ทำไมกฐินจึงไม่เป็นกองเหมือนผ้าป่า
ทำไมกฐินจึงไม่เป็นกองเหมือนผ้าป่า
————————————
ก็ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ทำไมผ้าป่าจึงเป็น “กอง”
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ผ้าที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาใช้นุ่งห่ม มีพุทธานุญาตให้เอาผ้าที่เขาทิ้งแล้วเก็บมาซัก เย็บ ย้อม ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช่นนั้นมีคำเรียกว่า “บังสุกุลจีวร” แปลเอาความว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่น”
โปรดกำหนดความหมายนี้ไว้ให้แม่น
ต่อมา ชาวบ้านเห็นความลำบากของพระ จึงเอาผ้าไปวางไว้ตามทางที่รู้ว่าพระจะผ่าน ความประสงค์คือจะให้พระเอาผ้านั้นไปทำจีวร เป็นการสงเคราะห์ให้พระมีความสะดวกมากขึ้น ทั้งตนเองก็ได้บำเพ็ญบุญทานมัยด้วย
กิริยาที่เอาผ้าไปวางไว้ตามทางเช่นนั้นเรียกว่า “ทอดผ้า” อันเป็นที่มาของคำว่า “ทอดผ้าป่า” ซึ่งอาจเป็นเพราะแต่เดิมมักทำกันตามป่าอันเป็นสถานที่พระท่านพำนักอาศัย
เหตุที่ไม่ถวายผ้าไปตรงๆ เนื่องด้วยยังไม่มีพุทธานุญาตให้พระรับผ้าที่มีผู้ถวาย
ภายหลังแม้มีพุทธานุญาตให้พระรับผ้าที่มีผู้ถวายได้ เรียกผ้าเช่นนี้ว่า “คฤหบดีจีวร” แต่ก็มีพระส่วนหนึ่งที่ยังถือหลักใช้บังสุกุลจีวรแบบเดิม เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเองให้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย และจัดเข้าเป็นธุดงค์ข้อหนึ่ง
หลักเดิมอย่างหนึ่งของการทอดผ้าป่าก็คือ ผู้ทอดจะไม่แสดงตัวให้ปรากฏ เป็นการยืนยันว่าผ้านั้นไม่มีเจ้าของ หรือเจ้าของสละแล้ว คำชักผ้าป่าของเดิมก็ว่า –
“อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ”
แปลว่า “บังสุกุลจีวรนี้ไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา”
ถอดเป็นภาษาพูดว่า “ผ้านี้ไม่มีเจ้าของ ฉันเอานะ”
ธรรมเนียมทอดผ้าป่านี้ชาวพุทธในบ้านเมืองเราได้ทำสืบกันมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อ ๑๐๐ ปีหรืออย่างน้อยก็ครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การทอดผ้าป่าแบบเจ้าของไม่แสดงตัวยังทำกันอยู่ทั่วไป คนสมัยเก่าทั้งพระทั้งชาวบ้านที่รู้ธรรมเนียมเช่นนี้ยังมีอยู่มาก
ผมเป็นสามเณรอยู่ที่ถ้ำเขาพลอง ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๕ วันหนึ่งมีเสียงประทัดดังขึ้นในละเมาะป่าข้างกุฏิ หลวงลุงที่อยู่ด้วยกันบอกว่า เณรไปดูซิ ท่าจะมีคนทอดผ้าป่า
เมื่อออกไปดู ก็เห็นสิ่งที่เรียกกันว่า “ผ้าป่า” จริงๆ คือมีผลไม้ตามฤดูกาลกองหนึ่ง ข้าวสารถุงหนึ่ง ของใช้อื่นๆ อีก ๒-๓ อย่าง มีผ้าสบงผืนหนึ่งพาดไว้ข้างบน ของทั้งหมดกองอยู่กับพื้น
ผ้าป่านั้นต้องวางไว้กับพื้น เพราะคำว่า “บังสุกุลจีวร” ที่แปลว่า “ผ้าเปื้อนฝุ่น” เป็นพยานอยู่ในตัว คือเพราะวางไว้กับพื้นจึงเปื้อนฝุ่น
การเอาผ้าและของอื่นๆ วางไว้กับพื้น เรียกเป็นคำกริยาว่า “กอง” เช่นที่เราพูดว่า เอากองไว้ตรงนั้น เอากองไว้ตรงโน้น
และด้วยเหตุนี้ จึงมีลักษณนามเรียกผ้าป่าว่า “กอง” เช่น ผ้าป่ากองหนึ่ง ผ้าป่า ๒ กอง
ผ้าป่านั้นคนหนึ่งทอดแล้ว อีกคนหนึ่งมาทอดอีกก็ได้ ทอดพร้อมกันกี่เจ้าภาพก็ได้ ไม่จำกัดจำนวน และไม่จำกัดเวลา ผ้าป่าจึงมีได้หลายกอง
ทำไมผ้าป่าจึงเป็น “กอง” หรือจึงเป็นกองๆ มีที่ไปที่มาดังว่ามานี้
……………….
แต่ “กฐิน” นั้นมีที่ไปที่มาไม่เหมือนผ้าป่า
กฐินเกิดจากการที่มีพุทธานุญาตให้ภิกษุช่วยกันทำจีวรผืนหนึ่งแล้วยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน เป็นการแสดงออกซึ่งความสามัคคีมีน้ำใจ เรียกการทำเช่นนั้นว่า “กรานกฐิน” และเรียกผ้านั้นว่า “กฐินจีวรทุสฺส” หรือ “กฐินทุสฺส” แปลว่า “ผ้ากฐิน”
ชาวบ้านรู้ว่ามีพุทธานุญาตเช่นนั้น จึงเอาผ้าไปถวายให้เป็นของสงฆ์ เพื่อให้หมู่ภิกษุเอาไปทำ “ผ้ากฐิน” ตามพุทธานุญาต
และกฐินตามพุทธานุญาตนั้นต้องการผ้าเพียงผืนเดียว เมื่อรับถวายผ้าจากเจ้าภาพคนใดแล้วก็ปิดรับทันที จะรับเป็นผืนที่ ๒ ที่ ๓ เพื่อเอามาทำเป็นผ้ากฐินอีกไม่ได้
ด้วยเหตุที่ (๑) ผ้ากฐินปรากฏตัวผู้ถวายชัดเจน (๒) สงฆ์ผู้รับก็มีตัวปรากฏอยู่ชัดเจน เมื่อถวายจึงไม่ต้องเอาไป “กอง” ไว้กับพื้นเหมือนผ้าป่า แต่ถือเข้าไปถวายสงฆ์ได้โดยตรง
ดังนั้น กฐินจึงไม่ต้องกอง และกฐินที่เป็นกองๆ ก็จึงไม่มี
ขอความกรุณาช่วยกันศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจกันหน่อยนะครับ
จะได้ไม่ทำเรื่องที่ผิดพลาดเบี่ยงเบน
และไม่ไปสนับสนุนคนที่ทำผิดพลาดเบี่ยงเบนเพราะความไม่รู้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๓
๑๐:๑๐
…………………………….