บาลีวันละคำ

อิติหาส (บาลีวันละคำ 3,041)

อิติหาส

1 ในศิลปศาสตร์ 18 ประการ

อ่านว่า อิ-ติ-หาด

อิติหาส” รูปคำบาลีอ่านว่า อิ-ติ-หา-สะ รากศัพท์มาจาก อิติห + อสฺ ธาตุ

(๑) “อิติห

อ่านว่า อิ-ติ-หะ ตามรูปคำควรจะมาจาก อิติ +

(ก) “อิติ” เป็นคำจำพวกนิบาต ลักษณะพิเศษของคำนิบาตคือไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คงรูปเดิมอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่สนธิกับคำอื่นอาจกลายรูปและเสียงได้ แต่เมื่อแยกคำแล้วยังคงเป็นรูปเดิม

ถ้าจะแสดงรากศัพท์ ท่านว่า “อิติ” มาจาก อิ (ธาตุ = ไป) + ติ ปัจจัย

: อิ + ติ = อิติ แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “สิ่งที่ไป” “สิ่งเป็นเครื่องไป

ตำราบาลีไวยากรณ์ที่นักเรียนบาลีในเมืองไทยใช้เรียน แปล “อิติ” เป็นไทยว่า –

(1) เพราะเหตุนั้น, เพราะเหตุนี้

(2) ว่าดังนี้

(3) ด้วยประการนี้

(4) ชื่อ

(5) คือว่า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ไม่ได้แปล “อิติ” เป็นภาษาอังกฤษแบบคำตรงๆ แต่บอกไว้ว่า –

(1) “thus” (เช่นนั้น)

(2) “thus, in this way” (เช่นนั้น, ในทำนองนี้)

(3) “so it is that” (เรื่องเป็นเช่นนี้คือ)

(ข) อิติ + = อิติห ถือว่าเป็นนิบาตอีกรูปหนึ่งของ “อิติ” หรือจะกล่าวว่า เป็นนิบาต 2 คำ คือ “อิติ” คำหนึ่ง “อิติห” อีกคำหนึ่ง ดังนี้ก็ได้

อิติ” และ “อิติห” ในฐานะเป็นนิบาตมีความหมายเหมือนกัน

ในคัมภีร์มีคำว่า “อิติห” ใช้อยู่หลายแห่ง ที่น่าจะคุ้นกันดีคือในธัมมจักกัปปวัตนสูตรตอนสรุปผลของการแสดงธรรมที่ว่า –

…………..

อิติห  เตน  ขเณน  เตน  มุหุตฺเตน  ยาว  พฺรหฺมโลกา  สทฺโท  อพฺภุคฺคจฺฉิ.

ชั่วขณะกาลครู่หนึ่งนั้น เสียง (ที่เทพยดาบันลือรับกันเป็นทอดๆ) ก็กระฉ่อนขึ้นไปจนถึงพรหมโลก ด้วยประการฉะนั้นแล

…………..

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ของ “อิติห” ไว้ว่า “อิติห ปุพฺพาจริเยหิ วุตฺตมิทนฺติ กเถตพฺพํ วจนํ อิติหํ” และแปลไว้ว่า “คำที่ควรกล่าวได้ว่าข้อนี้อันบูรพาจารย์กล่าวไว้แล้ว

ตามรูปวิเคราะห์นี้ “อิติห” ใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ประเพณี, ธรรมเนียม, คำสั่งสอน, บทประพันธ์ต้นแบบ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิติห” ว่า “so & so” talk, gossip, oral tradition, belief by hearsay etc. (“เช่นนี้และเช่นนี้”, การสนทนากัน, การซุบซิบ, ประเพณีที่เล่าสืบต่อกันมา, ความเชื่อถือโดยได้ยินได้ฟังมา ฯลฯ)

(๒) อิติห + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือ ลบ อะ ที่ (อิติ)- ทีฆะ อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (อสฺ > อาส)

: อิติห + อสฺ = อิติหสฺ + = อิติหส > อิติหาส แปลตามศัพท์ว่า (1) “คัมภีร์เป็นที่มีบทประพันธ์ต้นแบบ” (2) “คัมภีร์เป็นที่มีว่าเป็นดังนี้

อิติหาส” (ปุงลิงค์) หมายถึง พงศาวดาร, ประวัติศาสตร์, คัมภีร์ต้นแบบ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “อิติหาส” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

อิติหาส : (คำนาม)  ประชาวตาร, พงศาวดาร; history, traditional accounts of former events.”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิติหาส” ว่า “thus indeed it has been”, legendary lore, oral tradition, history; usually mentioned as a branch of brahmanic learning. (“ดังที่เป็นมาเช่นนี้จริง ๆ”, นิยายที่เป็นพงศาวดาร, ประเพณีที่เล่าสืบต่อกันมา, ประวัติศาสตร์;ตามปกติถูกระบุไว้ว่าเป็นแขนงหนึ่งของพรหมศาสตร์หรือการศึกษาทางศาสนาพราหมณ์)

ขยายความ :

อิติหาส” เป็น 1 ในศิลปศาสตร์ 18 ประการ

ขอนำรายการศิลปศาสตร์ 18 ประการที่แสดงไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มาเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นอลังการแห่งความรู้ (ในที่นี้ปรับปรุงเพิ่มคำในวงเล็บเพื่อให้เข้าใจชัดเจนขึ้น)

…………..

ศิลปศาสตร์ : ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี 18 ประการ เช่นตำราว่าด้วยการคำนวณ ตำรายิงธนู เป็นต้น อันได้มีการเรียนการสอนกันมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล; 18 ประการนั้นมีหลายแบบ ยกมาดูแบบหนึ่งจากคัมภีร์โลกนิติ และธรรมนิติ ได้แก่

1 สุติ – ความรู้ทั่วไป (สังคมศาสตร์)

2 สัมมุติ – ความรู้กฎธรรมเนียม (นิติศาสตร์)

3 สังขยา – วิชาคำนวณ (คณิตศาสตร์)

4 โยคา – การช่างการยนตร์ (วิศวกรรมศาสตร์)

5 นีติ – วิชาปกครอง (คือความหมายเดิมของ นิติศาสตร์ ปัจจุบันเท่ากับ รัฐศาสตร์)

6 วิเสสิกา – ความรู้การอันให้เกิดมงคล (โหราศาสตร์)

7 คันธัพพา – วิชาร้องรำ (ดุริยางคศาสตร์-นาฏศิลป์)

8 คณิกา – วิชาบริหารร่างกาย (พลศึกษา-สุขศึกษา)

9 ธนุพเพธา (หรือ ธนุพเพทา) – วิชายิงธนู (วิชาการอาวุธ รวมไปถึงศิลปะในการบังคับขับขี่พาหนะ)

10 ปูรณา – วิชาบูรณะ (สถาปัตยกรรมศาสตร์)

11 ติกิจฉา -วิชาบำบัดโรค (แพทยศาสตร์)

12. อิติหาส – ตำนาน (ประวัติศาสตร์-โบราณคดี)

13. โชติ – ความรู้เรื่องสิ่งส่องสว่างในท้องฟ้า (ดาราศาสตร์)

14. มายา – ตำราพิชัยสงคราม (ยุทธศาสตร์)

15. ฉันทสา – วิชาประพันธ์ (ประพันธศาสตร์)

16. เกตุ – วิชาพูด (วาทศิลป์-นิเทศศาสตร์))

17. มันตา – วิชาเวทมนตร์ (ไสยศาสตร์)

18. สัททา – วิชาหลักภาษาหรือไวยากรณ์ (นิรุกติศาสตร์-อักษรศาสตร์)

…………..

ว่าโดยภาพรวม “อิติหาส” คือ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ศาสนา ภาษา ค่านิยม อันเป็นรากเหง้าเค้าเดิมของสังคมชุมชนที่ตนเป็นสมาชิกอยู่รวมทั้งสังคมทั่วไปด้วย

ปัจจุบันมีแนวโน้มว่า คนรุ่นใหม่จะสอนกันให้ใฝ่ทะยานไปข้างหน้า โดยไม่เห็นคุณค่าของข้างหลัง

นั่นหมายความว่า ในอนาคต “อิติหาส” จะเป็นศิลปศาสตร์ที่ไม่มีใครรู้จักอีกต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ไม่รู้จักกำพืดของตัวเอง

: ยังน่าอนาถน้อยกว่าคนที่เหยียดกำพืดของตัวเอง

#บาลีวันละคำ (3,041)

9-10-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย