บาลีวันละคำ

โลกอุดร (บาลีวันละคำ 368)

โลกอุดร

(บาลีแปลงรูป)

อ่านว่า โลก-อุ-ดอน

บทสวดสรรเสริญพระธรรมคุณ สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีความตอนหนึ่งว่า

ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล และเก้ากับทั้งนฤพาน

สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร พิสุทธิ์พิเศษสุกใส

และอีกตอนหนึ่งว่า

คือทางดำเนินดุจคลอง ให้ล่วงลุปอง ยังโลกอุดรโดยตรง

โลกอุดร” เป็นคำที่แปลงมาจากบาลีว่า “โลกุตฺตร” (โล-กุด-ตะ-ระ) คือ โลก (โล-กะ) + อุตฺตร (อุด-ตะ-ระ)

โลก” ในที่นี้หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

อุตฺตร” แปลว่า เหนือ, อยู่เหนือ, สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เกินกว่า, เหนือกว่า

“อุตฺตร” เขียนแบบไทยเป็น “อุดร”  (สูตร : ตะ เป็น ดะ ลบตะตัวหนึ่ง) คำที่เราคุ้นกันดีคำหนึ่ง คือ “ทิศอุดร” แปลว่า ทิศเหนือ

โลก + อุดร = โลกอุดร มีความหมายว่า เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก

โลกอุดร ไม่ใช่โลกหรือดินแดนอีกแห่งหนึ่ง แต่เป็นภูมิหรือระดับจิตของผู้ที่ฝึกฝนพัฒนาตนเองจนจิตอยู่เหนือโลก คือแม้วิสัยโลกมากระทบก็ไม่กระเทือน มีสติสมบูรณ์มั่นคง ไม่ฟู ไม่แฟบ

: เมื่อใด วิสัยโลกมากระทบก็ไม่กระเทือน

 เมื่อนั้นแหละ “ล่วงลุปอง ยังโลกอุดรโดยตรง” ได้แล้ว

บาลีวันละคำ (368)

16-5-56

อุตฺตร (บาลี-อังกฤษ)

๑ สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า

๒ ทางทิศเหนือ

๓ ภายหลัง, หลังจาก, รองลงมา

๔ เกินกว่า, เหนือไปกว่า

โลกุตระ (ประมวลศัพท์)

พ้นจากโลก, เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, ไม่เนื่องในภพทั้งสาม (พจนานุกรม เขียน โลกุตร); คู่กับ โลกิยะ

โลกีย์

เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, เนื่องในโลก, เรื่องของชาวโลก, ยังอยู่ในภพสาม, ยังเป็นกามาวจร รูปาวจร หรืออรูปาวจร; คู่กับ โลกุตตระ

โลกุตตรภูมิ

ชั้นที่พ้นจากโลก, ระดับจิตใจของพระอริยเจ้า (ข้อ ๔ ในภูมิ ๔ อีก ๓ ภูมิ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ)

โลกุตตรธรรม

ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก, สภาวะพ้นโลก มี ๙ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑; คู่กับ โลกิยธรรม

โลกอุดร, โลกุตระ

 [โลกอุดอน, โลกุดตะระ] ว. เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก. (ป., ส. โลก + อุตฺตร).

โลกิย-, โลกิยะ, โลกีย์

ว. เกี่ยวกับโลก, ทางโลก, ธรรมดาโลก, ของโลก, ตรงข้ามกับ โลกุตระ, เช่น โลกิยธรรม เรื่องโลกิยะ, โดยปริยายหมายถึงที่เกี่ยวกับกามารมณ์ เช่น เรื่องโลกีย์. (ป.; ส. เลากฺย).

โลกุตร-, โลกุตระ

 [โลกุดตะระ] ว. เหนือโลก, พ้นวิสัยของโลก, เช่น โลกุตรธรรม เรื่องโลกุตระ.

โลกุตรธรรม

 [โลกุดตะระทํา] น. ธรรมที่พ้นวิสัยของโลก มี ๙ คือ มรรค ๔ (คือ โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค) ผล ๔ (คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล) และนิพพาน ๑. (ส.; ป. โลก + อุตฺตร + ธมฺม).

โลกุตรภูมิ

 [โลกุดตะระ-] น. ภูมิที่พ้นจากโลก; ระดับจิตใจของพระอริยบุคคล.

บทนมัสการและสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ

สำนวนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปราชญ์ทางภาษาคนสำคัญในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(หน้า ๗)

๑(นำ) ธรรมะคือคุณาการ

(รับพร้อมกัน) ส่วนชอบสาทร ดุจดวงประทีปชัชวาล

๒แห่งองค์พระศาสดาจารย์ ส่องสัตว์สันดาน สว่างกระจ่างใจมน

๓ธรรมใดนับโดยมรรคผล เป็นแปดพึงยล และเก้ากับทั้งนฤพาน

๔สมญาโลกอุดรพิสดาร อันลึกโอฬาร พิสุทธิ์พิเศษสุกใส

๕คือธรรมต้นทางคระไล นามขนานขานไข ปฏิบัติปริยัติเป็นสอง

๖คือทางดำเนินดุจคลอง ให้ล่วงลุปอง ยังโลกอุดรโดยตรง

๗ข้อขอโอนอ่อนอุตมงค์ นบธรรมจำนง ด้วยจิตและกายวาจา (กราบ)

(หน้า ๑๐)

โลกอุดร เหนือโลก พ้นวิสัยของโลก

คัดจากหนังสือ

คุณานุคุณไตรภาค

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ

จัดพิมพ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

โดยเสด็จพระราชกุศล ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

๙ เมษายน ๒๕๕๕

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย