อาทิตย์อุทัย (บาลีวันละคำ 2,303)
อาทิตย์อุทัย
อ่านว่า อา-ทิด-อุ-ไท
แยกศัพท์เป็น อาทิตย์ + อุทัย
(๑) “อาทิตย์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “อาทิจฺจ” (อา-ทิด-จะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ทิปฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ปฺ เป็น จฺ (ทิปฺ > ทิจฺ), ลบ ณฺ ที่ ณฺย ปัจจัย (ณฺย > ย), แปลง จฺย (คือ จฺ ที่ ทิจฺ < ทิปฺ) และ ย ที่ ณฺย เป็น จฺจ
: อา + ทิปฺ > ทิจ = อาทิจฺ + ณฺย = อาทิจฺณฺย > อาทิจฺย > อาทิจฺจ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ดวงไฟที่รุ่งเรืองยิ่งนัก” หมายถึง ดวงอาทิตย์ (the sun)
บาลี “อาทิจฺจ” สันสกฤตเป็น “อาทิตฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้สั้นๆ ว่า –
“อาทิตฺย : (คำนาม) พระอาทิตย์; the sun.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “อาทิตย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อาทิตย-, อาทิตย์ : (คำนาม) “เชื้ออทิติ” คือ เทวดาพวกหนึ่งซึ่งเป็นลูกนางอทิติผู้เป็นชายาพระกัศยปประชาบดี เทวดาพวกนี้มีจํานวนกล่าวไว้ต่างกัน บ้างว่ามี ๕ องค์ บ้างว่ามี ๗ องค์ บ้างว่ามี ๑๒ องค์ ได้แก่ อินทราทิตย์ (พระอินทร์) วรุณาทิตย์ (พระพิรุณ) ฯลฯ สูรยาทิตย์ (พระอาทิตย์ที่ส่องโลก); ชื่อเทวดาพระเคราะห์ คือ สูรยาทิตย์; ดวงตะวัน (ชื่อเทวดาองค์หนึ่งในนิยาย), ในตํารานพเคราะห์นับเอาเป็นดาวพระเคราะห์ที่ ๑; ชื่อวันที่ ๑ ของสัปดาห์; รอบ ๗ วัน เช่น ไม่ว่างตลอดอาทิตย์. (ส.; ป. อาทิจฺจ).”
(๒) “อุทัย”
บาลีเป็น “อุทย” (อุ-ทะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, บน, นอก) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง) + อ ปัจจัย, ลง ท อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + ท + อิ), แปลง อิ เป็น อย
: อุ + ท + อิ = อุทิ > อุทย + อ = อุทย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การขึ้นไป” หมายถึง การขึ้น, ความเจริญ; การเพิ่มพูน; รายได้, ผลประโยชน์ (rise, growth; increment, increase; income, revenue, interest)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุทัย : (คำนาม) การเกิดขึ้น เช่น สุโขทัย = การเกิดขึ้นแห่งความสุข, การตั้งขึ้น เช่น อรุโณทัย = การตั้งขึ้นแห่งอรุณ. (คำกริยา) เริ่มส่องแสง ในคำว่า อาทิตย์อุทัย. (ป., ส.).”
อาทิตย์ + อุทัย = อาทิตย์อุทัย
อภิปรายขยายความ :
“อาทิตย์อุทัย” เป็นคำที่เอารูปคำบาลีสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย แปลจากหน้าไปหลังตามที่เข้าใจกันในภาษาไทยว่า “ดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสง”
ในภาษาบาลี “อุทัย” เป็นคำนาม แต่ในที่นี้เราใช้ “อุทัย” เป็นคำกริยาและแปลว่า “เริ่มส่องแสง” (ตามพจนานุกรมฯ)
ในภาษาบาลี “อุทัย” ไม่ได้แปลว่า “เริ่มส่องแสง” แต่แปลว่า การขึ้นไป หรือการเกิดขึ้น
คำคู่กับ “อุทย” (อุทัย) ที่ใช้ในทางธรรมคือ “วย” (วะ-ยะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “วัย” ในภาษาไทย
อุทย + วย แปลง ว เป็น พ และซ้อน พฺ ได้รูปเป็น “อุทยพฺพย” (อุ-ทะ-ยับ-พะ-ยะ) แปลว่า การเพิ่มขึ้นและการลดลง, การขึ้นและการลง, การเกิดและการตาย, ขึ้น ๆ ลง ๆ (increase & decrease, rise & fall, birth & death, up & down)
ภาษาธรรมะที่คุ้นกันดีคือ “เกิด-ดับ” ก็มีความหมายตรงกับ “อุทยพฺพย” คำนี้
“อาทิตย์อุทัย” นอกจากแปลจากหน้าไปหลังแบบไทยว่า “ดวงอาทิตย์ขึ้น” แล้ว แปลจากหลังมาหน้าตามแบบบาลีสันสกฤตก็ได้ คือแปลว่า “การขึ้นไปแห่งดวงอาทิตย์” ได้ความตรงกัน นับว่าเป็นคำพิเศษคำหนึ่ง
คำว่า “อาทิตย์อุทัย” นี้ มักเข้าใจกันว่าใช้หมายถึงประเทศญี่ปุ่น โดยอธิบายว่า ตามภูมิศาสตร์ถือว่าญี่ปุ่นเป็นแผ่นดินที่มนุษย์ได้เห็นดวงอาทิตย์ขึ้นในแต่ละวันก่อนดินแดนส่วนอื่นของโลก
อธิบายนี้น่าจะสืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าโลกแบน และดินแดนส่วนที่เป็นประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่สุดแผ่นดินด้านตะวันออก จึงนับเป็นดินแดนแรกที่เห็นดวงอาทิตย์ขึ้น
แต่ถ้าถือตามความจริงที่โลกกลม ก็ไม่อาจอ้างได้เลยว่าดินแดนส่วนไหนจะเห็นดวงอาทิตย์ก่อนใคร เพราะเราไม่อาจอ้างได้ว่าตรงไหนเป็นจุดเริ่มต้นของวงกลม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อาทิตย์ส่องสว่างแม้ในบ้านที่ด่าว่า
: บัณฑิตแผ่เมตตาแม้แก่คนที่คิดร้าย
#บาลีวันละคำ (2,303)
2-10-61