บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ตัวอย่างเรื่องที่เข้าใจผิดกันทั้งบ้านทั้งเมือง

ตัวอย่างเรื่องที่เข้าใจผิดกันทั้งบ้านทั้งเมือง

—————————————

คำกลอนที่ว่า –

เมืองใดไม่มีทหารหาญ…….เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า

เมืองใดไร้จอมพารา………..เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

………….

………….

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ………เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย

เมืองใดไร้ธรรมอำไพ……….เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ

………….

เคยมีผู้เข้าใจกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

ขนาดเอาไปทำเป็นเพลงเผยแพร่ทาง YouTube ก็ยังพิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๖ เป็นปก (ดูภาพประกอบ)

เคราะห์ดีที่เรื่องนี้มีผู้พยายามสืบเสาะจนได้ความจริง และได้นำความจริงมาเปิดเผยต่อสังคม

เป็นข้อเตือนใจว่า จะเชื่ออะไร ควรตรวจสอบให้รู้ความจริงเสียก่อน

เรื่องที่ญาติมิตรจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมคัดลอกจากวารสารและหนังสือพิมพ์ที่เป็นต้นฉบับเก็บไว้ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๒๘ 

เมื่อจะนำมาเสนอในครั้งนี้หาต้นฉบับวารสารและหนังสือพิมพ์ไม่พบแล้ว 

ยังดีที่บันทึกวันเดือนปีของต้นฉบับไว้ครบถ้วน 

ญาติมิตรท่านใดอยู่ใกล้แหล่งข้อมูล เช่น หอสมุดแห่งชาติ และหอสมุดวชิราวุธานุสรณ์ (อยู่ภายในบริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี) และมีใจรักในทางสืบหาความจริง ถ้าจะลองช่วยกันค้นหาต้นฉบับมายืนยัน ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

เนื่องจากระบบของเฟซบุ๊กไม่สามารถกำหนดรูปแบบของอักษรและการจัดหน้าให้ตรงตามต้นฉบับได้ เพราะฉะนั้น เมื่ออ่านเรื่องนี้ขอได้โปรดเข้าใจว่ารูปแบบอาจไม่ตรงตามต้นฉบับ แต่ข้อความครบถ้วนทุกประการ

ขอเชิญอ่านความเป็นไปของการสืบหาความจริงที่ผู้คนเข้าใจผิดกันทั้งบ้านทั้งเมืองดังต่อไปนี้

——————–

กังวลเรื่องเมืองกังวล

สุภาพสตรีผู้หนึ่ง เป็นครูอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ได้สอบถามมายัง กรว.ว่า พระราชนิพนธ์เรื่อง “เมืองกังวล” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าอย่างไรแน่ อยู่ในเรื่องใด สอบถามมาเมื่อราวๆ ๔ หรือ ๕ ปีมาแล้ว

กรว.นั้น มีชื่อเต็มว่า “คณะกรรมการรวบรวมและค้นคว้าเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ ฯลฯ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” ตามชื่อ กรว.ย่อมจะต้องสนใจในเรื่องนี้ แต่ก็จำต้องตอบสุภาพสตรีผู้นั้นว่า “ไม่ทราบ” ทั้งนี้เพราะไม่ทราบจริงๆ และไม่เชื่อว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ด้วย

ต่อมาไม่ช้านัก เราก็ได้ยินวงดนตรีกองทัพบก บรรเลงเพลง “เมืองกังวล” ให้เราฟังอย่างไพเราะ ! 

เนื้อร้องมีดังนี้ : –

………….

เมืองใดไร้สิ่งอันพึงมี……………ย่อมเสื่อมศักดิ์ศรีไร้คุณค่า

พระมหาธีรราชเจ้าจอมปรัชญา..ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่าน่ากังวล

_________

เมืองใดไม่มีทหารหาญ….เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า

เมืองใดไร้จอมพารา……..เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ……เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน

เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ……เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว………เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม

เมืองใดไร้นารีงาม……….เมืองนั้นหมดความภูมิใจ

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ……เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย

เมืองใดไร้ธรรมอำไพ…….เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ

………….

คำประพันธ์บทนี้ก็เข้าทีอยู่มากทีเดียว แต่จะเป็นพระราชนิพนธ์จริงๆ หรือ ? กรรมการ กรว.ท่านหนึ่งรับอาสาจะไปสืบจากวงดนตรีกองทัพบก

ได้รับคำตอบมาว่า ได้พระราชนิพนธ์บทนี้มาจาก กระดาษห่อของซึ่งฉีกออกมาจากวารสาร “สามมุข”

สอบถามไปยังท่านบรรณาธิการวารสาร “สามมุข” ได้รับคำตอบมาว่าลงพิมพ์พระราชนิพนธ์บทนี้มานานแล้ว จำไม่ได้ว่าใครส่งไปให้ !

กังวลเรื่องเมืองกังวลจนกลุ้มจิต

จะสิ้นคิดสิ้นปัญญาครานี้หรือ !

ครั้นมาถึง ศก ๒๕๒๗ นี้ เมืองกังวลโหมใหญ่ เริ่มด้วยกรมพลศึกษา จัดให้ลูกเสือร่วมหมื่นแปรขบวนเต็มสนามกีฬาแห่งชาติ ถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันลูกเสือแห่งชาติ ๑ กรกฎาคม ด้วยการร้องเพลง “เมืองกังวล” ถ่ายทอดทางวิทยุโทรทัศน์ให้ชมกันทั่วประเทศ

ใกล้วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันสวรรคตเข้ามา สถาบันอันมีเกียรติ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถวายราชสดุดีด้วยเพลงนี้เหมือนกัน

กรณีกรมประชาสัมพันธ์นั้นทำให้ข้าพเจ้ากลุ้มใจมากยิ่งขึ้น เพราะข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปบันทึกเสียงสัมภาษณ์สดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อออกอากาศทางวิทยุแห่งประเทศไทย กลุ้มใจเพราะพอเสร็จการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ก็ร่วมถวายราชสดุดีด้วยคำประพันธ์ “เมืองกังวล” !

ข้าพเจ้าระบายความกลุ้มใจโดยบ่นกับเพื่อนขณะที่รถติดการจราจรอยู่กลางถนน คุณวัฒนะ บุญจับ ได้ยินเข้า จึงบอกข้าพเจ้าว่า คุณขนิษฐา บุณยโสภณ ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง !

“ก็ใครแต่งล่ะ ?”

“ดูเหมือนจะเป็น คุณถนอม อัครเศรณี !”

ตอนบ่ายวันเดียวกัน คุณบัว ศจิเสวี บอกว่ารู้จักคุณถนอม เรียนที่โรงเรียนบ้านสมเด็จฯ มาด้วยกัน

ทั้งคุณขนิษฐา และคุณบัว จึงได้หาหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ มาให้ข้าพเจ้าอ่าน

ได้เรื่องว่า คุณถนอม อัครเศรเณี เป็นผู้ประพันธ์บทให้แก่โรงเรียนประจำอำเภอบ้านโป่ง ประมาณ ๓๕ ปีมาแล้ว ให้ชื่อว่า “หัวใจเมือง” และใช้นามปากกาว่า “อัครรักษ์” 

หลายปีต่อมา คุณสง่า อารัมภีร์ ประพันธ์ทำนองเพลง จะส่งเข้าประกวดในงานวชิราวุธานุสรณ์ เปลี่ยนชื่อ “หัวใจเมือง” เป็น “เมืองกังวล” แต่ได้โทรศัพท์ติดต่อกับคุณถนอมถามว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์หรือเปล่า.

คุณถนอมตอบว่า “เป็นบทกลอนของผมเอง” คุณสง่า เลยไม่ได้ส่งเข้าประกวด เพราะไม่ใช่บทพระราชนิพนธ์

ถ้าไม่ผิดกติกา ก็มีหวังที่จะได้รางวัลแน่ๆ.

ข้าพเจ้ายังสิ้นปัญญา ไม่ทราบว่าผู้ใดนำเพลงที่มิได้ส่งเข้าประกวดไปเผยแพร่ แต่ข้าพเจ้าก็สิ้นกังวลเรื่องเมืองกังวลแล้ว.

(ลายเซ็น) ปิ่น มาลากุล

๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

………….

ที่มา:

วารสาร มานวสาร รายเดือน ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๑, มกราคม ๒๕๒๘

——————–

จดหมายจาก ถนอม อัครเศรณี ถึง “อิงอร”

(สะกดตามต้นฉบับ)

………….

เนื่องมาจากบทเพลงเก่าของเพื่อนเก่า

บ้านเลขที่ 303 แยกซอยเริงนิมิต

สุขุมวิท 93 บางจาก พระโขนง

กรุงเทพมหานคร

“อิงอร” เพื่อนรัก

ผมติดตามผลงาน “พระอาทิตย์ชิงดวง” ของเพื่อนฝูงในสยามรัฐอยู่เสมอ ขอชมเชยในฝีมือและความขยันขันแข็ง ส่วนผมผลงานลดน้อยลงไปกว่าเก่า ทั้งนี้ เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่อำนวย นอกจากนั้น บางระยะยังมีเหตุการณ์อันไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้จิตใจไม่สบาย กลุ้มกังวลอยู่ไม่สร่างหายอีกด้วย ดังผมจะเล่าให้เพื่อนฝูงฟังต่อไปนี้

ในระยะที่ผมเริ่มต้นไปคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่ นสพ.ประชาธิปไตย ถนนบำรุงเมือง ราว พ.ศ.2492 ได้มีพรรคพวกจาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งผมกับเพื่อนๆ ไปเที่ยวตอนสุดสัปดาห์เป็นครั้งคราวจนคุ้นเคยกัน ได้มาติดต่อผมและ อุทธรณ์ พลกุล ให้ช่วยเขียนเรื่องให้คนละเรื่อง เขาจะนำไปลงพิมพ์ในหนังสือของ ร.ร.ประจำอำเภอ ผมก็เขียนบทกลอนเรื่อง “หัวใจเมือง” โดยใช้นามปากกาว่า “อัครรักษ์” ให้ไป ส่วนอุทธรณ์เขียนเรื่องอะไรให้ไปผมจำไม่ได้

บทกลอนที่ผมแต่งนั้นมีเนื้อความว่าดังนี้

หัวใจเมือง

กลอน 6

เมืองใดไม่มีทหารหาญ….เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า

เมืองใดไร้จอมพารา……..เมืองนั้นไม่ช้าอับจน

เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ……เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน

เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ……เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม

เมืองใดไม่มีกวีแก้ว………เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม

เมืองใดไร้นารีงาม……….เมืองนั้นหมดความภูมิใจ

เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ……เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย

เมืองใดไร้ธรรมอำไพ…….เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย.

ยังจำได้ว่าขณะที่ผมกำลังแต่งบทกลอนเรื่องนี้ได้ครึ่งๆ กลางๆ ชั้น แสงเพ็ญ เพื่อนซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับผมมากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ได้ฟังผมอ่านต้นร่าง “หัวใจเมือง” ให้ฟังได้ถามผมว่า “เมืองใดไม่มีกวีแก้ว — กวีแก้วหมายความยังไง ?”

“กวีแก้ว หมายความถึงรัตนกวี” ผมตอบแล้วอธิบายต่อ “ที่เราเคยแต่ง ‘โอ้ ! รัตนกวี’ ไว้อาลัยท่าน ‘น.ม.ส.’ ในหนังสือ ‘เอกชน’ ไงละ ‘โอ้ ! รัตนกวี เกียรติคือ แสงสี เฉกมณีพรายพรรณ เป็นเทียนธานินทร์ เป็นปิ่นสุบรรณ เป็นมิ่งทรงธรรม์ เป็นขวัญประชาฯ …’ ” 

“เข้าใจแล้ว” เพื่อนรักของผมรีบบอก “เรานึกว่าหมายถึงกวีซึ่งเป็นคู่กับแก้วเหล้าเสียอีก”

“ไอ้นั่นรู้ๆ กันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงก็ได้” ผมชิงตัดบท

ต่อมาอีกไม่นานนัก ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับหนังสือและผลงานของนักเขียน ผมได้รับการติดต่อให้ส่งผลงานด้วย 1 ชิ้น โดยขอให้เขียนด้วยลายมือของตนเอง

ผมเห็นว่าบทกลอนเรื่อง “หัวใจเมือง” ที่ส่งไปลงพิมพ์ในหนังสือของ ร.ร. ประจำอำเภอบ้านโป่ง นั้น ยังไม่เป็นที่แพร่หลายพอ และอีกอย่างบทกลอนเรื่องนี้ก็สั้นๆ ดี ไม่ต้องเขียนมาก จึงลงมือเขียนส่งให้ผู้ที่มาติดต่อไปตามคำขอโดยใช้นามปากกาเดิม

ครั้นปี 2493 สะอาด ฉายะยันตร์ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเงินทุนจากพวกเราชาว นสพ.ประชาธิปไตย และมิตรสหายใกล้ชิด จัดออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “เจ้าพระยา” โดยมีผมเป็นบรรณาธิการ รัตน์ ศรีเพ็ญ และ วิมล พลกุล เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ทองเติม เสมรสุต เป็นฝ่ายศิลปะเขียนอักษรหัวหนังสือ “เจ้าพระยา” หัวชื่อคอลัมน์ ชื่อเรื่อง และนามปากกา พร้อมเสร็จอย่างสวยงาม

ในคอลัมน์ “ภาษาสวรรค์” ของ “เจ้าพระยา” รายสัปดาห์นี้เอง ได้มีบทกลอนเรื่อง “หัวใจเมือง” โดย “อัครรักษ์” ลงพิมพ์ในฉบับประจำวันอาทิตย์ ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2493

และต่อมาอีก “หัวใจเมือง” ได้ลงพิมพ์ใน นสพ.สายกลาง หรือ นสพ. อะไรไม่แน่ใจ เพราะเด็กผู้ตัดบทกวีของผมปิดสมุด ตัดแต่เพียงบทกลอน ส่วนชื่อ นสพ. และวันเดือนปี ไม่ได้ตัดปิดไว้ด้วย คราวนี้ใช้ชื่อจริง – ถนอม อัครเศรณี

ขอเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ.2491 – 92 – 93 เพื่อให้เรื่องเชื่อมกัน ผมกับ ชั้น แสงเพ็ญ ได้ใช้เวลาว่างจากงาน นสพ.ประชาสาร ตอนเย็นๆ และวันเสาร์ – อาทิตย์ ไปช่วย อำนวย กลัสนิมิ หรือ “เนรมิต” เพื่อนรักของผม ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงละครคณะ “ศิวารมย์” ที่มีชื่อเสียงลือลั่นมากในสมัยนั้น ทำให้ผมได้รู้จักกับ  คุณครูทวี ณ บางช้าง หรือ “มารุต” คุณสง่า อารัมภีร์ หรือ “แจ๋ว วรจักร” ซึ่งต่อมาผมเรียกว่า “อาว์แจ๋ว” และ สง่า อารัมภีร์ ก็เรียกผมว่า “อาว์หนอม” เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากัน

เราติดต่อใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ดื่มกินแล้วรักกัน รักกันแล้วดื่มกินเป็นนิจสินที่โรงละครเฉลิมนครและที่บ้านวรจักร ต่อมายังไปถ่ายทำหนังเรื่อง “พันท้ายนรสิงห์” และเรื่อง “น้ำลึก” แถวชายทะเลด้วยกันอีกหลายครั้ง ในช่วงเวลา 2 – 3 ปีนี้เอง ผมได้ทยอยมอบบทกวีให้ “อาแจ๋ว” ในฐานะหัวหน้าวงดนตรี ไปแต่งทำนองเพลง 2 – 3 ชิ้น เช่น อกฟ้า – อกเรียม เสียงจากอเวจี ความรักมิใช่แบบเรียนไว และสุดท้าย “หัวใจเมือง”

เฉพาะ 2 ชื่อหลัง อาแจ๋วไม่มีโอกาสได้ใส่ทำนองเพลงจนแล้วจนเล่า ระยะต่อมางานการทำให้เราต้องเหินห่างกัน ครั้น พ.ศ.2494 ผมจัดพิมพ์หนังสือ ภาษาสวรรค์ และ บทนำแห่งชีวิต โดย ถนอม อัครเศรณี และ อัครรักษ์ แจกในงานฌาปนกิจศพคุณแม่ของผมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2494 ผมได้บรรจุบทกลอน “หัวใจเมือง” ไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกด้วย และทั้งหมดผมได้ถ่ายสำเนาแนบมาให้ดูด้วยแล้ว

กาลเวลาผ่านพ้นไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2502 หรือ 10 ปีให้หลัง สะอาด ฉายะยันตร์ และ วิมล พลกุล แห่ง นสพ.เสียงอ่างทอง ได้ไปตามผมจากบ้านบางจาก พระโขนง ให้มาร่วมงานด้วย โดยให้ผมควบคุมหน้าสตรีและคอลัมน์ “วิจารณ์บันเทิง” ในหน้าสตรีผมได้เปิดสนามบทกลอน “ประกายเพชร” และต่อมาได้สลับด้วย “เกล็ดดาว” สัปดาห์ละ 2 ครั้งอีกด้วย มีนักกลอนฝีปากดีๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งทุกๆ วาระที่เป็นวันสำคัญประจำปี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันจักรี วันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ผมได้รับมอบหมายให้แต่งคำฉันท์ กาพย์ โคลง กลอน โดยใช้นามจริงลงพิมพ์ในหน้าแรกโดยสม่ำเสมออีกอย่าง ทำให้ผลงานในด้านแต่งบทกวีและควบคุมคอลัมน์ประกายเพชรเกล็ดดาว ขยายกว้างไกลไปไม่น้อย

ต่อมา นสพ.เสียงอ่างทอง ได้เปลี่ยนใช้ชื่อเป็น นสพ.ไทยรัฐ และต่อมาอีก 2 – 3 ปี ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาแทนการควบคุมหน้าสตรี ระยะหลังๆ นี้นานๆ ผมจะได้พบกับอาว์แจ๋วสักครั้ง และไม่มีโอกาสได้ร่วมวงกันเลยก็ว่าได้

ครั้นมาใกล้ๆ กับกำหนดวันงานวชิราวุธานุสรณ์ 25 พฤศจิกายน 2512 หรือ 11 ก็เลือนๆ ไปเสียแล้ว บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งทำงานอยู่ในห้องพร้อมกับพรรคพวก ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง แจ้งว่าโทรมาจากคณะกรรมการประกวดบทเพลงสดุดีสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในวันงานวชิราวุธานุสรณ์

“มีอะไรหรือครับ” ผมถาม

“ผมขอรบกวนเรียนถามหน่อยครับ บทกลอนที่ว่า — เมืองใดไม่มีทหาร เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน — เป็นบทพระราชนิพนธ์ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 หรือเปล่าครับ ?” เสียงนั้นสอบถามผมมา

“ไม่ใช่ครับ เป็นบทกลอนของผมเอง” ผมตอบอย่างเน้นหนัก “ทำไมหรือครับ”

“ถ้าเช่นนั้นเพลงที่คุณสง่า อารัมภีร์ แต่งไม่มีสิทธิ์ส่งเข้าประกวดซิครับ” เสียงท่านผู้นั้นชี้แจงมา “เพราะเพลงที่ส่งเข้าประกวด คำร้องต้องเป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ครับ”

“หรือครับ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าบทกลอนที่ว่านั้นผมแต่งเอง เคยลงหนังสือพิมพ์มาแล้วหลายฉบับ” ผมอธิบายเพิ่มเติม “ผมมอบให้คุณสง่า อารัมภีร์ แกแต่งทำนองมาตั้งแต่นมนานแล้ว แกเพิ่งมาแต่งหรือครับ เวลามันนานมากเห็นจะสัก 20 ปีได้ คุณสง่าแก่คงหลงลืมสับสนเลยจำผิดไป”

“นั่นนะซีครับ ผมก็สงสัยอยู่แล้ว” ท่านผู้นั้นกล่าวเป็นประโยคสุดท้าย “ขอบคุณมากครับ คุณถนอมครับ”

พอพบกับอาว์แจ๋ว ผมได้เล่าเรื่องที่ว่าให้ฟัง อาว์แจ๋วก็ไม่ได้พูดว่าอะไร คงจะทราบจากคณะกรรมการแล้ว เป็นแต่ยิ้มๆ กล่าวว่า “จำผิดไป” ผมเองก็ไม่ได้ซักไซ้อาว์แจ๋วว่า บทเพลงที่อาว์แจ๋วแต่งทำนองนั้นมีลีลาเนื้อหาอย่างไรบ้าง เป็นแต่กำชับอาว์แจ๋วว่า “อย่าให้เกิดผิดพลาดได้นะ” อาว์แจ๋วก็รับคำ

ครั้นมาเมื่อ พ.ศ.2519 – 20 เห็นจะได้ อยู่ๆ โดยไม่คาดหมายผมต้องตกใจมากเพราะได้ยินเพลงนี้ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุทหารบกลั่นไปหมด ที่ตกใจมากก็คือคำร้องของเพลงนี้ขึ้นต้นว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติสอนใจไว้ว่า “เมืองใดไม่มีทหาร  เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน …” ดำเนินเนื้อร้องตามบทกลอน “หัวใจเมือง” ของผมเรื่อยมาจนจบวรรคสุดท้าย “เมืองใดไร้ธรรมอำไพ  เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย”

อิงอรเพื่อนรัก คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าเพื่อนฝูงเป็นตัวผมบ้างจะรู้สึกอย่างไร ผมไม่จับไข้ตายก็เป็นบุญแล้ว ผมมิได้นิ่งนอนใจเลย รีบโทรศัพท์ติดต่อแจ้งให้อาว์แจ๋วทราบและขอให้แก้ไขความเข้าใจของประชาชนคนฟังเสียให้ถูกต้อง อาว์แจ๋วก็รับว่าจะเขียนชี้แจงในหนังสือ “ฟ้าเมืองไทย” ให้ พร้อมทั้งปรารภว่าไม่รู้เทปเพลงนี้ไปออกอากาศได้อย่างไร ผมก็บอกให้อาว์แจ๋วทำหนังสือแจ้งให้สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุแห่งนั้นๆ ทราบความจริงเสียแต่ต้นๆ มือ จะเป็นผลมากขึ้น อาว์แจ๋วก็รับคำ

ต่อมาปีแล้วปีเล่า ผมก็ยังได้ยินเพลงนี้เป็นครั้งคราว แต่ในระยะหลังๆ มักจะได้ยินเฉพาะคำร้องที่เป็นบทกลอนของผม มาไม่สบายใจหนักก็เมื่อเช้าวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 ซึ่งเป็นวาระคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผมได้ยินจากรายการสยามานุสติ ซึ่งประชาชนรับฟังมาก ยกบทกลอนระบุว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคติเตือนใจไว้ดังนี้ ครั้นแล้วอ่านบทกลอนดังกล่าวของผมตั้งแต่ต้นจนจบ

ผมจึงได้รู้ว่า การแก้ไขความเข้าใจผิดพลาดของมหาชนในเรื่องนี้ อาว์แจ๋วยังทำไม่ได้ผลสมบูรณ์ ผมจึงชวนให้อาว์แจ๋วมาที่บ้านบ้าง โทรศัพท์ติดต่อบ้าง เร่งเร้าให้อาว์แจ๋วจัดการแก้ไขเรื่องนี้เสียให้ได้ผลสมบูรณ์จริงๆ  อาว์แจ๋วก็พยายามมิได้มัวนิ่งเฉย มาปี 2527 นี้เห็นจะได้ผลโดยแท้จริง เพราะไม่ได้เห็นหรือได้ยินการระบุผิดพลาดเช่นที่ผ่านมาแล้วอีก จึงต้องขอขอบคุณอาว์แจ๋วไว้ในที่นี้ด้วย

เพื่อนฝูงคิดดูเถิด บทกลอนของผมนั้นเปรียบได้เพียงเศษธุลี เป็นละอองธุลีพระบาทของบทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่าน เมื่อมีเหตุการณ์ทำให้ประชาชนเกิดความสำคัญผิดพลาดเช่นนี้ ขืนเพิกเฉยต่อไปมิเท่ากับว่า ผมปล่อยให้ราคีเกิดแปดเปื้อนแก่บทพระราชนิพนธ์ในพระองค์ท่านด้วยมิบังควรเช่นนั้นละหรือ ? 

ช่วยชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจความเป็นจริงโดยถูกต้องด้วยเถิด – “อิงอร” เพื่อนรัก จะเป็นบุญคุณหาที่เปรียบมิได้

รักและสุจริตใจ

ถนอม อัครเศรณี

21 พฤศจิกายน 2527

………….

ดีใจที่คอลัมน์ “พระอาทิตย์ชิงดวง” ได้รับใช้เพื่อน ทั้ง “อาว์หนอม” และ “อาว์แจ๋ว” พร้อมกัน ในเรื่องสำคัญเช่นนี้

เรา – เพื่อนเก่ารวมจอกสุราฮะกึ๊นกันทั้งนั้นแหละครับ

ความเป็นมาเป็นไป ที่เพื่อนถนอม อัครเศรณี บรรยายมา อย่างกระจ่างแจ้ง ผมเข้าใจว่าคงจะสิ้นข้อสงสัยสบายใจได้

ความสับสนน่าจะเกิดที่การประกาศของผู้ไม่รู้ต้นสายนั่นแหละครับ เรื่องแบบนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยในวงการเพลง

ก็เพลง “เกียรติศักดิ์ทหารเสือ” ของผมกับ “อาว์แจ๋ว” นี่เอง เป็นเพลงที่เราร่วมกันแต่ง แสดงในละครเรื่อง “เกียรติศักดิ์ทหารเสือ” ที่ศาลาเฉลิมไทย ทางราชการถือเป็นเพลงประจำเหล่าเราก็ยินดี

มีอยู่คราวหนึ่ง ในวันพระราชทานเพลิงศพทหารของชาติปีหนึ่ง วงดนตรีเหล่าทัพหนึ่งเอาไปบรรเลงแล้วประกาศชื่อเป็นเพลงอะไรเพลงหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ชื่อ “เกียรติศักดิ์ทหารเสือ”

แถมยังประกาศว่าเป็นเพลงของวงดนตรีนั้นเป็นผู้แต่งเสียอีก

เล่นเอาผม – นั่งฟังทางโทรทัศน์ถ่ายทอดจากเมรุวัดพระศรีมหาธาตุ – แล้วสะดุ้งวาบ

แต่คงจะสะดุ้งผิดกับเพื่อน “ถนอม อัครเศรณี” ที่ถูกประกาศเอากลอนกวีที่เขียนไว้ในหนังสือหลายเล่มเป็นพระราชนิพนธ์ ของล้นเกล้าฯ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ไป

ผมเห็นใจในความผิดพลาดนี้จริงๆ

ขอท่านผู้อ่าน และท่านผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวง ได้โปรดเข้าใจ ความเป็นมาเป็นไปดังที่เพื่อน – ถนอม อัครเศรณี – เพื่อนผู้เสมือนพระของพวกเราเขียนชี้แจงมาให้ทราบด้วยเถิด

………….

ที่มา:

คอลัมน์ พระอาทิตย์ชิงดวง โดย “อิงอร”

หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๗

หน้า ๙

————

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐

๑๗:

หมายเหตุ:

มีผู้เขียนเรื่องเดียวกันนี้เผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ ตามลิงก์ข้างล่างนี้ โปรดตามไปอ่านเพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *