ข้อควรเข้าใจให้ถูกต้องบางประการเกี่ยวกับการกรวดน้ำ
ข้อควรเข้าใจให้ถูกต้องบางประการเกี่ยวกับการกรวดน้ำ
————————————————
๑ การกรวดน้ำไม่ใช่เป็นขั้นตอนการทำให้บุญสำเร็จผลดังที่มักเข้าใจผิดๆ เช่นทำบุญใส่บาตรเสร็จแล้ว มักเข้าใจกันว่าต้องกรวดน้ำก่อน บุญที่เกิดจากการใส่บาตรจึงจะสำเร็จเป็นบุญ
โปรดทราบว่านั่นเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
๒ บุญทุกอย่าง เมื่อทำเสร็จก็สำเร็จเป็นบุญทันที ไม่ใช่ต้องกรวดน้ำก่อนจึงจะสำเร็จเป็นบุญ
๓ การกรวดน้ำเป็นการทำบุญอีกวิธีหนึ่งในวิธีทำบุญ ๑๐ วิธี ที่เรียกว่า “ปัตติทานมัย” บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ หรือที่นิยมพูดกันว่า แบ่งส่วนบุญ
เพราะฉะนั้น ทำบุญแล้ว ไม่ต้องกรวดน้ำ ก็เป็นบุญหรือได้บุญเรียบร้อยแล้ว
แต่ถ้าประสงค์จะอุทิศส่วนบุญที่ทำนั้นให้ผู้อื่น-โดยเฉพาะผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว-จึงกรวดน้ำ เป็นการทำบุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง
๔ การกรวดน้ำสำเร็จได้ด้วยการตั้งจิตเจตนา แม้ไม่เปล่งวาจาก็สำเร็จได้ การเปล่งวาจาเป็นเพียงวิธีทำให้เจตนาเข้มข้นชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวคำกรวดน้ำ ก็ต้องเข้าใจความหมายของถ้อยคำนั้นด้วย
๕ เมื่อการกรวดน้ำสำเร็จด้วยใจเป็นสำคัญ ก็เป็นอันตอบข้อสงสัยได้ว่า กรวดน้ำเป็นภาษาบาลี ถ้าผู้รับไม่รู้ภาษาบาลีจะได้บุญหรือ กรวดน้ำเป็นภาษาไทยให้ฝรั่ง ฝรั่งไม่รู้ภาษาไทยจะได้บุญหรือ
๖ กรณีผู้รับจะได้บุญที่อุทิศให้หรือไม่ ไม่ขึ้นอยู่กับผู้อุทิศ แต่ขึ้นอยู่กับผู้รับ นั่นคือถ้าผู้ที่เราอุทิศให้เขารับรู้และอนุโมทนา เขาก็ได้บุญ ถ้าเขาไม่รับรู้ หรือรับรู้แต่ไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้บุญ
๗ อนึ่ง บุญที่เขาได้คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ ที่เรียกว่า “ปัตตานุโมทนามัย” ไม่ใช่ได้รับบุญที่เราเป็นผู้ทำ เช่น –
– เราใส่บาตร เราได้บุญที่เกิดจากการใส่บาตร (ทานมัย)
– เราแบ่งส่วนบุญที่เกิดจากการใส่บาตรให้ผู้อื่น เราได้บุญที่เกิดจากการแบ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) (เป็นคนละส่วนกับบุญที่เกิดจากการใส่บาตร)
– ผู้ที่เราแบ่งส่วนบุญให้ อนุโมทนาบุญที่เราทำ เขาได้บุญที่เกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ (ปัตตานุโมทนามัย) ไม่ใช่ได้บุญที่เกิดจากการใส่บาตร เพราะเขาไม่ได้ใส่บาตรเอง
แต่อาจกล่าวได้ว่า ผู้ใดอนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำด้วยใจจริง เพราะความจริงใจนั้นเขาอาจอยู่ในฐานะเสมือนเป็นผู้ทำบุญนั้นด้วยตัวเองได้บ้าง
๘ การกรวดน้ำไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสมอไป ถ้าไม่สามารถหาได้ก็ไม่ต้องใช้ การใช้น้ำกรวดก็ด้วยเหตุผลที่ว่า บุญเป็นนามธรรม ไม่อาจจับยกหยิบยื่นให้กันได้เหมือนสิ่งของ จึงใช้การหลั่งน้ำเป็นเครื่องหมายให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำนองเดียวกับให้ของใหญ่ของหนักที่ไม่สามารถยกยื่นให้กันได้ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำลงบนฝ่ามือของผู้รับแทน
๙ มีคำแนะนำว่า เมื่อทำบุญเสร็จให้กรวดน้ำทันที เหตุผลก็คือ ทำบุญเสร็จใหม่ๆ จิตใจยังสดชื่นอยู่ ระลึกถึงบุญที่ทำได้ชัดเจนแจ่มใส จึงเหมาะที่จะกรวดน้ำอันเป็นการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น
๑๐ และด้วยเหตุผลดังกล่าว เป็นอันยืนยันว่า เราสามารถกรวดน้ำได้ทุกเวลาที่ระลึกได้ถึงบุญที่ทำไว้ แม้จะได้ทำบุญมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ถ้ายังระลึกถึงบุญนั้นได้ก็สามารถกรวดน้ำได้ทุกครั้ง ไม่ใช่ว่าต้องกรวดน้ำภายในวันนั้น หรือต้องกรวดน้ำก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน มิเช่นนั้นจะไม่ได้บุญ-อย่างที่บางตำราบอก
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ มกราคม ๒๕๖๕
๑๑:๑๐
……………………………………..
ข้อควรเข้าใจให้ถูกต้องบางประการเกี่ยวกับการกรวดน้ำ
……………………………………..