บาลีวันละคำ

ศฤงคาร (บาลีวันละคำ 2,304)

ศฤงคาร

ไม่ได้แปลว่าทรัพย์

อ่านว่า สิง-คาน ก็ได้ สะ-หฺริง-คาน ก็ได้

(ตามพจนานุกรมฯ)

ศฤงคาร” บาลีเป็น “สิงฺคาร” อ่านว่า สิง-คา-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อาร ปัจจัย, แปลง สรฺ เป็น สิงฺคฺ

: สรฺ > สิงฺค + อาร = สิงฺคาร แปลตามศัพท์ว่า “รสที่เป็นไปด้วยความรัก

(2) สิงฺคฺ (ธาตุ = ทิ่มแทง) + อาร ปัจจัย

: สิงฺค + อาร = สิงฺคาร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ทิ่มแทง

สิงฺคาร” (ปุงลิงค์) เป็นคำนาม หมายถึง อารมณ์รัก (erotic sentiment) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง สละสลวย, แฉล้มแช่มช้อย, งามสง่า (elegant, graceful)

บาลี “สิงฺคาร” สันสกฤตเป็น “ศฺฤงฺคาร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศฺฤงฺคาร : (คำนาม) ความรัก; รติกริยา; กานพลู; ตะกั่วแดง; แป้งหรือฝุ่นหอม; ขิง; love; copulation; coition; cloves; red-lead; fragrant powder; ginger.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “ศฤงคาร” ตามรูปสันสกฤต พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศฤงคาร : (คำนาม) สิ่งให้เกิดความรัก, บริวารหญิงผู้บําเรอความรัก เช่น สาวศฤงคารคนใช้. (ม. คําหลวง ทานกัณฑ์). (ส. ศฺฤงฺคาร ว่า ความใคร่).”

จะเห็นได้ว่า ความหมายเดิมในบาลีสันสกฤต “ศฤงคาร” ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สมบัติแต่อย่างใด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานก็ไม่แปล “ศฤงคาร” ว่าทรัพย์

แต่พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกไว้ดังนี้ –

ศฤงคาร : a woman of the court, the harem; (popularly) the good things of life, wealth, Mammon

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรม สอ เสถบุตร เข้าใจว่า“ศฤงคาร” หมายถึงทรัพย์

ทำไมในภาษาไทยเมื่อพูดว่า “ศฤงคาร” จึงมีผู้เข้าใจว่าหมายถึงทรัพย์ จนเกิดมีคำว่า “ทรัพย์ศฤงคาร”?

สันนิษฐานว่า เดิมนั้นท่านใช้คำว่า “ศฤงคาร” ในฐานะเป็นคุณศัพท์ เช่นในคำที่พจนานุกรมฯ ยกมาว่า “สาวศฤงคาร” ก็หมายถึงหญิงที่รัก คืออะไรเป็นที่รักก็ใช้ “ศฤงคาร” ไปขยายคำนั้น

ทรัพย์ศฤงคาร” ก็หมายถึง “ทรัพย์อันเป็นที่รักที่ชอบใจ” (ในบาลีมีศัพท์ว่า “วิตฺต” แปลกันว่า “ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ” พอเทียบความกันได้)

ศฤงคาร” จึงไม่ได้แปลว่า “ทรัพย์” แต่เมื่อใช้คำว่า “ทรัพย์ศฤงคาร” จนติดปาก ต่อมาคำว่า “ทรัพย์” กร่อนหายไป เหลือแต่ “ศฤงคาร” ก็เลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่า “ศฤงคาร” แปลว่า ทรัพย์

ทำนองเดียวกับคำว่า “มโนมัย” ที่ใช้ประกอบกับ “ม้า” เรียกเป็น “ม้ามโนมัย” แล้วคำว่า “ม้า” หายไป เหลือแต่ “มโนมัย” คนก็เข้าใจกันว่า “มโนมัย” แปลว่า ม้า (ดูรายละเอียดที่: “มโนมัย” บาลีวันละคำ (2,288) 17-9-61)

ศฤงคาร” ที่เข้าใจกันว่าหมายถึง ทรัพย์ จึงเป็นความหมายที่คลาดเคลื่อนหรือ “ผิดจนถูก” ไปอีกคำหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: บัณฑิตใช้ทรัพย์เป็นพาหนะนำไปสู่สวรรค์นิพพาน

: คนเขลาใช้ทรัพย์เป็นยานนำไปสู่มหานรก

#บาลีวันละคำ (2,304)

3-10-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *