บาลีวันละคำ

โลกวัชชะ (บาลีวันละคำ 367)

โลกวัชชะ

อ่านว่า โล-กะ-วัด-ชะ

บาลีเป็น “โลกวชฺช

โลกวชฺช” ประกอบด้วย โลก + วชฺช

โลก” หมายถึงหมู่มนุษย์, ชาวโลก, สังคม (“โลก” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป” “สิ่งที่จะย่อยยับไป”)

วชฺช” แปลว่า ควรกล่าว, ควรพูดติ, ควรถูกตำหนิ (มีความหมายอย่างอื่นอีก)

โลก + วชฺช = โลกวชฺช = โลกวัชชะ แปลเอาความว่า “เรื่องที่เป็นความผิดตามความเห็นของชาวโลก

โลกวัชชะ” เป็นคำที่ใช้เกี่ยวกับพระสงฆ์ มีความหมายว่า พฤติกรรม การกระทำ ข้อเสียหาย ที่สังคมติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ

โลกวัชชะ เป็นคำที่คู่กับ “ปณฺณตฺติวชฺช” (ปัน-นัด-ติ-วัด-ชะ)

ปณฺณตฺติ (= ข้อบัญญัติ) + วชฺช เขียนแบบไทยเป็น “ปัณณัตติวัชชะ”แปลว่า “เรื่องที่มีความผิดตามข้อบัญญัติ” คือมีศีลบัญญัติห้ามไว้

คำคู่นี้ มีความหมาย ตามตัวอย่างดังนี้ :

– พระตัดหญ้าในวัด ชาวบ้านอาจมองว่าพระขยันดี แต่ที่จริงเป็นความผิดเพราะมีพุทธบัญญัติห้ามไว้ อย่างนี้เรียกว่า ปัณณัตติวัชชะ

– พระสงฆ์เข้าไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า แม้ไม่มีข้อห้ามในศีล 227 ข้อ แต่ชาวบ้านตำหนิ อย่างนี้เรียกว่า โลกวัชชะ

อีกนัยหนึ่งว่า

– เรื่องที่พระทำ ถือว่าผิด แต่ชาวบ้านทำ ไม่ผิด เช่น พระฉันข้าวในเวลาวิกาล ผิดพุทธบัญญัติ ชาวบ้านกินอาหารหลังเที่ยง ไม่ผิด อย่างนี้คือ ปัณณัตติวัชชะ มีโทษคือผิดเฉพาะทางพระวินัย

– เรื่องที่พระทำก็ผิด ชาวบ้านทำก็ผิด เช่น ลักขโมยของเขา อย่างนี้คือ โลกวัชชะ มีโทษคือผิดทางกฎหมายด้วย

: ปัณณัตติวัชชะ กฎของสงฆ์ ตามพุทธบัญญัติ

: โลกวัชชะ กฎของบ้านเมือง หรือตามที่สังคมตำหนิ

แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าชาวบ้านเขาตำหนิ

คนที่มีสติย่อมจะไม่ทำ

บาลีวันละคำ (367)

15-5-56

โลก+วชฺช โทษหรือความผิดทางโลกที่เกิดขึ้นเนือง ๆ มิลินฺ.266; ขุ.อ.190.

vajja common sins Miln 266; KhA 190.

โลก” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป” “สิ่งที่จะย่อยยับไป

ในทางธรรม นัยหนึ่งท่านแบ่งโลกเป็น ๓ ชนิด คือ

๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร = สรรพสิ่งที่เกิดจากการปรุงประสมขึ้น เข้าใจง่ายๆ คือ ร่างกายตัวตนของแต่ละคน

๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์ = สรรพชีพที่มีชีวิตเคลื่อนไหวไปมา

๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน = สรรพฐานที่เป็นภพภูมิอันมีในจักรวาล

โลก ๑ = โลก, สัตวโลก (ภุวน) (ศัพท์วิเคราะห์)

ลุชฺชติ ปลุชฺชตีติ โลโก ผู้จะพินาศไป

ลุชฺ ธาตุ ในความหมายว่าพินาศ ณ ปัจจัย แปลง ช เป็น ก

ลุจฺจติ ปลุจฺจติ วินาสํ คจฺฉตีติ โลโก ผู้จะย่อยยับไป

ลุจฺ ธาตุ ในความหมายว่าย่อยยับ, พินาศ  อ ปัจจัย แปลง จ เป็น ก

โลก ๒ = ตัวตน, กาย (อตฺตา กาย)

โลกียติ ทิสฺสตีติ โลโก ร่างอันเขาเห็นอยู่

โลก ธาตุ ในความหมายว่าเห็น, ปรากฏ อ ปัจจัย

โลกติ ปติฏฺฐหติ เอตฺถ ปุญฺญปาปํ ตพฺพิปาโก จาติ โลโก ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น (โลก + อ)

โลก (ประมวลศัพท์)

แผ่นดินเป็นที่อาศัย, หมู่สัตว์ผู้อาศัย; โลก ๓ คือ

๑. สังขารโลก โลกคือสังขาร

๒. สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์

๓. โอกาสโลก โลกคือแผ่นดิน;

อีกนัยหนึ่ง

๑. มนุษยโลก โลกมนุษย์

๒. เทวโลก โลกสวรรค์ ทั้ง ๖ ชั้น

๓. พรหมโลก โลกของพระพรหม

สังขารโลก (ประมวลศัพท์)

โลกคือสังขาร ได้แก่ชุมนุมแห่งสังขารทั้งปวงอันต้องเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย

โลก ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

โลก, สัตว์โลก, พลเมือง

โลก, โลก-

  [โลก, โลกะ-, โลกกะ-] น. แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (ภูมิ) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).

โลกวชฺช นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

สิ่งที่ชาวโลกติเตียน.

โลกวัชชะ (ประมวลศัพท์)

อาบัติที่เป็นโทษทางโลก คือคนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิดความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น; บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียนถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น; เทียบ ปัณณัตติวัชชะ

ปัณณัตติวัชชะ

อาบัติที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือคนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิดความเสียหาย เป็นความผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานละเมิดพระบัญญัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ขุดดิน ใช้จีวรที่ไม่ได้พินทุ นั่งนอนบนเตียงตั่งที่ไม่ได้ตรึงเท้าให้แน่น เป็นต้น; เทียบ โลกวัชชะ

โลกวัชชะ

 [โลกะ-] น. โทษทางโลก, อาบัติที่เป็นโทษทางโลก, ข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียนว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ คือ สิ่งที่ภิกษุหรือคนทั่วไปที่ไม่ใช่ภิกษุทำ ก็เป็นความผิดความเสียหายเหมือนกัน เช่น ทําโจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทะเลาะวิวาท. (ป.).

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย