ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร
ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๒]
ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๒]
—————————–
(นำร่อง-ต่อ)
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน พระอรหันตเถระได้ประชุมกันรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดจัดเป็นหมวดหมู่อันเป็นต้นฉบับที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “พระไตรปิฎก”
ตอนท้ายของการประชุมซึ่งถ้าเป็นหลักนิยมในสมัยนี้ก็จะเรียกว่า “วาระอื่นๆ” มีเรื่องที่ควรแก่การศึกษา ขอกลั่นคำแปลจากพระไตรปิฎกมาเสนอในที่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา
พึงตั้งใจสดับ –
…………………
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์จำนงอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้
พระเถระทั้งหลายถามว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่าสิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ท่านพระอานนท์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถาม
ที่ประชุมเปิดอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
(๑) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๒) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๓) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๔) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๕) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
(๖) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐
…………………
ถ้าพระสงฆ์ในครั้งนั้นใช้นโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยให้ทันสมัยเหมือนกับทัศนะของบางกลุ่มบางสำนักในสมัยนี้ พระพุทธศาสนาจะแตกกันอย่างน้อยก็ ๖ นิกายมาตั้งแต่ พ.ศ.๓ เดือน
แต่พระอรหันตเถระที่ประชุมทำสังคายนามีมติ “ไม่ขอใช้สิทธิ์ตามที่มีพุทธานุญาต” และลงมติว่า –
๑ ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้ทรงบัญญัติไว้
๒ ไม่ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว
๓ สมาทานประพฤติในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว
ซึ่งมตินี้สอดคล้องกับหลัก “ภิกขุอปริหานิยธรรม” ข้อ ๓ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า –
…………………
ยาวกีวญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขู อปญฺญตฺตํ น ปญฺญเปสฺสนฺติ ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ วุฑฺฒิเยว ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา โน ปริหานิ.
ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ภิกฺขู อปญฺญตฺตํ น ปญฺญเปสฺสนฺติ
ภิกษุทั้งหลายจักไม่บัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้
ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ
จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว
ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ
จักสมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบทั้งหลายตามที่ตถาคตบัญญัติไว้แล้ว
ยาวกีวญฺจ
ตลอดกาลเพียงไร
ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
วุฑฺฒิเยว ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา
ภิกษุทั้งหลายพึงหวังความเจริญอย่างเดียว
โน ปริหานิ.
หาความเสื่อมมิได้ (ตลอดกาลเพียงนั้น)
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร
ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๗๐
…………………
เหตุผลที่ลงมติเช่นนั้น คือ –
(๑) สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร สิ่งนี้ไม่ควร (พระทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ชาวบ้านเขารู้)
(๒) ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นกาลชั่วคราว พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด สาวกเหล่านี้ก็ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ (ถ้าถอนสิกขาบท ก็จะถูกตำหนิว่าพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาปฏิบัติตามคำสอนเฉพาะเวลาที่พระศาสดายังอยู่ พอพระศาสดาล่วงลับไปแล้วก็เลิกปฏิบัติตาม)
นี่คือหลักการดั้งเดิมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และเป็นหลักการที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทยึดถือมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น ถ้าปฏิญญาว่าเป็น “เถรวาท” ก็ต้องปฏิบัติตามหลักการนี้
ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็คือทรยศต่อเถรวาท
สรุปความว่า เพราะวินัยของพระเป็นที่รับรู้ในหมู่ชาวโลกทั่วกันแล้ว จึงเป็นเหตุให้พระต้องดำรงวินัยไว้ให้มั่นคง ด้วยประการฉะนี้
……………
(มีต่อ)
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๓
๑๘:๓๘
………………………………..
ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๑]
………………………………..
ถ้าไม่ตื่น ก็จงหลับไปชั่วนิรันดร [๓]