มหาพรหม (บาลีวันละคำ 3,516)
มหาพรหม
รูปพรหมชั้นที่สาม
อ่านว่า มะ-หา-พฺรม
“มหาพรหม” เขียนแบบบาลีเป็น “มหาพฺรหฺม” (-พฺรหฺม มีจุดใต้ พฺ และ หฺ) อ่านว่า มะ-หา-พฺรม-มะ แยกศัพท์เป็น มหา + พฺรหฺม
(๑) “มหา”
อ่านว่า มะ-หา รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –พฺรหฺม เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(๒) “พฺรหฺม”
คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร?
ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี
แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พฺรม-มะ หรือ พฺรำ-มะ
“พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + ม (มะ) ปัจจัย
: พฺรหฺ + ม = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)
(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)
(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)
(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])
(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)
ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พฺรหฺม” หมายถึง –
(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น
(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)
ในที่นี้ “พฺรหฺม” มีความหมายตามข้อ (2) ที่เพิ่งกล่าวนี้ หรือข้อ (4) ข้างต้น
มหนฺต + พฺรหฺม = มหนฺตพฺรหฺม > มหาพฺรหฺม แปลว่า “พรหมผู้เป็นใหญ่”
ในบาลี “มหาพฺรหฺม” เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “มหาพฺรหฺมา” (มะ-หา-พฺรม-มา)
“มหาพฺรหฺมา” ในที่นี้ใช้ในภาษาไทยเป็น “มหาพรหม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งบอกไว้ดังนี้ –
“มหาพรหม : (คำนาม) ชื่อพรหมชั้นที่ ๓ ในรูปพรหม ๑๖ ชั้น.”
อภิปรายขยายความ :
ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมา ขยายความคำว่า “มหาพรหม” ไว้ดังจะขอยกมาเสนอบางแห่ง ดังนี้
…………..
วณฺณวนฺตตาย เจว ทีฆายุกตาย จ มหนฺโต พฺรหฺมาติ มหาพฺรหฺมา เตสํ มหาพฺรหฺมานํ ฯ
ชื่อว่ามหาพรหม เพราะเป็นพรหมผู้ใหญ่ โดยความเป็นผู้มีวรรณะงามและความเป็นผู้มีอายุยืน (กว่าพรหมอีกสองจำพวก)
อิเม ตโยปิ ชนา ปฐมชฺฌานภูมิยํ เอกตเล วสนฺติ อายุอนฺตรํ ปน เนสํ นานา ฯ
พรหมทั้งสามเหล่านี้ (คือพรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิต และมหาพรหม) ย่อมอยู่ในปฐมฌานภูมิอันเป็นพื้นเดียวกัน แต่อายุแห่งพรหมเหล่านั้นต่างกัน
ที่มา: สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังคปกรณ์ หน้า 834
…………..
คัมภีร์ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย ตอนอธิบายพหุธาตุกสูตร กล่าวไว้ว่า –
อิตฺถี จ อิธ ฌานํ ภาเวตฺวา กาลํ กตฺวา พฺรหฺมปาริสชฺชานํ สหพฺยตํ อุปปชฺชติ น มหาพฺรหฺมานํ ฯ
สตรีบำเพ็ญฌานในโลกนี้แล้วตายไป ย่อมเข้าถึงชั้นพรหมปาริสัชชา ไม่ถึงชั้นมหาพรหม
ปุริโส ปน ตตฺถ น อุปฺปชฺชตีติ น วตฺตพฺโพ ฯ
ส่วนบุรุษ จะกล่าวว่า “ไม่เกิดในชั้นมหาพรหม” ดังนี้ หาได้ไม่
สมาเนปิ เจตฺถ อุภยลิงฺคาภาเว ปุริสสณฺฐานาว พฺรหฺมาโน น อิตฺถิสณฺฐานา ฯ
และในพรหมโลกนั้น แม้จะไม่มีเพศบุรุษสตรี พรหมทั้งหลายก็มีสัณฐานเป็นบุรุษอย่างเดียว ไม่มีสัณฐานเป็นสตรี
ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค 3 หน้า 642
…………..
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ตอนอธิบายมหานิทานสูตร อธิบายเรื่องพรหม 3 จำพวกที่เกิดด้วยอำนาจปฐมฌานเหมือนกัน คือ พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิต และมหาพรหม เปรียบเทียบกันดังนี้ –
…………..
เตสุ พฺรหฺมปาริสชฺชา ปน ปริตฺเตน อภินิพฺพตฺตา ฯ เตสํ กปฺปสฺส ตติโย ภาโค อายุปฺปมาณํ ฯ
ในบรรดาเทพเหล่านั้น พรหมปาริสัชชาเกิดด้วยปฐมฌานระดับต่ำ พรหมปาริสัชชานั้นอายุประมาณ 3 ส่วนของกัป
พฺรหฺมปุโรหิตา มชฺฌิเมน ฯ เตสํ อุปฑฺฒกปฺโป อายุปฺปมาณํ ฯ กาโย จ เตสํ วิปฺผาริกตโร โหติ ฯ
พรหมปุโรหิตเกิดด้วยปฐมฌานระดับปานกลาง อายุประมาณกึ่งกัป และกายของพรหมปุโรหิตนั้นผึ่งผายกว่าพรหมปาริสัชชา
มหาพฺรหฺมาโน ปณีเตน ฯ เตสํ กปฺโป อายุปฺปมาณํ ฯ กาโย ปน เตสํ อติวิปฺผาริกตโรว โหติ ฯ
มหาพรหมเกิดด้วยปฐมฌานระดับประณีต อายุประมาณ 1 กัป กายของมหาพรหมนั้นผึ่งผายยิ่งขึ้นไปกว่าพรหมปุโรหิต
ที่มา: สุมังคลวิลาสินี ภาค 2 หน้า 176-177
…………..
คนทั่วไปมักใช้คำเรียกพรหมเป็นคำรวมๆ ว่า “ท้าวมหาพรหม” หมายถึง “พระพรหม” ทั่วไป ไม่ได้มีเจตนาจะให้หมายถึงเฉพาะพรหมในชั้น “มหาพรหม” ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้
คำว่า “มหาพรหม” ในความเข้าใจของคนทั่วไปจึงหมายถึง “พระพรหม” ทั่วไป เพราะฉะนั้น จึงควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า คำว่า “มหาพรหม” ตามคัมภีร์หมายถึงรูปพรหมชั้นที่ 3 เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงพรหมทั่วไป
…………..
สรุปว่า “มหาพรหม” เป็นชื่อของพรหมชั้นที่ 3 ในรูปาวจรภูมิซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น เป็นผู้ที่เจริญปฐมฌานระดับประณีตมาเกิด อายุประมาณ 1 กัป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พรหมเป็นอันมากพบพระแล้วพึ่งพระ
: มนุษย์เป็นอันมากพบพระแล้วพึ่งพรหม
#บาลีวันละคำ (3,516)
27-1-65
…………………………….