว ไปถึงเช้า พอสายๆ หน่อยก็เสร็จสรรพกลับบ้านได้-นั้น วันนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากโรงพยาบาลทั่วไป 

ภาพรวมที่เหมือนกันก็คือ ทุกคนต้องใช้เวลาไปกับการรอมากกว่าเวลาที่คนไข้ได้พบหมอหลายต่อหลายเท่า 

พูดเล่นๆ แต่เห็นภาพที่เป็นความจริง – พบหมอ ๕ นาที แต่รอ ๕ ชั่วโมง 

สาเหตุสำคัญคือผู้คนที่มาหาหมอมีมากขึ้นเป็นอันมาก

เมื่อหลายปีก่อน คนไปโรงพยาบาลบ้านแพ้วหาที่นั่งได้ตามสบาย

แต่วันนี้คนไปโรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่มีที่นั่ง-ก็เช่นผมเป็นต้นนี่ไง

ร้านขายอาหารในโรงพยาบาลต้องเล่นเก้าอี้ดนตรี

…………..

ผมนึกถึงพุทธภาษิตที่คนรู้จักกันทั่วไป แต่ก็พูดผิดกันทั่วไปด้วย นั่นคือ 

อาโรคฺยปรมา ลาภา (อา-โรก-เคียะ-ปะ-ระ-มา ลา-พา)

คำอ่านในวงเล็บนั่นเป็นของผมคิดและเขียนขึ้นมาเอง นักบาลีทั้งหลายคงจะเห็นว่าอุตริที่อ่านว่า อา-โรก-เคียะ- 

แต่นั่นคือเสียงอ่านที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุดตามหลักภาษาบาลี 

พุทธภาษิตบทนี้ คนไทยร้อยทั้งร้อยพูดว่า อะ-โร-คะ-ยา-ปะ-ระ-มา ลา-พา

และถ้าให้เขียน ก็จะสะกดเป็น อโรคยา ปรมา ลาภา 

หรือเขียนเป็นคำอ่านว่า อะโรคะยา ปะระมา ลาภา 

ขอประกาศไว้ ณ ที่นี้เป็นครั้งที่ร้อยที่พันว่า พูดและเขียนแบบนั้นผิดครับ 

คำที่ถูก เขียนว่า อาโรคฺยปรมา ลาภา

หรือเขียนเป็นคำอ่านว่า อาโรคยะปะระมา ลาภา 

พยางค์แรก อา- ไม่ใช่ อะ- 

โรคฺย- (โรค๎ยะ-) ไม่ใช่ โรคะยา- 

และพุทธภาษิตบทนี้แบ่งคำเป็น ๒ คำหรือ ๒ วรรคเท่านั้น คือ “อาโรคฺยปรมา” คำหนึ่ง “ลาภา” อีกคำหนึ่ง 

อาโรคฺยปรมา / ลาภา 

อาโรคยะปะระมา / ลาภา 

อะโรคะยา / ปะระมา / ลาภา – แบบนี้ผิดครับ

อะโรคะยา / ปะระมาลาภา – แบบนี้ก็ยังผิดอยู่นั่นเอง

ผมเคยถูกศอกกลับว่า ก็ชาวบ้านเขาไม่ได้เรียนบาลีเหมือนคุณนี่ จะให้เขาพูดถูกเขียนถูกไปทุกคำได้อย่างไร 

ฟังเหมือนท่านอยากจะให้ชาวบ้านไปพูดถูกเขียนถูกเอาชาติหน้า แต่ชาตินี้ขอให้พูดผิดเขียนผิดไปจนตายก่อน

เหนื่อย!!

…………..

ผมนึกถึงพุทธภาษิต อาโรคฺยปรมา ลาภา (แปลว่าอะไร ไม่บอกละ ลองขวนขวายหาความรู้กันเองดูมั่ง) แล้วก็น้อมเข้ามาหาตัวเองว่า ผมโชคดีอย่างหนึ่งที่ไม่เจ็บป่วยถึงกับต้องไปหาหมอยาวนานมามากกว่า ๔๐ ปี 

โรคภัยไข้เจ็บนั้นย่อมมีเป็นธรรมดา แต่ร่างกายยังเยียวยาตัวมันเองได้ดี พอปะทะไว้ให้อยู่ในอาการปกติ 

ไม่ต้องกินยาอะไร 

ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหมอ 

แต่บริหารร่างกายตามธรรมชาติธรรมดาด้วยตัวเอง 

ไม่เจ็บไม่ไข้ กินได้นอนหลับทุกวัน

นับว่าเป็นลาภอันประเสริฐ

ที่ผมไม่รู้ก็คือ จะมีลาภอันประเสริฐไปได้อีกนานแค่ไหน

เพราะฉะนั้น ก็จึงไม่ประมาท 

โดยเฉพาะไม่ประมาทในการบำเพ็ญบุญ 

ผมโชคดีที่ครูบาอาจารย์ท่านให้เครื่องมือสำหรับหาความรู้ในพระศาสนาไว้พอสมควร จึงพอจะรู้วิธีทำบุญ หรือจะว่า-รู้วิธีพลิกแพลงการทำบุญให้สามารถทำได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกสถานการณ์ 

โดยไม่ต้องไปตั้งเงื่อนไขเอากับโลกหรือกับคนรอบข้างว่า ต้องจัดระเบียบให้ผมสามารถทำบุญได้ตามที่ผมต้องการ 

แต่ผมใช้วิธีจัดระเบียบตัวเองให้สามารถทำบุญได้ตามที่ต้องในทุกเวลา ทุกสถานที่ และทุกสถานการณ์

………………

ญาติมิตรที่รักษาอุโบสถศีลบางคน ถ้าวันพระไหนไม่ได้ไปวัด เขาจะบ่นเสียดายว่าวันพระนี้ไม่ได้รับอุโบสถ 

คือยังเข้าใจว่า จะรักษาอุโบสถศีลได้ก็ต้องไปวัด ไปรับศีลจากพระ 

เชื่อว่าชาวพุทธในเมืองไทยที่เข้าใจแบบนี้ยังมีอีกเยอะ

พอๆ กับอีกพวกที่สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่งประเภทเดียวกับพวก-ความดีทำวันไหนก็ได้-นั่นคือ ไม่ต้องไปวัดก็ทำความดีได้

แบบนี้ก็มีอีกเยอะ และนับวันจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ

วันหนึ่งคงจะตกขอบไปถึงขั้น-ไม่ต้องมีวัดก็ทำความดีได้

จะทำบุญต้องไปวัดเท่านั้น ก็สุดโต่ง

ไม่ต้องไปวัดก็ทำบุญได้ ก็สุดโต่ง

ไม่ต้องตกขอบถึงขนาดนั้น 

เพียงแต่พยายามศึกษากันสักหน่อยก็จะรู้ว่า 

บุญนี้มิไกล

แต่ต้องเข้าใจวิธีทำ 

………………

กำลังเพลินอยู่กับการดูจิตตัวเอง ท่านอาจารย์ผู้หญิงก็โทรมาบอกว่าเสร็จแล้ว กลับบ้านกันเถอะ 

ครึ่งวันไม่นานเลย 

ทำบุญได้ตั้งเยอะ

………….

วันที่ ๖๘ เบื้องหน้าแต่พรรษากาล

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ ตุลาคม ๒๕๖๑

๑๑:๑๕

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *