วสันตดิลก (บาลีวันละคำ 1,988)
วสันตดิลก
พร่างพราวราวหยาดฝน
อ่านว่า วะ-สัน-ตะ-ดิ-หฺลก
ประกอบด้วยคำว่า วสันต + ดิลก
(๑) “วสันต”
บาลีเป็น “วสนฺต” (วะ-สัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก วสฺ (ธาตุ = ยินดี, พอใจ) + อนฺต ปัจจัย
: วสฺ + อนฺต = วสนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ฤดูอันผู้คนยินดี” (2) “ฤดูเป็นที่ยินดีแห่งผู้มีความรักเพราะมีดอกไม้บาน” (3) “ฤดูเป็นที่พอใจแห่งผู้เล่นกีฬา” หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูฝน (spring)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วสันต-, วสันต์ : (คำนาม) ฤดูใบไม้ผลิ ในคำว่า ฤดูวสันต์. (ป., ส.).”
(๒) “ดิลก”
บาลีเป็น “ติลก” (ติ-ละ-กะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) ติลฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ติลฺ + ณฺวุ > อก = ติลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “รอยเจิมที่เป็นไป” (2) “ต้นไม้ที่เป็นไปปกติ”
(2) ติลฺ (เมล็ดงา) + ณฺ ปัจจัย, ลบ ณฺ + ก สกรรถ
: ติลฺ + ณฺ = ติลณ > ติล + ก = ติลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “รอยเจิมที่เกิดขึ้นมีสัณฐานเหมือนเมล็ดงา” (2) “จุดที่เกิดขึ้นเหมือนเมล็ดงา”
“ติลก” (ปุงลิงค์) ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) จุด, รอยเปื้อน, รอยเจิม, ไฝ, กระบนผิวหน้า (a spot, stain, mole, freckle)
(2). ต้นไม้ชนิดหนึ่ง (a kind of tree) คัมภีร์อภิธานปฺปทีปิกาแปลว่า หมากหอมควาย, หมากเม่าควาย
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ดิลก : (คำนาม) รอยแต้มหรือเจิมที่หน้าผากเพื่อเป็นมงคล, เลิศ, ยอด, เฉลิม. (ป., ส. ติลก ว่า ไฝ, รอยตกกระที่ผิวหนัง).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“ดิลก : (คำวิเศษณ์) เลิศ, ยอด, เฉลิม, เช่น มหาดิลกภพนพรัตน์. (ป., ส. ติลก ว่า รอยแต้มหรือเจิมที่หน้าผากเพื่อเป็นมงคล).”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ฉบับ 42 บอกว่า “ดิลก” เป็นคำนาม แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 54 บอกแก้ว่า “ดิลก” เป็นคำวิเศษณ์
วสนฺต + ติลก = วสนฺตติลก (วะ-สัน-ตะ-ติ-ละ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “รอยเจิมในฤดูใบไม้ผลิ”
“วสนฺตติลก” เราใช้ทับศัพท์เป็น “วสันตดิลก”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วสันตดิลก : (คำนาม) ชื่อฉันท์อย่างหนึ่ง บาทหนึ่งมี ๑๔ คํา เช่น
……………………….ช่อฟ้าก็เฟื้อยกลจะฟัด…ดลฟากทิฆัมพร
…………………….บราลีพิไลพิศบวร…………นภศูลสล้างลอย.
………………………. ………………………. …………………(อิลราช).
(ป., ส. วสนฺตติลก).”
…………..
ขยายความ :
คำว่า “วสันตดิลก” มีผู้ให้ความหมายไว้ว่า “ฉันท์ที่มีลีลางามวิจิตรประดุจรอยแต้มที่กลีบเมฆในต้นวสันตฤดู”
บ้างก็ให้ความหมายว่า “รอยแต้มที่กลีบเมฆในฤดูฝน” หมายถึงฉันท์อันมีลีลาว่าฤดูฝนได้เริ่มต้นแล้ว
และบ้างก็ให้ความหมายว่า “ฉันท์ที่มีกลุ่มคำวิจิตรเหมือนเมฆในวสันตฤดู”
สำหรับผู้เขียนบาลีวันละคำ ขอจินตนาการคำว่า “วสันตดิลก” ว่า-คือฉันท์ที่โปรยคำลงพร่างพราวราวหยาดฝน
ตัวอย่างวสันตดิลกฉันท์ที่พจนานุกรมฯ ให้ไว้นั้น ต้องอ่านให้ได้บาทละ 14 พยางค์ตามครุลหุ จึงจะไพเราะถูกต้องตามหลักการอ่านคำประพันธ์ และจูงจินตนาการว่าเป็นบทร้อยกรองที่ “โปรยคำลงพร่างพราวราวหยาดฝน” คืออ่านว่า –
ช่อฟ้าก็เฟื้อยกะละจะฟัด…ดะละฟากทิคำพอน
บฺราลีพิไลพิสะเบาะวอน….นะพะสูนสะล่างลอย
บทสวดมนต์ที่เราคุ้นกันดีคือ พุทธชัยมงคลคาถา หรือคาถาพาหุง ท่านก็แต่งเป็นวสันตดิลกฉันท์ ลองอ่านเทียบกันดูเป็นตัวอย่างสักบาทหนึ่งก็ได้
พาหุํ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
ช่อ.ฟ้า.ก็..เฟื้อย.กะ.ละ.จะ.ฟัด.ดะ.ละ.ฟาก.ทิ.คำ.พอน
พา.หุง.สะ..หัส…สะ.มะ.ภิ..นิม..มิ..ตะ..สา..วุ..ธัน.ตัง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บทกวีจะหวามหวาน ก็ด้วยมีจินตนาการประดับถ้อยคำ
: มนุษย์จะงามเลิศล้ำ ก็ด้วยมีคุณธรรมประดับหัวใจ
————–
ภาพแผนผังประกอบ: จาก google
#บาลีวันละคำ (1,988)
21-11-60