บุญ-ทาน (บาลีวันละคำ 370)
บุญ-ทาน
“บุญ” ไทยอ่านว่า บุน บาลีเป็น “ปุญฺญ” อ่านว่า ปุน-ยะ แปลตามรากศัพท์ว่า “การกระทำที่ชำระสันดานของผู้ทำให้สะอาด” ความหมายที่เข้าใจกันทั่วไปคือ การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา
“ทาน” ไทยอ่านว่า ทาน บาลีอ่านว่า ทา-นะ แปลว่า การให้, การเผื่อแผ่, การแบ่งปัน, ความเอื้อเฟื้อ, ของบริจาค
(ดูเพิ่มเติมที่คำว่า ปุญฺญ และ ทาน)
บุญ กับ ทาน เหมือนกันหรือต่างกัน ?
คนส่วนมากเข้าใจว่า –
บุญ คือถวายของแก่พระสงฆ์ เช่นตักบาตร หรือบริจาคให้แก่กิจการการกุศล เรียกว่า “ทำบุญ”
ทาน คือให้แก่คนธรรมดาหรือให้แก่สัตว์ เช่นให้เงินคนขอทาน หรือให้อาหารแก่สุนัข เรียกว่า “ให้ทาน”
หลักความเข้าใจที่ถูกต้องแบบง่ายๆ คือ “บุญ คือความดีทั้งปวง, ทาน คือวิธีทำบุญแบบหนึ่ง”
ท่านจำแนกทางเกิดของบุญ หรือวิธีทำบุญไว้ 10 วิธี ดังนี้ –
1. ทาน – การให้ = “ทำบุญให้ทาน”
2. ศีล – ควบคุมพฤติกรรม = “ทำบุญถือศีล”
3. ภาวนา – อบรมจิตใจ = “ทำบุญภาวนา”
4. อปจายนะ – อ่อนน้อมถ่อมตน = “ทำบุญไหว้พระ”
5. เวยยาวัจจะ – ช่วยขวนขวายรับใช้ = “ทำบุญช่วยงาน”
6. ปัตติทาน – เฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น = “ทำบุญแบ่งบุญ”
7. ปัตตานุโมทนา – ยินดีความดีของผู้อื่น = “ทำบุญโมทนา”
8. ธัมมัสสวนะ – ฟังธรรม = “ทำบุญฟังธรรม”
9. ธัมมเทสนา – สั่งสอนธรรม = “ทำบุญให้ธรรม”
10. ทิฏฐุชุกรรม – ปรับความเห็นให้ถูกธรรม = “ทำบุญเห็นถูก”
: ทำบุญให้ทานต้องควักกระเป๋า ทำบุญอีกเก้า มือเปล่าก็ทำได้
—————–
(ตอบคำถามจากการไปร่วมเสวนาธรรมที่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกเมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๖)
บาลีวันละคำ (370)
19-5-56
บุญ, บุญ-
[บุน, บุนยะ-] น. การกระทําดีตามหลักคําสอนในศาสนา; ความดี, คุณงามความดี.ว. ดี เช่น คนใจบุญ, มีคุณงามความดี เช่น คนมีบุญ. (ป. ปุญฺ; ส. ปุณฺย).
ทาน นป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ทาน, การให้, การเผื่อแผ่, การแบ่งปัน, ความเอื้อเฟื้อ, ของบริจาค; ความบริสุทธิ, ภาค, ส่วน, การตัด; น้ำมันช้างตกมัน, น้ำมันไหลจากหมวกหูช้าง, เมื่อช้างตกมัน.
ทาน ๑, ทาน-
[ทานะ-, ทานนะ-] น. การให้, มักใช้ประกอบท้ายคำอื่น เช่น ธรรมทาน วิทยาทาน; สิ่งที่ให้ มักหมายถึงเงินหรือสิ่งของที่คนให้แก่คนยากจน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม). (ป., ส.).
บุญกิริยาวัตถุ (ประมวลศัพท์)
สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ, เรื่องที่จัดเป็นการทำบุญ, ทางทำความดี,
หมวด ๓ คือ
๑. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้
๒. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลและประพฤติดี
๓. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา;
หมวด ๑๐ คือ
๑. ทานมัย
๒. สีลมัย
๓. ภาวนามัย
๔. อปจายนมัย ด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕. เวยยาวัจจมัย ด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
๖. ปัตติทานมัย ด้วยการเฉลี่ยส่วนความดีให้ผู้อื่น
๗. ปัตตานุโมทนามัย ด้วยความยินดีความดีของผู้อื่น
๘. ธัมมัสสวนมัย ด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย ด้วยการสั่งสอนธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ ด้วยการทำความเห็นให้ตรง