พุทฺธวจน (บาลีวันละคำ 502)
พุทฺธวจน
อ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ
ประกอบด้วย พุทฺธ + วจน
“พุทฺธ” (พุด-ทะ. เขียนแบบบาลีมีจุดใต้ ทฺ) คำแปลที่เข้าใจกันทั่วไปคือ “พระพุทธเจ้า” เป็นการแปลทับศัพท์ คำแปลที่นิยมอ้างกันคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน. ขยายความว่า –
ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง
ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย
ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่
“วจน” (วะ-จะ-นะ) แปลว่า คำพูด, การเปล่งเสียง, ถ้อยคำ, การร้องเรียก
พุทฺธ + วจน = พุทฺธวจน ภาษาไทยนิยมใช้ ๒ รูป คือ
– พุทธวจนะ อ่านว่า พุด-ทะ-วะ-จะ-นะ
– พุทธพจน์ อ่านว่า พุด-ทะ-พด
พุทฺธวจน > พุทธวจนะ > พุทธพจน์ แปลว่า “คำพูดของพระพุทธเจ้า” “คำสอนของพระพุทธเจ้า”
ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวพุทธวจนะ คือ –
1. ข้อความที่ไม่ใช่พุทธวจนะ แต่มีผู้อ้างว่า “พระพุทธเจ้าตรัสว่า..” (พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แต่อ้างว่าพระพุทธเจ้าสอน)
2. ข้อความที่เป็นพุทธวจนะ แต่มีผู้อ้างว่า “หลวงปู่นั่นหลวงพ่อนี่สอนว่า..” (เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปอ้างเป็นคำสอนของอาจารย์)
แหล่งรวมหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ตัดสินว่า คำไหนเป็นพุทธวจนะ คำไหนไม่ใช่พุทธวจนะ ก็คือ พระไตรปิฎก เวลาอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ท่านจึงอ้างที่มากำกับไว้ด้วยเสมอ
: บางคน-อาศัยคำอาจารย์เป็นสะพานไปสู่พุทธวจนะ
: แต่บางคน-ติดค้างอยู่บนสะพานนั่นเอง
—————-
(ตามคำขอของ สามเณรคริสเบิร์นลีย์ ฟอเรสต์กรีน)
29-9-56