บาลีวันละคำ

คำบูชาข้าวพระ [1] (บาลีวันละคำ 2,000)

คำบูชาข้าวพระ [1]

คำว่า “ข้าวพระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ข้าวพระ : (คำนาม) อาหารคาวหวานที่จัดใส่สำรับสําหรับถวายพระพุทธ.”

คำบูชาข้าวพระนิยมกล่าวเป็นภาษาบาลี มีข้อความดังนี้ –

เขียนแบบบาลี :

อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  สาลีนํ  โอทนํ  อุทกํ  วรํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ.

เขียนแบบคำอ่าน :

อิมัง  สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง  สาลีนัง  โอทะนัง  อุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ  ปูเชมิ.

แปลยกศัพท์ :

อหํ  อันว่าข้าพเจ้า

ปูเชมิ  ขอบูชา

โอทนํ ซึ่งข้าวสุก

สาลีนํ  อันบริสุทธิ์ (คืออันดี, อันประณีต)

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ อันสมบูรณ์ด้วยสูปะและพยัญชนะ

อุทกํ (และ) น้ำ

วรํ อันประเสริฐ

อิมํ นี้

พุทฺธสฺส แก่พระพุทธเจ้า

แปลโดยใจความ :

ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับและน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

…………..

อภิปราย :

ดูคำแปลย่อมชวนให้สงสัยว่า คำบูชานี้กลายเป็น “บูชาข้าวสุก” ไม่ใช่ “บูชาพระพุทธเจ้า”

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

หลักในการบูชาหรือถวาย :

……………………………..

กล่าวโดยทั่วไป ของที่ใช้บูชาหรือถวายพระ หรือมอบให้ใครก็ตาม มี 2 ประเภท คือ –

1 ของกิน

2 ของใช้  (คือของอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของกิน)

ของกิน บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือผู้ที่สามารถกินของนั้นได้จริงๆ เท่านั้น (กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับคติเซ่นไหว้บรรพบุรุษ)

ของใช้ บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้

หลักในการใช้คำพูด (โดยเฉพาะในภาษาบาลี) :

……………………………………………………..

1 ถ้าใช้คำว่า “บูชา” รูปประโยคจะต้องเป็นดังตัวอย่างนี้ –

อิมินา  สกฺกาเรน   พุทฺธํ  ปูเชมิ.

ข้าพเจ้าขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้า ด้วยเครื่องสักการะนี้

= ขอบูชา ซึ่ง (ผู้รับ) ด้วย (ของกิน/ของใช้)

2 ถ้าใช้คำว่า “ถวาย” รูปประโยคจะต้องเป็นดังตัวอย่างนี้ –

อิมานิ  ภตฺตานิ  ภิกฺขุสงฺฆสฺส  โอโณชยาม.

ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย ซึ่งภัตตาหาร แก่พระภิกษุสงฆ์

= ขอถวาย ซึ่ง (ของกิน/ของใช้) แก่ (ผู้รับ)

เฉพาะการบูชาข้าวพระ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยของกิน หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า เป็นการถวายของกินแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งขัดกับหลักที่ว่า “ของกิน บูชาหรือถวายผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น”

พูดว่า “ขอบูชา ซึ่งพระพุทธเจ้า ด้วยของกิน” ก็ขัด

พูดว่า “ขอถวาย ซึ่งของกิน แก่พระพุทธเจ้า” ก็ขัด

ดังนั้น ในคำบูชาข้าวพระ ผู้รู้ท่านจึงเลี่ยงไปพูดว่า –

อิมํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ

= ขอบูชา ซึ่งของกิน แก่พระพุทธเจ้า

คือพูดว่า “บูชาข้าวพระ” = “บูชาซึ่งข้าวแก่พระ” เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเป้าหมายแห่งการบูชาเท่านั้น ผู้บูชาไม่ได้มีเจตนาจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยอาหารนั้นจริงๆ อาหารจึงอยู่ในฐานะเป็นเครื่องบูชา

ไม่ใช่ “ถวายข้าวพระ” = “ถวายซึ่งข้าวแก่พระ” เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมารับข้าวที่เราถวายไม่ได้

กล่าวอีกนัยหนึ่ง “บูชา” แม้ไม่มีผู้มารับของที่บูชานั้น ก็สำเร็จเป็นการบูชา

แต่ “ถวาย” ต้องมีผู้มารับของที่ถวายนั้น ถ้าไม่มีผู้มารับ ก็ไม่สำเร็จเป็นการถวาย คงสำเร็จเป็นการบูชาเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: แม้ว่าสิ่งที่ทำตามๆ กันมาจะปลอดพิษ

: แต่ถ้าทำตามกันไปผิดๆ ก็อาจจะไม่ปลอดภัย

#บาลีวันละคำ (2,000)

3-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย