บาลีวันละคำ

สังฆทาน + ไทยทาน (บาลีวันละคำ 1,989)

สังฆทาน + ไทยทาน

ความพิการทางความเข้าใจ

(๑) “สังฆทาน

อ่านว่า สัง-คะ-ทาน บาลีเขียน “สงฺฆทาน” อ่านว่า สัง-คะ-ทา-นะ ประกอบด้วยคำว่า –

(ก) “สงฺฆ” แปลว่า หมู่, กอง, กลุ่ม, คณะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สงฺฆ” เป็นอังกฤษว่า –

(1) multitude, assemblage (ฝูงชน, ชุมนุมชน, หมู่, ฝูง)

(2) the Order, the priesthood, the clergy, the Buddhist church (คณะสงฆ์, พระ, นักบวช, พุทธจักร)

(3) a larger assemblage, a community (กลุ่มใหญ่, ประชาคม)

(ข) “ทาน” แปลว่า การให้, สิ่งของสำหรับให้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

1) เป็นกิริยาอาการ: หมายถึง การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

2) เป็นสิ่งของ: หมายถึง สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

สงฺฆ + ทาน = สงฺฆทาน > สังฆทาน เป็นคำแสดงกิริยาอาการ แปลว่า “ให้แก่สงฆ์” คือให้แก่ส่วนรวม ให้เป็นของส่วนกลางเพื่อให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ ได้รับประโยชน์ทั่วถึงกัน

(๒) “ไทยทาน

อ่านว่า ไท-ยะ-ทาน เทียบรูปคำบาลีเป็น “เทยฺยทาน” อ่านว่า เทย-ยะ-ทา-นะ ประกอบด้วยคำว่า –

(ก) “เทยฺย” รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ = ให้) + ณฺย ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (ทา > ), แปลง ณฺย เป็น เอยฺย

: ทา > + ณฺย > เอยฺย : + เอยฺย = เทยฺย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันพึงให้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทยฺย” ว่า –

(1) to be given (ควรให้)

(2) deserving a gift, worthy of receiving alms (ควรได้รับการให้, ควรแก่การถวาย)

(3) a gift, offering (ของควรให้, ของควรเซ่นสรวง)

(ข) “ทาน” แปลว่า การให้, สิ่งของสำหรับให้ (ดูข้างต้น)

เทยฺย + ทาน = เทยฺยทาน > ไทยทาน

คำว่า “ไทยทาน” เป็นคำที่มีปัญหา เงื่อนแง่ของปัญหามีดังนี้ –

๑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไทยทาน : (คำนาม) ของสําหรับทําทาน. (ป. เทยฺยทาน).”

ที่พจนานุกรมฯ ว่า “ไทยทาน : ของสําหรับทําทาน” นั้น เป็นการให้ความหมายแบบบาลีไทย คือแปล “เทยฺยไทย” ว่า “สิ่งของ” แปล “ทาน” ว่า “ทําทาน

๒ คำว่า “ไทยทาน” ถ้าหมายถึง “ของ-” (ตามเจตนาของพจนานุกรมฯ) ก็เป็นคำซ้ำซ้อน เพราะทั้ง “เทยฺย” และ “ทาน” (ถ้าหมายถึงสิ่งของ) แปลว่า “สิ่งอันพึงให้” เหมือนกันทั้งสองคำ

๓ ถ้าจะไม่ให้ซ้ำซ้อน ต้องแปล “ทาน” ว่า “การให้” : ไทยทาน = “การให้สิ่งอันพึงให้” แต่แปลอย่างนี้ก็ไม่ตรงตามเจตนาของพจนานุกรมฯ ที่แปล “ไทยทาน” ว่า “ของ-” (ไม่ใช่ “การ-”)

๔ ในคัมภีร์ พบแต่คำว่า “เทยฺยธมฺม” คือที่เราใช้ว่า “ไทยธรรม” ไม่พบคำว่า “เทยฺยทาน” = ไทยทาน (ดูเพิ่มเติม : “ไทยทาน-ไทยธรรม” บาลีวันละคำ (457) 15-8-56)

…………..

อภิปราย :

ในวงการค้าขายของทำบุญที่นิยมเรียกกันว่าร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ ได้มีการจัดแจงแบ่งของถวายพระเป็น 2 ประเภท คือ –

สังฆทาน = สิ่งของสำหรับถวายสังฆทาน จัดใส่ถังใส่กล่องเป็นชุดสวยงาม

ไทยทาน = สิ่งของสำหรับถวายพระทั่วไป จัดเป็นห่อย่อมๆ ผูกริบบิ้น

โปรดทราบว่า เป็นการจัดแบ่งด้วยความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดพลาด ถ้ามิเช่นนั้นก็เป็นการจัดแบ่งด้วยเล่ห์กลทางการค้าหลอกให้ผู้มีศรัทธาเข้าใจผิดเพื่อขายสินค้าได้มากขึ้น

ไม่ว่าจะจัดใส่ถังใส่กล่องเป็นชุดสวยงาม หรือจัดเป็นห่อย่อมๆ ผูกริบบิ้น ถ้าเป็นของที่สมควรแก่สมณบริโภคนำไปถวายเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์เป็นส่วนรวม ก็เรียกว่า “สังฆทาน” ได้ทั้งสิ้น

โปรดทราบว่า คำว่า “สงฺฆทาน” = “สังฆทาน” ในภาษาบาลีไม่ใช่คำที่หมายถึง “สิ่งของ” แต่เป็นคำแสดงกิริยาอาการ (ดูที่คำว่า “ทาน” ข้างต้น) ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “กิริยาวิเสสนะ” แสดงเจตนาให้รู้ว่าเป็นการถวายแก่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่ตัวบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง

จริงอยู่ คำว่า “สงฺฆทาน” แปลให้หมายถึง “สิ่งของ” ก็ได้ คือแปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์

สังฆ = แก่สงฆ์

ทาน = สิ่งของอันพึงถวาย

สังฆทาน = สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์

แต่ถ้าแปลอย่างนี้ ก็เท่ากับตอกย้ำความเข้าใจวิปริตที่แพร่ระบาดทั่วไปในเวลานี้ที่ว่า จะถวายสังฆทานต้องมี “ถังสังฆทาน” หรือ “ชุดสังฆทาน” ซึ่งนั่นก็คือ “สังฆทาน” ที่แปลว่า “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” นั่นเอง

พร้อมกันนั้นก็เท่าส่งเสริมให้ผู้คนเกิดความเข้าใจวิปริตมากยิ่งขึ้นไปอีกว่า เพียงแค่เอา “สิ่งของอันพึงถวายแก่สงฆ์” = “สังฆทาน” ไปถวายพระโดยเจาะจงตัว เช่นถวายท่านเจ้าอาวาส ถวายท่านเจ้าคุณรูปนั้นรูปนี้ หรือถวายพระรูปใดรูปหนึ่งที่ตนพอใจ เท่านี้ก็เป็นอันได้ “ถวายสังฆทาน” เรียบร้อยแล้ว นั่นเท่ากับทำลายความหมายที่ถูกต้องของ “สังฆทาน” ให้ดับสูญไปด้วยนั่นเอง

อนึ่ง โปรดทราบว่า “สังฆทาน” กับ “ไทยทาน” ไม่ใช่คำที่ท่านจัดเข้าคู่กัน

สังฆทาน” = ถวายแก่สงฆ์ ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาท่านจัดเข้าคู่กับ “ปาฏิบุคลิกทาน” = ถวายแก่บุคคลเป็นส่วนตัว

สังฆทาน” ที่เข้าคู่กับ “ไทยทาน” นั้นเป็นการจัดเอาเองของพ่อค้าที่หากินกับความเขลาของผู้มีศรัทธา

ขอย้ำว่า สังฆทาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับถังหรือกล่องใดๆ ทั้งสิ้น

สังฆทานขึ้นอยู่กับเจตนาตั้งใจถวายแก่สงฆ์

ถวายสิ่งใดแก่สงฆ์ สิ่งนั้นแหละคือ “สังฆทาน

ไม่ต้องมีกล่องมีถัง ก็เป็นสังฆทานได้ ถ้าตั้งเจตนาถวายแก่สงฆ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าคำบาลีเข้าใจยากกว่าคำฝรั่ง

ขอแรงให้ช่วยกันบอกต่อดังๆ ว่า –

: สังฆทาน ไม่ใช่ thing

: แต่เป็น giving to the whole

#บาลีวันละคำ (1,989)

22-11-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย