บาลีวันละคำ

ดาวดึงส์ [2] (บาลีวันละคำ 3,509)

ดาวดึงส์ [2]

สวรรค์ชั้นที่สอง

อ่านว่า ดาว-วะ-ดึง

ดาวดึงส์” บาลีเป็น “ตาวตึส” อ่านว่า ตา-วะ-ติง-สะ รากศัพท์มาจาก เตตฺตึส + (อะ) ปัจจัย, แปลง เต-(ตฺตึส) เป็น ตาว และลบ ตฺ หลัง เต– (เตตฺตึส > ตาวตฺตึส > ตาวตึส)

อธิบายแทรก :

เตตฺตึส” อ่านว่า เตด-ติง-สะ เป็นศัพท์จำพวก “สังขยา” คือคำนับจำนวน ประกอบขึ้นจาก ติ (จำนวนสาม) + ตึส (จำนวนสามสิบ), แผลง อิ ที่ ติ เป็น เอ (ติ > เต), ซ้อน ตฺ ระหว่าง เต กับ ตึส (เต + ตฺ + ตึส)

: ติ > เต + ตฺ + ตึส = เตตฺตึส แปลว่า “สามสิบสาม” (33) 

: เตตฺตึส + = เตตฺตึส > ตาวตฺตึส > ตาวตึส แปลตามศัพท์ว่า “ภพเป็นที่เกิดของคนสามสิบสามคน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตาวตึส” ว่า the realm of the Thirty-three (อาณาจักรแห่งดาวดึงส์)

แปล “ตาวตึสเทวโลก” ว่า the god-world of the 33 (เทวโลกชั้นดาวดึงส์)

และแปล “ตาวตึสภวน” ว่า the realm of the 33 gods (ภพแห่งเทวดาทั้ง 33)

อธิบายขยายความ :

ตาวตึส” ในภาษาไทยใช้เป็น “ดาวดึงส์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

ดาวดึงส์ : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี มีพระอินทร์เป็นผู้ครอง. (ป. ตาวตึส; ส. ตฺรยสฺตฺรึศตฺ).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ – 

ดาวดึงส์ : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีพระอินทร์เป็นใหญ่ในชั้นนี้. (ป. ตาวตึส; ส. ตฺรยสฺตฺรึศตฺ). (ดู ฉกามาพจร ประกอบ).”

โปรดสังเกตและเปรียบเทียบคำนิยามของพจนานุกรมฯ ทั้ง 2 ฉบับ แล้วศึกษาวิธีคิดของคณะกรรมการผู้จัดทำ

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 มีคำขยาย “สวรรค์ ๖ ชั้น” ว่า “ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี” 

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 ตัดคำขยายนี้ออก 

คณะกรรมการคิดอย่างไรจึงตัดออก?

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ใช้คำว่า “มีพระอินทร์เป็นผู้ครอง

พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 แก้เป็น “มีพระอินทร์เป็นใหญ่ในชั้นนี้

คณะกรรมการคิดอย่างไร?

คำว่า “ดาวดึงส์” เรียกอิงคำสันสกฤตเป็น “ไตรตรึงษ์” (ไตฺร-ตฺรึง) ได้อีกชื่อหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ไตรตรึงษ์ : (คำโบราณ) (คำนาม) ดาวดึงส์, ตรัยตรึงศ์, ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีพระอินทร์เป็นใหญ่ในชั้นนี้. (ส. ตฺรยสฺตฺรึศตฺ ว่า สามสิบสาม; ป. ตาวตึส ว่า สามสิบสาม).”

คำว่า “ไตรตรึงษ์” สะกดเป็น “ตรัยตรึงศ์” ได้อีกแบบหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ตรัยตรึงศ์ : (คำนาม) ดาวดึงส์, ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีพระอินทร์เป็นใหญ่ในชั้นนี้. (ส. ตฺรยสฺตฺรึศตฺ; ป. เตตฺตึส ว่า สามสิบสาม).”

ไตร” กับ “ตรัย” ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยยึดหลักว่า –

อยู่ต้นคำ ใช้ “ไตร-” เช่น “ไตรรัตน์” ไม่ใช่ “ตรัยรัตน์”

อยู่ท้ายคำ ใช้ “-ตรัย” เช่น “รัตนตรัย” ไม่ใช่ “รัตนไตร”

แต่ “ตรัยตรึงศ์” คงต้องเพิ่มหลักขึ้นมาอีก คือ บางคำอยู่ต้นคำก็ใช้ “ตรัย” ได้

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ดาวดึงส์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ดาวดึงส์ : สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีจอมเทพผู้ปกครองชื่อท้าวสักกะ ซึ่งโดยทั่วไปเรียกกันว่าพระอินทร์, อรรถกถาอธิบายความหมายของ “ดาวดึงส์” ว่า คือ “แดนที่คน ๓๓ คนผู้ทำบุญร่วมกันได้อุบัติ” (จำนวน ๓๓ บาลีว่า เตตฺตึส, เขียนตามรูปสันสกฤต เป็น ตรัยตรึงศ์ หรือเพี้ยนเป็น ไตรตรึงษ์ ซึ่งในภาษาไทยก็ใช้เป็นคำเรียกดาวดึงส์นี้ด้วย) ดังมีตำนานว่า ครั้งหนึ่ง ที่อจลคาม ในมคธรัฐ มีนักทำบุญบำเพ็ญประโยชน์คณะหนึ่งจำนวน ๓๓ คน นำโดยมฆมาณพ ได้ร่วมกันทำบุญต่างๆ เช่น ทำถนน สร้างสะพาน ขุดบ่อน้ำ ปลูกสวนป่า สร้างศาลาที่พักคนเดินทาง ให้แก่ชุมชน และทำทาน ชวนชาวบ้านตั้งอยู่ในศีล และทำความดีทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่ง ตัวมฆมาณพเองยังรักษาข้อปฏิบัติพิเศษที่เรียกว่า วัตรบท ๗ อีกด้วย ครั้นตายไป ทั้ง ๓๓ คน ก็ได้เกิดในสวรรค์ที่เรียกชื่อว่าดาวดึงส์นี้ โดยมฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะ คือพระอินทร์ ดังที่พระอินทร์นั้นมีพระนามหนึ่งว่า “มฆวา” (ในภาษาไทยเขียน มฆวัน มัฆวา หรือมัฆวาน).

…………………………………………..

ดูเพิ่มเติมที่ “วัตตบท” บาลีวันละคำ (2,321)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/1953277594765968

…………………………………………..

ดูก่อนภราดา!

: สวรรค์ชั้นดาวดึงส์มีจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด

: แต่หลักธรรมที่ท่านรับรองว่าปฏิบัติแล้วได้เป็นพระอินทร์นั้นมีจริง

ลองปฏิบัติดู แล้วจะรู้คำตอบได้เอง

#บาลีวันละคำ (3,509)

20-1-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *